เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “ฟัน” ที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “ฟัน” ที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน

 

 

             ปัญหาเหงือกและฟันเป็นเรื่องสำคัญที่ชาว Linee ให้ความสำคัญ และเพื่อการดูแลเอาใจใส่สุขภาพช่องปากได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราเลยขอชวนทุกคนมารู้จัก ฟัน ให้ลึกซึ้งมากกว่าเดิม เพราะฟันคือหัวใจหลักของสุขภาพช่องปาก และมีหลายอย่าง หลายเรื่อง ที่ทุกคนอาจเข้าใจผิด หรือคาดไม่ถึงเกี่ยวกับฟันก็เป็นได้ ฉะนั้นเรามารู้จักฟันให้มากขึ้นกันเถอะค่ะ   

 

ฟัน” คืออะไร สำคัญแค่ไหน ?

          ฟัน คือกระดูก ถือเป็นอวัยวะที่แข็งแรงที่สุดของมนุษยื มีหน้าที่บดเคี้ยวอาหารเพื่อส่งเข้าสู่ระบบย่อยอาหาร เป็นองค์ประกอบสำคัญในการพูด การออกเสียง และเป็นอวัยวะที่ส่งผลต่อรูปหน้าของแต่ละคนอีกด้วย โดยฟันฟันตามธรรมชาติของมนุษย์มี 2 ชุดคือ

 

  1. ชุดฟันน้ำนม (Deciduousteeth)

          ฟันน้ำนมเป็นฟันตามธรรมชาติชุดแรก มีทั้งหมด 20 ซี่ คือ ฟันบน 10 ซี่ และ ฟันล่าง 10 ซี่ โดยจะเริ่มมีพัฒนาการเกิดขึ้นภายในเหงือกตั้งแต่ตอนเป็นทารก และเริ่มโผล่พ้นเหงือกตอนอายุประมาณ 6 เดือน และโดยทั่วไปจะมีครบ 20 ซี่ ตอนอายุไม่เกิน 3 ปี และจะเริ่มอ่อนแอ หลุดออกไปตอนอายุประมาณ 6 – 7 ปี

 

 

  1. ชุดฟันแท้ (Permanentteeth)

          ฟันแท้คือฟันตามธรรมชาติชุดที่สอง ถือเป็นฟันถาวรที่มาแทนฟันน้ำนม ฟันแท้มีทั้งหมด 32 ซี่ คือ ฟันบน 16 ซี่ และฟันล่าง 16 ซี่  โดยฟันแท้ส่วนใหญ่จะขึ้นเฉลี่ย 28 ซี่ ในช่วงอายุ 14 – 16 ปี และฟันกราม (Molar) 4 ซี่ ที่เหลืออาจขึ้นช้าไปถึงช่วงอายุ 20 ปี ขึ้นแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ หรือไม่ขึ้นเลยเพราะกลายเป็นฟันคุดได้

 

 

“ฟัน” มีส่วนประกอบดังต่อไปนี้

  1. เคลือบฟัน คือชั้นนอกสุดของฟัน มีแคลเซียมฟอสเฟตเป็นองค์ประกอบหลัก มีสีขาวโปร่งออกเหลือง  ช่วยปกป้องเนื้อฟันด้านใน  ถ้าเคลือบฟันบางหรือถูกทำลายจะทำให้เห็นว่าฟันเหลืองมากขึ้น เพราะเห็นสีเนื้อฟันด้านในชัดเจน    

 

  1. เนื้อฟัน คือเนื้อเยื่อส่วนกลางของฟัน สีขาวขุ่นออกเหลือง มีลักษณะเป็นรูพรุน มีท่อขนาดเล็กมากมายด้านใน เชื่อมต่อกับเคลือบฟัน และโพรงประสาทฟันด้านใน เป็นชั้นที่อากาศหรือสารเคมีแทรกผ่านได้ ถ้าเคลือบฟันถูกทำลาย เนื้อฟันจะเกิดปฏิกิริยาเสียวฟัน

