Check List  เตรียมตัวตรวจสุขภาพอย่างไรให้ผ่านด่านฉลุย

Check List เตรียมตัวตรวจสุขภาพอย่างไรให้ผ่านด่านฉลุย

 

             

          การใช้รถจำเป็นต้องมีการตรวจสภาพรถประจำปี เพื่อให้รู้ว่าเครื่องยนต์ส่วนไหนต้องซ่อมแซมปรับปรุง จะได้แก้ไขให้ตรงจุด  เพื่อยืดอายุการใช้งานของรถ  ร่างกายคนเราก็เช่นกัน จำเป็นต้องมี  การตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อให้ทราบถึงสุขภาพที่แท้จริง  ว่ามีอวัยวะส่วนใดในร่างกายอ่อนแอ  เสี่ยงต่อการเกิดโรคร้าย  จำเป็นต้องบำรุงดูแลให้กลับมาแข็งแรง  เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตแบบปลอดโรคไปอีกนาน ๆ  

          ซึ่งแน่นอนว่า ใคร ๆ ก็อยากตรวจสุขภาพแล้วได้รับการการันตีจากคุณหมอ  ว่าสุขภาพยังแข็งแรงฟิตเปรี๊ยะ  พร้อมสำหรับการใช้ชีวิตให้เต็มที่  ฉะนั้นเพื่อผ่านด่านตรวจสุขภาพแบบแฮปปี้  เรามาลอง Check List  ถึงสิ่งที่ต้องเตรียมตัวเพื่อฝ่าด่านการสุขภาพไปกับ Linee กันเถอะค่ะ

 

 

 

การตรวจสุขภาพเบื้องต้น  ควรตรวจอะไรบ้าง 

  1. การตรวจเบื้องต้นจะเริ่มด้วยการวัดความดันโลหิต ตรวจดัชนีมวลกาย  วัดระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวาน  และ วัดระดับไขมันในเลือด  เช็คระดับคอเลสเตอรอลกับไตรกลีเซอไรด์  เพื่อดูความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง

 

 

  1. ตรวจปัสสาวะ เพื่อประเมินความเสี่ยงโรคทางเดินปัสสาวะเบื้องต้น โรคเบาหวาน  ฯลฯ

 

 

 

  1. ตรวจอุจจาระ เพื่อประเมินความเสี่ยงโรคระบบทางเดินอาหารเบื้องต้น ทั้งในกระเพาะ ลำไส้ ฯลฯ

 

 

  1. เอกซเรย์ปอด เพื่อประเมินการทำงานของปอด และความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเกี่ยวกับปอด

 

 

  1. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ดูการทำงานของหัวใจว่าเสี่ยงต่อโรคที่เกี่ยวกับหัวใจหรือไม่  

 

 

  1. ตรวจวัดสายตา วัดระดับการมองเห็น ความดันตา  และความเสี่ยงต่อภาวะต้อหิน

 

 

  1. อัลตราซาวนด์ช่องท้อง เป็นการตรวจอวัยวะในช่องท้อง  เช่น  ม้าม ลำไส้ รวมถึงมดลูกกับรังไข่ของผู้หญิง และต่อมลูกหมากในผู้ชาย  

 

 

  1. ตรวจเลือดเป็นขั้นตอนที่ละเอียดสุด เพราะสามารถดูระบบการทำงานของอวัยวะภายใน เช่น ตับ ไต ต่อมไทรอยด์  คัดกรองไวรัสตับอักเสบ และดูความผิดปกติของส่วนประกอบเม็ดเลือดเพื่อประเมินความเสี่ยงในการเป็นโรคโลหิตจาง  มะเร็งเม็ดเลือด 

 

 

  1. ผู้ชายวัยทำงานขึ้นไปควรตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก ขณะที่ผู้หญิงควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก

 

 

ตรวจสุขภาพช่องปาก

          สุขภาพช่องปากก็ไม่ต่างจากสุขภาพร่างกายทั่วไปที่ควรตรวจสม่ำเสมอ  เพื่อที่ว่าหากพบความผิดปกติจะได้ดูแล รักษา แต่เนิ่น ๆ หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่ค่อยสนใจตรวจดู  กว่าจะพบปัญหา อาจต้องเสียเวลา เสียค่ารักษามหาศาล  แถมยังรักษายาก  หรืออาจรักษาไม่ได้จนเกิดการสูญเสีย  เช่น ฟันผุจนเกินรักษาต้องถอนฟัน  เหงือกอักเสบมากจนติดเชื้อทะลุไปถึงรากฟัน เป็นต้น 

          บางกรณีทันตแพทย์อาจให้มีการเอ็กซเรย์ฟันด้านใน  หรือฟันด้านที่ชิดติดกันเพิ่มเพื่อดูว่า ฟันผุหรือไม่  ถ้าเคยอุดฟัน  วัสดุอุดฟันยังแข็งแรงหรือเปล่า  กรณีคนที่เคยรักษารากฟัน ควรแจ้งทันตแพทย์  เพราะอาจต้องเอ็กซเรย์เพิ่มเพื่อคัดกรองโรคทางช่องปาก และเป็นการป้องกันโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเกิดตามมาได้

