เเหงือกบวม เหงือกเป็นตุ่ม ร้ายแรงแค่ไหนต่อสุขภาพช่องปาก ?

เเหงือกบวม เหงือกเป็นตุ่ม ร้ายแรงแค่ไหนต่อสุขภาพช่องปาก ?

 

 

          ชาว Linee  เคยไหมคะ ที่คอยดูแลให้ฟันขาวแข็งแรง  ด้วยการหมั่นทำความสะอาด และฟอกสีฟัน จนห่างไกลปัญหาฟันเหลือง แต่จู่ ๆ ระหว่างดูแลสุขภาพฟัน กลับมีอาการ เหงือกบวม หรือ เหงือกเป็นตุ่ม ขึ้นมา ณ มุมใดมุมหนึ่งในช่องปาก โดยไม่ทันตั้งตัว  และไม่แน่ใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของโรคเหงือกอักเสบหรือไม่  และมีอันตรายแค่ไหน   สำหรับเรื่องนี้เรามีคำตอบมาฝากทุกคนค่ะ

 

“เหงือกบวม” หรือ “เหงือกเป็นตุ่ม” คืออะไร

           เหงือกบวม หรือ เหงือกเป็นตุ่ม คืออาการที่เหงือกผิดปกติ เกิดความระคายเคือง หรือติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เหงือกมีสีผิดปกติ เช่น เป็นสีแดงเข้มขึ้น มีความบวมนูน  โดนแล้วอาจรู้สึกเจ็บ  หรือเกิดเป็นตุ่มหนอง หรือตุ่มลักษณะอื่นขึ้นบนเหงือก  มีทั้งตุ่มที่โดนแล้วเจ็บ และโดนแล้วไม่เจ็บ แล้วแต่สาเหตุที่ทำให้เกิดขึ้น

 

 

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ “เหงือกบวม” หรือ “เหงือกเป็นตุ่ม”  มีอะไรบ้าง

 

  1. โรคเหงือกอักเสบ หรือที่เรียกเป็นทางการว่า ปริทันต์อักเสบ (Periodontal disease) เป็นอาการในช่องปากที่เกิดขึ้นเพราะการสะสมของคราบจุลินทรีย์ในช่องปาก โดยจะเริ่มจากการทำให้เกิดคราบหินปูน เมื่อมีมากจะทำให้เหงือกเกิดการระคายเคือง และเกิดการอักเสบในที่สุด  

 

 

  1. รากฟันอักเสบ ทำให้เกิดเหงือกบวม และมีตุ่มหนองได้ รากฟันอักเสบเกิดขึ้นเพราะฟันผุ โพรงประสาทฟันอักเสบ รากฟันมีถุงหนอง  ควรรีบพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษา  เพราะอาจลามไปสู่การติดเชื้อ  ต้องถอนฟัน หรือกลายเป็นมะเร็งช่องปากได้

 

 

  1. รากฟันแตก มีสาเหตุจากการเกิดอุบัติเหตุ การขบเคี้ยวขอบแข็ง หรือความผิดพลาดจากการทำทันตกรรม เช่น ครอบฟัน ทำเดือยฟัน ที่ทำให้รากฟันแตก อักเสบ แล้วปะทุออกมาที่เหงือก

 

 

  1. ปัญหาการทำความสะอาดช่องปาก เช่น ทำความสะอาดไม่ถูกวิธี ทำความสะอาดไม่ดีพอ ทำให้เกิดการติดเชื้อในช่องปาก

 

 

  1. อาการแพ้ ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก เช่น ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก เมื่อมีการเปลี่ยนชนิดใหม่  ที่อาจมีสารประกอบทำให้เหงือกเกิดการระคายเคือง จนเกิดการอักเสบ  หรือแปรงสีฟันที่มีขนแปรงแข็งเกินไป

 

 

  1. ความผิดปกติของฮอร์โมน โดยเฉพาะในผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ที่ส่งผลทำให้แบคทีเรียในช่องปากเพิ่มจำนวนขึ้นผิดปกติ  กระตุ้นให้ฟันมีปัญหา เหงือกอักเสบ และบวมขึ้นได้ง่ายกว่าปกติ

 

 

  1. ฟันผุ ลุกลามไปถึงโพรงประสาทฟัน และเกิดการติดเชื้อ เป็นหนองสะสมในฟันจนปะทุออกมา ทำให้เหงือกเป็นตุ่มหนองเล็ก ๆ ขึ้นที่เหงือกใกล้ฟันผุ เป็นอาการที่ค่อนข้างร้ายแรง ควรรีบทำการรักษา หากปล่อยทิ้งไว้อาจมีภาวะฟันตายได้

 

 

  1. มี กระดูกงอก ในช่องปาก หรือเกิด ฟันคุด ซึ่งถือเป็นอาการผิดปกติ และส่งผลทำให้เหงือกเกิดการระคายเคือง  เมื่ออาการหนักขึ้นก็จะทำให้เกิดเหงือกอักเสบ

