สวัสดีปีใหม่ 2565 ชาว Linee ค่ะ เริ่มปีใหม่มาได้หลายวันแล้ว มีความตั้งใจจะทำอะไรใหม่ ๆ เพื่อให้ชีวิตใหม่ในปีนี้ดีขึ้นกันบ้างหรือยังคะ ถ้ายังสองจิตสองใจหรือไม่แน่ใจ ลองปรับพฤติกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีขึ้นกันไหมคะ อะไรควรทำ อะไรควรเลี่ยง เรามีเคล็ดลับดี ๆ มาแนะนำกันค่ะ
DO
-
ให้ความสำคัญกับ “3 เช้า”
ตื่นเช้า ทำให้มีเวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น เช่น ทำให้มีเวลามากขึ้นในการดูแลตัวเองก่อนไปทำงานโดยไม่รีบลุกลน มีเวลาบริหารร่างกาย 10 – 15 นาที หลังตื่นนอนเพื่อความสดชื่น และสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้น และช่วยให้สมองสดชื่น ร่างกายมีสมดุล อีกด้วย
มื้อเช้า ด้วยกิจวัตรประจำวันคนยุคใหม่ ทำให้การกินอาหารมื้อเช้าเป็นเรื่องยาก และขาดคุณภาพ เพราะเวลาและการเดินทางไปทำงานเป็นตัวบีบบังคับให้ต้องเร่งรีบไปซะทุกอย่าง แต่ถ้าเราลองพยามใส่ใจกับอาหารมื้อเช้ามากขึ้น จะช่วยให้ร่างกายมีพลังงานที่พร้อมสำหรับทำกิจกรรมทั้งวัน ระบบเผาผลาญมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ
แดดเช้า การรับแสงแดดยามเช้าในช่วงก่อน 9 โมงเช้าเพียงวันละ 10 – 15 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วันส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกาย เพราะช่วยให้เราได้รับวิตามินอี ส่งผลดีต่อกระดูกและฟัน รวมทั้งเป็นเวลาที่ไม่มีรังสีอุลตราไวโอเลตในปริมาณที่ทำให้เสี่ยงต่อโรงมะเร็งผิวหนังด้วย
-
ตั้งนาฬิกาชีวิต
ร่างกายคนเรามีสิ่งที่เรียกว่า นาฬิกาชีวภาพ (Biological Clock) หรือ นาฬิกาชีวิต (Body Clock) มันคือวงจรการทำงานของร่างกายตั้งแต่การตื่น การกิน การนอน การออกกำลังกาย ที่ช่วยควบคุมดูแลระบบต่าง ๆ เช่น ระบบภูมิคุ้มกัน การผลิตฮอร์โมน ระบบเผาผลาญของร่างกาย การทำงานของสมอง ฯลฯ ถ้าตั้งนาฬิกาชีวิตดี ย่อมมีประโยชน์ต่อร่างกาย และจิตใจ ฉะนั้นเราควรตั้งนาฬิกาชีวิตตัวเองให้ดี ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และแบ่งเวลาออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว
-
ช่างเลือก แต่ไม่เรื่องมาก
การเป็นคนง่าย ๆ ไม่เรื่องมากอาจทำให้ชีวิตมีเครียดน้อยลง แต่เกี่ยวกับอาหารการกิน เราควร ช่างเลือก เพื่อสุขภาพ รู้จักเลือกรับประทานอาหารดีมีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ โดยไม่จำเป็นต้องเรื่องมากรับประทานแต่อาหารราคาแพง หรือของหายากที่แปะป้ายว่าเพื่อสุขภาพ เพราะความจริงแล้วอาหารที่ดีต่อสุขภาพมีอยู่รอบตัวเรา ขอเพียงรู้จักเลือกสักนิด เน้นให้ถูกสุขอนามัยสักหน่อย ก็ช่วยให้สุขภาพร่างกาย สุขภาพช่องปากแข็งแรงขึ้นแน่นอน
-
รักตัวเอง
รักตัวเองในที่นี้คือ การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้สุขภาพร่างกายตัวเองทรุด และทำให้จิตใจเกิดภาวะตึงเครียด ดังนี้
4.1 ชอบของหวานได้ แต่อย่าติดหวาน เพราะแม้การรับประทานของหวานจะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน ทำให้มีความสุข ลดความเครียดได้ แต่ถ้ามากเกินไปนอกจากส่งผลเสียทำให้น้ำหนักขึ้น กระดูกและฟันไม่แข็งแรง ฟันผุและเหงือกอักเสบได้ง่าย เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ความดัน หัวใจ และอีกสารพัดโรค