 

 

  1. โพรงประสาทฟัน คือเนื้อเยื่ออ่อนอยู่ด้านในของเนื้อฟันอีกที มีลักษณะเป็นโพรง เต็มไปด้วยเส้นเลือด และเส้นประสาท

 

  1. เส้นประสาท ด้านในโพรงประสาทฟัน ประกอบด้วยเซลล์ที่สร้างเนื้อฟัน และหลอดน้ำเหลือง ถ้าเส้นประสาทฟันเกิดความเสียหายมาจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ฟันผุ โพรงประสาทฟันมีปัญหา จะทำให้มีอาการเสียวฟัน และปวดฟันเกิดขึ้น

 

 

  1. รากฟัน เป็นส่วนที่อยู่ใต้เหงือกลึกลงไปในขากรรไกร มีองค์ประกอบย่อยคือ 
    • เคลือบรากฟัน คือเนื้อเยื้อด้านนอกรากฟัน มีลักษณะสีเหลืองอ่อน มีหน้าที่เคลือบรากฟันและยึดเส้นเอ็น ทำให้รากฟันติดอยู่กับกระดูกได้ดี
    • เนื้อรากฟัน คือเนื้อเยื่อส่วนในถัดจากเคลือบรากฟัน ถือเป็นชั้นกลางของรากฟันก่อนเข้าถึงโพรงรากฟัน
    • โพรงรากฟัน หรือคลองรากฟัน เป็นส่วนที่อยู่กลางรากฟัน ประกอบด้วยเส้นเลือด เส้นประสาท หลอดน้ำเหลือง  ช่วยเชื่อมต่อกับโพรงประสาทฟัน โดยส่วนปลายรากฟันจะมีรูที่ทำให้โพรงรากฟันเชื่อมต่อกับเนื้อเยื่อภายนอก  ถ้าโพรงรากฟันผุก็จะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายเร็ว  เกิดการติดเชื้อ อาจลามไปถึงหัวใจ และสมองได้ 

 

 

  1. ชั้นร่องเหงือก คือร่องระหว่างฟันกับขอบเหงือก มีลักษณะบาง ลึกประมาณ 2 มิลลิเมตร ถ้าเกิดอาการ เหงือกบวม เหงือกอักเสบ เป็นรำมะนาด ชั้นร่องเหงือกจะบวม ร่องเหงือกจะลึกกว่าปกติ ทำให้อักเสบรุนแรงขึ้น  

 

  1. เหงือก คือเนื้อเยื่ออ่อนส่วนที่ห่อหุ้มฟันกับกระดูกขากรรไกร ยึดทั้งคู่อยู่ด้วยกัน เป็นส่วนที่ประกอบด้วยเส้นเลือดฝอยจำนวนมาก ช่วยรองรับแรงบดเคี้ยวได้

 

 

  1. กระดูกเบ้าฟัน คือส่วนหนึ่งของกระดูกขากรรไกร เป็นส่วนที่อยู่รอบ ๆ รากฟันที่ฝังตัวอยู่ โดยกระดูกเบ้าฟันจะมีเนื้อกระดูกเป็นรูพรุนละเอียด มีความโค้งเว้าช่วยรองรับฟันอย่างเหมาะสม

 

  1. เอ็นยึดปริทันต์ คือเส้นใยเนื้อเยื่อขนาดเล็กที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างรากฟันกับกระดูกเบ้าฟัน

 

 