          การตรวจสุขภาพช่องปากควรตรวจ ปีละ 1 ปี ครั้ง แล้วแต่พื้นฐานสุขภาพฟันของแต่ละ  โดยทันตแพทย์จะตรวจสุขภาพช่องปากโดยรวมว่า  มีฟันผุ ฟันเหลือง  คราบหินปูน  ฯลฯ  หรือไม่  ถ้ามีคราบหินปูนทันตแพทย์จะทำการขูดให้เพื่อไม่ให้สะสมจนทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องภายหลังได้  และอาจมีการเคลือบฟัน  เคลือบฟลูออไรด์ ให้ด้วย

 

             

 

Check List เตรียมตัวอย่างไร ก่อนถึงวันตรวจสุขภาพ 

  1. ควรนัดตรวจสุขภาพช่วงเช้า เพราะถ้าตรวจตรวจช่วงบ่ายจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลียจากการงดน้ำ และอาหารนานเกินไป

 

 

  1. ช่วงก่อนตรวจร่างกายควรพักผ่อนให้เพียงพอ 6 - 8 ชั่วโมง ถ้านอนน้อยจะส่งผลต่อความดันโลหิต และการเต้นของหัวใจ

 

 

 

  1. สวมเสื้อผ้าที่หลวมและสะดวกต่อการตรวจร่างกาย เช่น เสื้อแขนสั้นหรือพับแขนเสื้อได้ เพราะต้องเจาะเลือด  ใส่เสื้อกระดุมหน้าเพื่อจะได้ถอดสะดวกเมื่อต้องเอ็กซเรย์ปอด   งดใส่เครื่องประดับโลหะ  เพื่อไม่ให้รบกวนการทำงานของเครื่องมือแพทย์

 

 

 

  1. เมื่อแพทย์ซักประวัติ ควรบอกข้อมูลตามจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคประจำตัว  อาการผิดปกติต่าง ๆ หรือประวัติการรักษาสำคัญ ๆ   เพื่อที่แพทย์จะได้วินิจฉัยได้ถูกต้อง  ถ้ามีเอกสารควรเตรียมไปด้วย

 

 

 

  1. สตรีตั้งครรภ์ หรือมีความเป็นไปได้ที่จะตั้งครรภ์ต้องแจ้งแพทย์ เพราะบางขั้นตอนการตรวจอาจกระทบกับทารกในครรภ์ได้ และไม่ควรตรวจร่างกายระหว่างมีประจำเดือน  เพราะเลือดประจำเดือนอาจปะปนกับปัสสาวะ ทำให้ผลการตรวจคลาดเคลื่อนได้   

 

 

 

  1. ก่อนตรวจเลือดต้องงดน้ำ งดอาหาร  8 – 10 ชั่วโมง  ซึ่งก่อนงดน้ำ งดอาหาร ควรงดอาหารไขมันสูง  เพราะอาจส่งผลต่อการตรวจได้ 

 

 

  1. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 – 48 ชั่วโมงก่อนวันนัดตรวจสุขภาพ เพราะแอลกอฮอลล์มีผลต่อการตรวจ

 

 

  1. ผู้ที่มีโรคประจำตัว ต้องรับประทานยาเป็นประจำ สามารถทานยาก่อนตรวจได้ แต่ต้องแจ้งแพทย์ก่อนรับการตรวจ และควรนำยาที่รับประทานประจำติดไปด้วย 

 

 

  1. ในการเก็บปัสสาวะเพื่อตรวจสุขภาพ ควรปัสสาวะทิ้งไปช่วงนึงก่อน ค่อยเก็บปัสสาวะช่วงกลาง ๆ ในปริมาณที่เจ้าหน้าที่ระบุ

 

 

 

ดูแลสุขภาพอย่างไร  ไม่ต้องห่วงเรื่องตรวจสุขภาพทุกปี 

  1. เริ่มคิดก่อนกิน

          อาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการดูแลสุขภาพ  ต้องเลือกอาหารมีประโยชน์   กินให้ครบ 5 หมู่  ไม่กินมากหรือน้อยเกินไป  อาหารหนึ่งมื้อควรเป็นผัก 50% เนื้อสัตว์ 25% คาร์โบไฮเดตหรือข้าว 25%  แต่ใช่ว่าจะไม่สามารถกินของโปรด เช่น  ขนมนมเนย ชา กาแฟ น้ำอัดลม  ที่ช่วยบำรุงอารมณ์เลย  คุณยังสามารถเติมเต็มเมนูโปรดได้ ตราบเท่าที่คุณยังกินอาหารดีมีประโยชน์เป็นหลัก โดยมีเมนูยาใจเป็นส่วนเสริมที่ไม่มากเกินไป

 

 

  1. ออกกำลังกายวันละนิด แต่สม่ำเสมอ

          การออกกำลังกายเป็นอีกปัจจัยในการสร้างความแข็งแรงให้ร่างกาย  ซึ่งการออกกำลังกายที่ดีไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายหนัก   แต่เน้นความสม่ำเสมอ  เราสามารถเลือกออกกำลังกายให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ตัวเองได้  เช่น โยคะ วิ่งลู่ แอโรบิก ฯลฯ  เลือกการออกกำลังกายที่ชอบ  แล้วทำเป็นประจำวันละ 15 - 30 นาที  อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน  ก็จะทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น