4.2 ลดการดื่ม ชา กาแฟ เพราะแม้ว่าคาเฟอีนในปริมาณพอเหมาะจะส่งผลดีต่อร่างกาย กระตุ้นสมอง แต่ถ้ามากเกินไป จะทำให้เกิดปัญหาเรื่องการนอน ระบบไหลเวียนโลหิตกับระบบทางเดินอาหารได้รับผลกระทบจากสารอะดรีนาลีน และความเป็นกรดที่เกิดจากคาเฟอีน มีปัญหาฟันเหลือง ฟันผุ และคราบหินปูน รวมถึงทำให้หัวใจเต้นแรงผิดปกติ หรือร่างกายเกิดภาวะเป็นพิษเฉียบพลันได้
4.3 ออกกำลังกายให้เป็น ปัจจุบันทางเลือกในการออกกำลังกายมีมากขึ้น มีเป็นคลิปแนะนำการออกกำลังกายทางสื่อต่าง ๆ มากมาย แบบที่ใช้อุปกรณ์ใกล้ตัว และไม่เปลืองเวลามาก ก็สามารถออกกำลังกายได้โดยไม่จำเป็นต้องไปฟิตเนส หรือใช้เครื่องออกกำลังกายราคาแพง ขอเพียงรู้จักหาข้อมูล ออกกำลังกายให้เป็น ให้เหมาะกับร่างกายตัวเอง วันละนิดวันละหน่อย โดยไม่กดดันตัวเอง ก็เพิ่มความแข็งแรงให้ร่างกายได้แล้ว
4.4 ทางสายกลาง การดูแลตัวเองควรเป็นเรื่องที่ไม่ตึงเกินไปหรือหย่อนเกินไป เพราะการดูแลตัวเองโดยเข้มงวดเกินไปจนเกิดความเครียดและกระทบต่อการใช้ชีวิต แต่ขณะเดียวกันการรักตัวเองไม่ได้หมายถึงการตามใจตัวเองเกินไป เช่น การตามใจปาก ผัดวันประกันพรุ่งในการออกกำลังกาย คิดนะนอนเมื่อไหร่ ตื่นเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้นโดยไม่ใส่ใจสุขภาพ แบบนี้เรียกว่าทำร้ายตัวเองมากกว่าค่ะ
4.5 กอดตัวเองให้เป็น กอดตัวเองให้เป็นคือ การรู้จัดดูใจความรู้สึกตัวเอง ปลอบโยนตัวเองยามเมื่อมีความทุกข์ และความเครียด รู้จักให้กำลังใจตัวเองยามท้อแท้ หรือมีมีปัญหา มีสติในการใช้ชีวิต ระลึกไว้เสมอว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ไม่มีใครรักและให้กำลังใจตัวเราเองได้ดีที่สุดเท่าตัวเราแล้วล่ะ
-
รู้จักใช้โซเชียล แต่อย่าติดโซเชียล
เป็นไปได้ยากที่เราจะใช้ชีวิตโดยปราศจาก โซเชียลเน็ตเวิร์ค (Social Network) ในโลกที่กำลังก้าวสู่ยุค เมตาเวิร์ส (Metaverse) หรือ โลกเสมือนจริง แต่ถ้ารักตัวเองจริง ควรเริ่มมีสติในการใช้โซเชียล เพราะโลกโซเชียลคือคลังข้อมูลขนาดใหญ่ที่อยู่ในมือเรา แต่ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยเฟกนิวส์ ทำให้เกิดพฤติกรรมติดโซเชียล ประสิทธิภาพการเรียน การทำงานลดลง เสี่ยงต่อภาวะอารมณ์แปรปรวน และโรคซึมเศร้าได้ง่าย ซึ่งวิธีที่ดีสำหรับชาวโซเชียล
ควรทำ โซเชียลดีท็อกซ์ (Social Detox) เพื่อช่วยบำบัดพฤติกรรมเสพติดโซเชียลมากเกินไป โดยวิธีทำโซเชียลดีท็อกซ์มีหลายวิธีให้ลองทำ เช่น
- ลดการแจ้งเตือนจากแอปพลิเคชั่นโซเชียลต่าง ๆ
- พยายามหากิจกรรมอย่างอื่นทำแล้ววางโทรศัพท์ไว้ให้ห่างตัว ห่างสายตา
- กำหนดเวลาเล่นโซเชียลของตัวเอง และทำอย่างมีวินัย เช่น เล่นได้ครั้งละไม่เกินครึ่งชั่วโมง และใน 1 วันควรเล่นได้กี่ครั้ง เพื่อลดความถี่และเวลาในการใช้งานโซเชียลแพลตฟอร์มต่าง ๆ
- หยุดเล่นโทรศัพท์ก่อนนอนครึ่งชั่วโมง – 1 ชั่วโมง เพื่อให้สมองและร่างกายผ่อนคลาย ส่งผลดีทำให้การนอนมีคุณภาพมากขึ้นด้วย
- ตั้งกฎงดเล่นโซเชียลฯ สัปดาห์ละ 1 วัน หันมาให้เวลาดูตัวเอง และทำกิจกรรมต่าง ๆ กับเพื่อนฝูง และคนในครอบครัว
DON’T
-
นอนดึก ตื่นสาย
ไม่ว่ายุคไหน สมัยไหน การแพทย์แบบใดก็มีผลวิจัยไม่ต่างกันว่า การนอนดีก ตื่นสาย คือพฤติกรรมทำลายสุขภาพอย่างแท้จริง มีผลเสียทำให้เสี่ยงต่อโรคร้ายมากมาย เช่น ปวดหัว ไมเกรน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคอัลไซเมอร์ ฯลฯ ฉะนั้นเลี่ยงได้ควรเลี่ยง อย่าทำ!