หน้าที่ของฟันส่วนต่าง ๆ คือ

  • ฟันหน้า (Inciser) โดยปกติมี 4 ซี่ (รวมด้านบนและด้านล่าง)  มีหน้าที่ในการตัด หรือสับอาหาร และในการออกเสียง ฟันหน้าส่งผลต่อการออกเสียง ซ และ ส
  • ฟันเขี้ยว (Canine) ทำหน้าที่ช่วยฟันหน้าตัด ฉีก แยกอาหารออกเป็นชิ้น ๆ และช่วยเสริมในการออกเสียง ซ และ ส ด้วย
  • ฟันกรามน้อย (Premolar) ช่วยในการตัดฉีกอาหาร รวมถึงบดอาหารให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ
  • ฟันกราม (Molar) ทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหารให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

 

เรื่องจริงเกี่ยวกับ “ฟัน 

“การดูดนิ้ว” ส่งผลกับ “ฟัน” อย่างไร

          การดูดนิ้วในวัยเด็ก รววมถึงการชอบใช้ลิ้นดุนฟัน ส่งผลต่อสุขภาพช่องปากอย่างคาดไม่ถึง เพราะมันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะฟันยื่น ฟันเหยิน นอกเหนือจากสาเหตุของอาการกระดูกกะโหลกศีรษะผิดรูป ซึ่งภาวะฟันยื่น ฟันเหยิน ส่งผลกระทบทำให้ฟันสบกัน ใบหน้าอูม และใต้คางมีร่องผิดปกติ ส่งผลต่อรูปลักษณ์และความมั่นใจ แต่ถ้าเป็นมากอาจส่งผลต่อสุขภาพ เช่น ทำให้การอ้าปาก การเคี้ยวอาหาร หรือการพูด ผิดปกติ กระดูกขากรรไกรทำงานได้ไม่ดี จำเป็นต้องแก้ไขด้วยการจัดฟัน หรือการผ่าตัด

 

 

การเปลี่ยนแปรงสีฟันสัมพันธ์กับสุขภาพ “ฟัน” อย่างไร ?

          การเปลี่ยนแปรงสีฟันก็ส่งผลต่อสุขภาพช่องปาก  เพราะแปรงสีฟันคืออุปกรณ์ทำความสะอาดช่องปากขั้นพื้นฐาน หลังใช้ทุกครั้งควรทำความสะอาดให้ดี สะบัดน้ำออกให้หมดเพื่อให้แปรงแห้งง่าย และควรนำแปรงสีฟันแช่น้ำยาบ้วนปากทุกสัปดาห์ ครั้งละ 20 นาที เพราะหากปล่อยให้แปรงสีฟันสกปรก เปียกชื้น ย่อมเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค และเป็นความจริงที่เราควรเปลี่ยนแปรงสีฟันทุก 3 เดือน หรือหากสังเกตว่าขนแปรงเริ่มบาน เสียรูปทรง ดูสกปรก มีรอยดำคล้ายเชื้อราติดอยู่ก็ควรเปลี่ยนแปรงทันที แม้ยังไม่ครบ 3 เดือน  

 

 

“แปรงฟัน” หลังอาหารส่งผลเสียต่อ “ฟัน” อย่างไร ?

          การแปรงฟันหลังมื้ออาหารเป็นการทำความสะอาดช่องปากที่ช่วยในการดูแลสุขภาพเหงือก และฟันได้ แต่รู้หรือไม่ว่า การแปรงฟันหลังอาหารก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพฟันได้เหมือนกัน ถ้าแปรงผิดวิธี  ซึ่งการแปรงผิดวิธีในที่นี้ก็คือ การแปรงฟันทันทีหลังรับประทานอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น ยำรสเปรี้ยวจัด ของหวานที่มีน้ำตาล และเครื่องดื่มประเภท ชา กาแฟ น้ำผลไม้ น้ำหวาน  ไวน์ เครื่องดื่มเกลือแร่ ฯลฯ  ถ้าแปรงฟันทันทีจะเหมือนเอากรดไปถูฟัน เป็นการทำลายเคลือบฟัน หากทำบ่อย ๆ อาจส่งผลเสียถึงเนื้อฟัน ฉะนั้นหากต้องการแปรงฟันหลังอาหาร  ควรรอครึ่งชั่วโมงค่อยแปรงฟัน เพื่อให้ค่า pH ในช่องปากกลับมาสมดุลก่อน แต่ถ้าไม่มีเวลาให้บ้วนปากด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำยาบ้วนปากสูตรฟลูออไรด์แทนการแปรงฟัน

 

 

 “ฟัน” มีอายุขัยตามอายุของคนเรา ?