 

 

  1. ดื่มน้ำให้พอดีต่อร่างกาย

          การดื่มน้ำให้พอเพียงเป็นเรื่องสำคัญ  ถ้าดื่มน้ำน้อยไปจะทำให้ระบบไหลเวียนโลหิต  ระบบขับถ่ายมีปัญหา เป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ แต่ถ้าดื่มน้ำมากเกินไป  ไตจะทำงานหนัก อาจทำให้เกิดอาการ เมาน้ำ ( Hyponatremia ) ที่ทำให้เซลล์ในร่างกายมีภาวะคล้ายน้ำท่วม  ทำให้ชัก และระบบร่างกายล่มได้  ดังนั้นการดื่มให้ให้พอดีกับร่างกายแต่ละคนต่อวันจึงต้องคำนวณให้เหมาะสมดังนี้

 

น้ำหนัก (ก.ก.) ÷ 2 x 2.2 x 30 = ปริมาณน้ำ( มิลลิลิตร)   

 

          ควรดื่มน้ำหลังตื่นนอน 1 แก้ว  ก่อนมื้ออาหาร 1 ชั่วโมง 1 แก้ว และก่อนนอน 1 แก้ว โดยระหว่างวันก็จิบน้ำเรื่อย ๆ เพื่อให้มีน้ำหล่อเลี้ยงร่างกายสม่ำเสมอ และน้ำเปล่าอุณหภูมิปกติถือเป็นน้ำที่ดีที่สุดต่อร่างกาย

 

  1. นอนให้ดี มีคุณภาพ

          การนอนวันละ 6 - 8 ชั่วโมง ถือว่าพอดี และเวลานอนที่ดีที่สุดคือ 22.00-02.00 น. เพราะเป็นช่วงที่มีการหลั่งของ โกรทฮอร์โมน  (Growth Hormone: GH)   ถ้าได้หลับลึกในช่วงเวลานี้ อย่างน้อย 1 ชั่วโมง  แม้จะนอนไม่ได้ตามเกณฑ์ก็ทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าได้  ขณะเดียวกันแม้จะนอนมาก แต่นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ  หลับไม่ลึก  ก็ทำให้การนอนไม่มีคุณภาพ  ดังนั้นถ้าอยากให้การนอนดี  เรามีเคล็ดลับมาแนะนำ ดังนี้

 

 

  • พยายามนอนเวลาเดิมทุกวันเพื่อให้ร่างกายรู้เวลานอน ในสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ  ไม่มีแสงรบกวน  
  • 1 ชั่วโมงก่อนนอน ไม่ควรรับประทานอาหาร ออกกำลังกาย หรือดื่มชา กาแฟ เพราะจะทำให้ร่างกายตื่นตัว   
  • อย่านอนกลางวันเกิน ½ - 1 ชั่วโมง  เพราะจะทำให้กลางคืนหลับยาก 
  • งดทำกิจกรรมที่ตื่นเต้น หรือเคร่งเครียดก่อนนอน เช่น เล่นเกม ดูหนังแอคชั่น อ่านหนังสือสยองขวัญ หรือคิดเรื่องเครียด  เพราะส่งผลเสียต่อการนอน 
  • หยุดเล่นมือถือก่อนนอน 30 นาที เพราะแสงสีฟ้าจากหน้าจอมือถือทำให้คลื่นสมองไม่ผ่อนคลาย  นอนหลับไม่ลึกอย่างที่ควรจะเป็น

 

  1. ฝึกหายใจให้ถูกต้อง

            การหายใจเร็วและสั้น มักเกิดในคนที่อยู่ในภาวะตึงเครียด  ซึ่งเป็นการหายใจที่ผิด ส่งผลเสียต่อร่างกาย  ทำให้ในร่างกายมีพิษเนื่องจากมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมาก  ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องฝีกหายใจให้ถูกต้อง  เพื่อให้ร่างกายขับสารพิษ หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ดังนี้

 

 

          นั่งหรือนอนอย่างผ่อนคลาย  ในพื้นที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก  แล้วค่อย ๆ หายใจเข้าจนรู้สึกทรวงอกขยายเต็มที่จนท้องพอง  กลั้นหายใจ 2 - 3 วินาที ก่อนหายใจออกผ่านริมฝีปากช้า ๆ ให้รู้สึกว่าปอดและท้องแฟบลง  ทำอย่างน้อยวันละ 5 ครั้ง การหายใจจะค่อย ๆ ดีขึ้น

 

          ถ้าหมั่นดูแลสุขภาพวันละเล็กละน้อยอย่างสม่ำเสมอ  ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสุขภาพประจำปี  หรือตรวจสุขภาพช่องปาก ปีไหน ๆ คุณก็ผ่านด่าน ขึ้นชื่อว่าเป็นคนสุขภาพดีทุกปีไปเรื่อย  แน่นอน

 

Back to blog