 

 

  1. เป็น แผลในปาก หรือที่เรียกกันว่า ร้อนในบริเวณเหงือก

 

 

  1. ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เนื่องจากอาการป่วยจากโรคเรื้อรัง  ภาวะเหนื่อยล้า และมีความเครียดสะสม ทำให้ร่างกายต้านทานเชื้อโรคได้ไม่ดี อวัยวะต่าง ๆ ได้รับเชื้อโรคแล้วเกิดปฏิกิริยาอย่างรวดเร็ว  รวมถึงในช่องปาก เช่น เกิดอาการเหงือกบวม อักเสบ เป็นตุ่มหนอง  เป็นต้น

 

 

  1. ขาดสารอาหาร บางชนิดที่เกี่ยวข้องกับเหงือก และฟัน เช่น วิตามินบี วิตามินซี

 

 

  1. ผลจาก อุปกรณ์ทันตกรรม เช่น  ฟันปลอม  แบร็กเก็ต (Bracket) หรือเหล็กจัดฟัน  รีเทนเนอร์  ซึ่งหากอุปกรณ์ไม่เหมาะสม  ไม่สะอาด ไม่พอดี อาจทำให้เกิดการระคายเคืองที่เหงือกจนเกิดอักเสบได้

 

 

  1. ผลข้างเคียงของยา เช่น ยาคุมกำเนิดบางประเภท ยากันชักบางชนิด หรือในผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาบางอย่างที่มีผลข้างเคียง  ทำให้มีอาการเหงือกบวมหนา หรือเป็นตุ่มขึ้นมาได้ ซึ่งโดยมากเมื่อหยุดยาอาการดังกล่าวก็จะค่อย ๆ หายไป แต่ถ้าไม่หาย หรือความจำเป็นต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์เรื่องผลข้างเคียงของยา และปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อทำการรักษา

 

 

  1. การสูบบุหรี่ ส่งผลเสียต่อสุขภาพช่องปากชัดเจนมาก โดยสารพิษในบุหรี่จะกระตุ้นให้ภายในช่องปากเกิดการอักเสบได้ง่าย โดยเฉพาะที่เหงือก และทำให้เสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งช่องปากได้สูง

 

 

  1. ผลจากโรค มะเร็งช่องปาก ทำให้เหงือกอักเสบ  รู้สึกเจ็บ และชา เกิดตุ่มหนองบวมฟูคล้ายดอกกระหล่ำ ส่งผลเสียต่อเหงือก และฟัน  ควรรีบพบแพทย์ เพราะลามได้ไวมาก

 

           

ข้อควรรู้ เมื่อ “เหงือกบวม” หรือ “เหงือกเป็นตุ่มหนอง”

 อมน้ำเกลือช่วยได้หรือไม่

          การอมน้ำเกลือเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับบรรเทาอาการต่าง ๆ ในช่องปาก รวมถึงลดอาการเหงือกอักเสบ  เนื่องจากเกลือช่วยทำให้ช่องปากมีความเป็นด่างมากขึ้น  ทำให้แบคทีเรียที่ชอบความเป็นกรดอยู่ไม่ได้  ซึ่งสำหรับอาการเหงือกเป็นตุ่มหนอง การอมน้ำเกลืออุ่น ๆ ตอนเช้าและก่อนนอน จะช่วยบรรเทาการเหงือกบวม ลดการอักเสบ และความเจ็บปวดได้ แต่ไม่สามารถทำให้ตุ่มหนองบนเหงือกหายไปได้  จำเป็นต้องไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษา

 

 

ควรเจาะหนองออกหรือไม่

          อาการเหงือกเป็นตุ่มหนอง แสดงว่าเกิดการอักเสบ และอาจมีการติดเชื้อ  ซึ่งหลายคนคิดว่าน่าจะเจาะหนองออกเองได้ ซึ่งขอบอกชาว Linee ทุกคนว่า การเจาะหนองเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่ไม่ควรทำด้วยตัวเอง !!  ควรให้ทันตแพทย์เป็นผู้เจาะหนองออกให้ ด้วยเหตุผลเรื่องของความสะอาด ความชำนาญ ที่หากทำไม่เหมาะสมอาจเกิดอาการแทรกซ้อนได้ และในบางกรณีทันตแพทย์อาจจำเป็นต้องมีการฉีดยาชาก่อนเจาะระบายหนองออก รวมถึงอาจจำเป็นต้องเย็บแผลด้วยก็เป็นได้

 

 

วิธีการรักษาอาการ “เหงือกบวม เหงือกเป็นตุ่ม” 

  1. ในเบื้องต้นคนมักแก้ไขอาการเหงือกบวม และเหงือกเป็นตุ่มคือ การบ้วนน้ำเกลืออุ่น ๆ ทุกวันเช้า และเย็น ร่วมกับการรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน และพอนสแตน ฯลฯ แต่นี่เป็นแค่การบรรเทาอาการก่อนไปพบทันตแพทย์เท่านั้น

