ยาสีฟัน (toothpaste)
ถือเป็นของใช้ประจำบ้านที่ขาดไม่ได้ เป็นปราการด่านแรกของการดูแลสุขภาพในช่องปาก ปัจจุบันที่มีผลิตภัณฑ์หลายสูตร หลากรูปแบบเพื่อตอบสนองการแก้ปัญหาสุขอนามัยในช่องปากได้มากขึ้น ฉะนั้นการเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งโดยทั่วไปเนื้อจะมี 3 แบบคือ
1.ยาสีฟันแบบผง จะมีลักษณะเป็นผง เนื้อค่อนข้างหยาบ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะผงหยาบจะช่วยขจัดคราบจุลินทรีย์ที่ฟันได้ดีกว่าผงละเอียด แต่ถ้าใช้ติดต่อกันนานอาจส่งผลให้ผิวเคลือบฟันสึกจนเสียวฟันได้
2.ยาสีฟันแบบเจล เป็นเจลเนื้อละเอียด ใช้ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะทำให้ผิวเคลือบฟันสึกกร่อน ส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์เฉพาะสำหรับผู้มีอาการเสียวฟัน
3.ยาสีฟันแบบครีม จะมีเนื้อครีมนุ่ม ละเอียด ไม่ทำให้ผิวเคลือบฟันสึกกร่อนง่าย ถือเป็นผลิตภัณฑ์แบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุด
นอกจากรูปลักษณ์ภายนอกที่ต่างกันแล้ว องค์ประกอบในผลิตภัณฑ์ก็มีมากมายหลายสูตร แต่โดยพื้นฐานผลิตภัณฑ์จะมีสารประกอบที่คล้ายกัน คือ
- สารทำความสะอาด ที่ทำให้เกิดฟองขณะแปรงฟัน เช่น โซเดียมลอริลซาโครซิเนต (Sodium Lauryl Sarcosinate) โซเดียมลอริลซัลเฟต (Sodium Lauryl Sulfate
- สารขัดถู ที่ทำหน้าที่ขจัดคราบต่าง ๆ และแคทีเรียบนผิวฟัน เช่น แมกนีเซียมคาร์บอเนต (Magnesium Carbonate) แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate) เกลือฟอสเฟต (Phosphate Salts)
- ฟลูออไรด์ (Fluoride) สารสำคัญที่ช่วยป้องกันฟันผุ เคลือบผิวฟันให้แข็งแรงขึ้น
- สารรักษาความชุ่มชื้น ที่ช่วยให้เนื้อยาไม่แห้ง มีความชุ่มชื้นตลอดอายุการใช้งาน เช่น กลีเซอรอล (Glycerol) ซอร์บิทอล (Sorbitol)
- สารเพิ่มความข้นหนืด ที่ช่วยให้ยาจับตัวเป็นเนื้อเดียวกัน เช่น สารสกัดจากสาหร่ายทะเล สารแขวนลอยแร่ธาตุ (Mineral Colloids) เส้นใยเซลลูโลสสังเคราะห์
- สารแต่งกลิ่นและรส ที่ไม่ทำให้ฟันผุ เช่น แซกคารีน (Saccharin) และกลิ่นสังเคราะห์อย่าง มินต์ สตรอว์เบอร์รี่ องุ่น เป็นต้น
จากที่รายละเอียดข้างต้นแสดงให้เห็นว่า การเลือกยากสีฟันที่ดีจะช่วยให้สุขภาพช่องปากของเราดีขึ้นได้ ฉะนั้นเราควรพิจารณาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และเหมาะสมกับตัวเราดังนี้
- ควรเลือกยาสีที่เป็นเนื้อครีม หรือผงละเอียดมากกว่าเนื้อหยาบ เพื่อจะได้ไม่ทำให้เคลือบฟันสึกกร่อนง่าย
- ถ้าหลอดผลิตภัณฑ์มีข้อมูลละเอียด ให้เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีค่า 5.5 - 10.5 และมีฟลูออไรด์ 500 - 1500 ppm.
- ได้รับการรับรองจาก อย. (สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา) หรือ มอก. (สำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานอุตสาหกรรมไทย)
- ตรวจสอบ วัน เดือน ปีที่ผลิตว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่หมดอายุ (ไม่ควรผลิตมาเกิน 3 ปี)
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ให้ถูกวัตถุประสงค์ ดังนี้
5.1 ผสมฟลูออไรด์ เหมาะสำหรับคนทุกวัย ป้องกันฟันผุได้ 20% - 40 % (สูตรที่มีฟลูออไรด์
เข้มข้น 1,000 ส่วนในล้านส่วน (ppm.) ป้องกันได้ดีกว่าสูตรที่มีฟลูออไรด์ 500 ppm.)
- ยาสีฟันสมุนไพร ส่วนใหญ่ไม่มีฟลูออไรด์ ป้องกันฟันผุไม่ได้ แต่มีดีเรื่องอื่น เช่น ช่วยลดการอักเสบของเหงือก
- ลดการเสียวฟัน คนที่ผิวฟันสึก เหงือกร่น มักมีปัญหาเสียวฟัน ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสาร สตรอนเทียมคลอไรด์ (strontium chloride) โปตัสเซี่ยมไนเตรท (potassium nitrate) โซเดียมซิเตรท (sodium citrate) หรือ อาร์จีนีนไบคาร์บอเนต (arginine bicarbonate) ที่ช่วยลดอาการเสียวฟันได้ ถ้าใช้ติดต่อกัน 2 สัปดาห์ขึ้นไป
- ยาสีฟันควบคุมหินปูน จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสารเสริม ไพโรฟอสเฟต (pyrophosphates) ไตรโคลซาน (triclosan) ซิงก์ซิเตรท (zinc citrate) ที่จะใช้ควบคุมการเกิดหินปูนอย่างได้ผลเมื่อใช้อย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าใช้นานเกินไปอาจมีผลข้างเคียงคือ เสียวฟัน หรือเกิดการแพ้ได้
- ผลิตภัณฑ์ทำให้ฟันขาว มีให้เลือก 2 ประเภท คือ
- มีส่วนผสมของสารฟอกสีฟัน ได้แก่ คาร์บาไมด์เปอร์ออกไซด์ (Carbamide peroxide) ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide) ที่ช่วยช่วยฟอกฟันขาวได้ แต่มักขายในร้านขายยา และควรปรึกษาทันตแพทย์ก่อนใช้
- มีผงขัดหยาบ หรือมีสารที่ช่วยทำให้คราบสีบนผิวฟันหลุดลอกไปได้ ทำให้ฟันขาวสะอาดขึ้น แต่ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ไม่ควรใช้ประจำ เพราะทำให้ผิวเคลือบฟันสึกกร่อนได้
หลังจากเลือกที่เหมาะสมแล้ว ยังมีข้อควรระหวังคือ ถ้าใช้ตัวไหนแล้วเกิดอาการ ผดผื่นหรือสิวขึ้นรอบปาก แห้งคันที่มุมปาก ริมฝีปากแตก ระคายเคือง จนถึงขั้นปากบวมแดง รอบปากอักเสบ ต้องหยุดใช้ทันที เพราะแสดงว่าคุณแพ้ตัวนั้น ควรรีบไปพบแพทย์แล้วเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ตัวอื่นดีที่สุด