          ถ้าเราอายุมาก ฟันก็จะแก่และเปราะบางตามไปด้วย ...หลายคนคิดแบบนี้ใช่ไหมคะ ความจริงแล้วเป็นความเชื่อที่ผิดค่ะ เพราะฟันถือเป็นอวัยวะที่แข็งแรงที่สุดในร่างกาย และคงอยู่ได้นานมาก สภาพของฟันขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาเป็นปัจจัยหลัก ถ้าเราดูแลสุขภาพช่องปากอย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ ฟันจะแข็งแรงและช่วยให้เราดำรงชีวิตได้ดีแม้ในยามที่อายุมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ถ้าเรามีพฤติกรรมทำร้ายฟันเป็นประจำ แม้อายุยังไม่มาก  สุขภาพช่องปากก็จะย่ำแย่ และฟันจะจากไปก่อนวัยอันควรได้เช่นกัน

 

 

“ฟันน้ำนม” ไม่จำเป็นต้องดูแลมากเท่า “ฟันแท้” จริงหรือ ?

          หลายคนเข้าใจผิดว่า ฟันน้ำนมไม่มีความสำคัญเท่าฟันแท้ ไม่จำเป็นต้องดูแลมาก ปล่อยให้ผุก็ไม่เป็นไร เพราะเดี๋ยวฟันแท้ก็ขึ้น ถือเป็นความเชื่อที่ส่งผลเสียมานาน เพราะการไม่ดูแลฟันน้ำนมตั้งแต่เด็กส่งผลเสียต่อคุณภาพของฟันแท้ที่จะขึ้นในอนาคตได้ หากปล่อยฟันน้ำนมไปตามยถากรรมโดยไม่ใส่ใจดูแลทำความสะอาด เมื่อฟันน้ำนมหลุดไป ฟันแท้ที่ขึ้นมามักมีสภาพที่ไม่แข็งแรง มีลักษณะของฟันเก ฟันซ้อน ฟันขรุขระผิดรูป ไม่ขาวแข็งแรง  ดังนั้นเพี่อสุขภาพฟันของเรา ไม่ว่าจะเป็นฟันน้ำนมหรือฟันแท้ก็ต้องดูแลเสมอนะคะ

 

 

“การจัดฟัน” ทำให้ผอมลงจริงหรือ ?

            เรามักได้ยินบ่อย ๆ เวลามีนักร้องนักแสดงในวงการที่ดูผอมลง แล้วบอกว่าเป็นเพราะจัดฟัน ซึ่งถ้าถามว่าเป็นไปได้หรือไม่  ก็ต้องบอกว่าเป็นไปได้ค่ะ เนื่องจากการจัดฟันโดยเฉพะในระยะแรกจะส่งผลต่อการใช้ชีวิต การรับประทานอาหาร ทำให้เคี้ยวอะไรไม่ค่อยถนัด อาจมีอาการเจ็บระบบที่ฟัน  และต้องระวังเครื่องมือในช่องปากเสียหาย และทำความสะอาดยาก ส่งผลให้การรับประทานอาหารลดน้อยลง ส่งผลให้น้ำหนักลดลงได้ในบางกรณี

 

 

          รู้ลึกเรื่อง “ฟัน” กันเพิ่มขึ้นแบบนี้ เชื่อว่าชาว Linee ทุกคนคงรู้สึกใส่ใจในการดูแลสุขภาพช่องปากมากขึ้นใช่ไหมคะ

 

Back to blog