 

 

  1. ถ้าคิดว่าสาเหตุเกิดจากการที่เหงือกระคายเคือง และเกิดอาการแพ้ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก เช่น ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก ไหมขัดฟัน ควรหยุดการใช้ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ

 

 

  1. เปลี่ยนแปรงสีฟัน ให้มีขนนุ่มพอดี ไม่แข็งจนทำให้เหงือกระคายเคืองจนอักเสบ

 

 

  1. พบทันตแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เหงือกอักเสบ หรือเกิดตุ่มหนอง เพื่อทำการรักษา ซึ่งโดยทั่วไปหากมีอาการเหงือกเป็นตุ่มหนอง ทันตแพทย์จะทำการขูดหินปูน เพื่อเป็นการขจัดคราบจุลินทรีย์ในช่องปากที่ฟัน และในร่องเหงือก เพื่อลดปัจจัยที่ทำให้เกิดเหงือกอักเสบ แล้วจึงระบายหนองออก ซึ่งหากมีปัญหาที่รากฟันด้วย อาจต้องมีการเกลารากฟันเพิ่มเติม

 

 

  1. กรณีที่รากฟันมีปัญหามาก เช่น ฟันผุจนทะลุโพรงประสาทฟัน กระดูกรองรับรากฟันถูกทำลาย  ทันตแพทย์อาจจำเป็นต้องถอนฟันซี่นั้น ๆ ออก เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อลามไปยังฟันซี่อื่น และทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน

 

 

  1. ถ้าอาการเหงือกบวม หรือ เหงือกเป็นตุ่มที่เกิดจากปัญหาฟันคุด โดยไม่มีอาการอื่น ทันตแพทย์มักจะรักษาด้วยการเจาะระบายหนองออก ตัดเหงือกที่คลุมฟันคุด และ ผ่าฟันคุดออก

 

 

ลักษณะของเหงือกสุขภาพดี มีดังนี้

             เหงือกเป็นอวัยวะสำคัญไม่แพ้ฟัน  เพราะมีหน้าที่ยึดซี่ฟัน และขากรรไกรไว้ด้วยกัน  สุขภาพของเหงือกจึงส่งผลต่อสุขภาพช่องปาก  ซึ่งเหงือกสุขภาพดีมีลักษณะดังนี้

  • เหงือมีสีชมพูอ่อน หรือสีเข้มตามพันธุกรรม แต่ต้องมีสีเสมอกัน
  • ผิวเหงือกเรียบ ชุ่มชื้น
  • ขอบเหงือกที่ยึดฟันไว้ชิดสนิทกันฟันเรียบร้อยดี
  • เหงือกไม่บวมออกมาผิดปกติ ไม่รู้สึกเจ็บที่เหงือกบริเวณไหนผิดปกติ
  • ไม่มีตุ่มหนอง หรือตุ่มลักษณะต่าง ๆ เกิดขึ้นบนเหงือก

 

 

วิธีป้องกันการเกิด “เหงือกบวม” และ “เหงือกเป็นตุ่ม” 

  1. ดูแลสุขภาพช่องปากอย่างดี ด้วยการเลือกใช้ยาสีฟันที่เหมาะสม ด้วยแปรงสีฟันที่มีขนแปรงไม่แข็งเกินไป ด้วยการแปรงฟันอย่างถูกวิธี  และแปรงสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น

 

 

  1. ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีสรรพคุณฆ่าเชื้อแบคทีเรียและคราบจุลินทรีย์ในช่องปาก แต่ไม่มีฤทธิ์รุนแรงเกินไปจนก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเหงือก

 

 

  1. ใช้ไหมขัดฟันที่เหมาะสม และถูกวิธี เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อเหงือก

 

 

  1. ดื่มน้ำสะอาดให้ได้ปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกาย เพื่อลดอาการปากแห้ง ลดแบคทีเรีย และกระตุ้นการผลิตน้ำลายซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพช่องปาก

 

 

  1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อเหงือก และฟัน เช่น อาหารที่มีแคลเซียม และวิตามินต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพช่องปาก

 

 

  1. หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เพราะน้ำตาลเป็นอาหารของแบคทีเรีย สาเหตุของฟันผุ  และเหงือกอักเสบ

 

 

  1. ลด หรือเลิกการสูบบุหรี่ ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดเหงือกบวมอักเสบ เหงือกเป็นตุ่ม และนำไปสู่การเกิดมะเร็งช่องปาก

 

 

  1. หมั่นพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก

 

 

          เห็นไหมคะว่า อาการ “เหงือกบวม “ และ “ เหงือกเป็นตุ่ม” ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ แต่แสดงถึงปัญหาสุขภาพช่องปาก และสุขภาพโดยรวมได้ ฉะนั้นชาว  Linee ทุกคนอย่าลืมดูแลเหงือกให้ดีไม่แพ้ดูแลฟันนะคะ

 

 

Back to blog