-
ท้าทายแสงแดด
นอกจากแดดก่อนเวลา 9 โมงเช้า การออกไปท้าทายแดดในเวลาอื่นล้วนส่งผลเสียต่อร่างกาย ทำให้เกิดฝ้า กระ และริ้วรอย ผิวลอกไหม้ เสี่ยงต่ออาการฮีทสโตรก มะเร็งผิวหนัง และดวงตาเป็นต้อลม แม้ว่าการทาครีมกันแดดที่มี SPF สูง ๆ จะช่วยลดผลเสียจากแสงแดดร้อนแรงได้ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด รวมทั้งครีมกันแดดส่วนใหญ่ยังเป็นสารเคมีที่ทำให้ผิวหนังและร่างกายเกิดการระคายเคืองได้อีกด้วย
-
ไม่ป่วยไม่ไปหาหมอ
ใครที่เป็นโรคกลัวหมอ ไม่ป่วยหนักไม่อยากเจอหน้าหมอ ขอให้คิดใหม่ การไปหาหมอก่อนป่วย เช่น การไปตรวจร่างกายประจำปี ฉีดวัคซีน พบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก ขูดหินปูน ฯลฯ เป็นเรื่องจำเป็นต่อการป้องกันอาการป่วยและดูแลสุขภาพในระยะยาว ซึ่งถ้าดูแลสุขภาพดี ไปหาหมอเพื่อตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจะช่วยความเสี่ยงที่ทำให้ป่วยจนต้องไปหาหมอบ่อย ๆ ในอนาคตได้ยังไงล่ะ
-
กินยาเหมือนกินขนม
เมื่อมีอาการป่วย หลายคนเลือกจะซื้อยากินเอง โดยไม่ไปหาหมอหรือแม้แต่ปรึกษาเภสัชกร ซึ่งอาจส่งผลต่อร่างกายอย่างคาดไม่ถึง เพราะยาที่กินอาจมีสเตียรอยด์ มีตัวยาซ้ำซ้อน ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นยาปฏิชีวนะ ถ้าได้ปริมาณยาน้อยเกินไป อาจเกิดการดื้อยาอีกด้วย หรือแม้กระทั่งกรณีที่ไปหาหมอแล้วรับยามา ก็ไม่ควรหยุดยาเอง สับเปลี่ยนยา หรือกินยาเกินหมอสั่ง เพราะยาไม่ใช่ขนม ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการกินยา
-
หลงลืมดูแลฟัน
นอกจากการดูแลสุขภาพร่างกายทั่วไปแล้ว สิ่งที่คนมักทำได้ไม่สม่ำเสมอคือ การดูแลสุขภาพปากและฟัน หรือดูแลแบบไม่จริงจัง เช่น การแปรงฟันที่ถูกต้องควรใช้เวลา 2 – 3 นาที ให้ทั่วปาก แต่ในความเป็นจริงเรามักรีบแปรงให้เสร็จ ๆ หรือบางทีก็ลืมแปรงฟัน โดยเฉพาะการแปรงฟันก่อนนอนเป็นต้น ถ้าคุณอยากเปลี่ยนตัวเองให้มีสุขภาพช่องปากแข็งแรง ห่างไกลฟันเหลือง ลดความเสี่ยงฟันผุ และโรคเหงือก ควรมีวินัยในการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างจริงจัง เพื่อเราจะได้มีฟันขาวแข็งแรงเอาไว้เคี้ยวของอร่อย ๆ กันได้นาน ๆ
อ่านเคล็ดลับที่แนะนำกันไป ไม่ว่าจะเรื่อง “Do” สิ่งที่ควรทำ และ “ Don’t” สิ่งที่ควรเลี่ยง แม้ทำไม่ได้หมด แต่ลองเลือกมาลองทำสักครึ่งหนึ่ง รับรองว่า ชีวิตที่ดีขึ้นอยู่ไม่ไกลแน่นอนค่ะ