หากพูดถึงคำว่า อโรมาเธอราปี เทรนด์ฮิตในยุคนี้ เชื่อว่าชาว Linee คงเหมือนได้กลิ่นหอมสดชื่นอบอวลชวนให้ใจสงบกันแล้วใช่ไหมคะ คนทั่วไปอย่างเรา ๆ เข้าใจกันว่า อโรมาเธอราปีคือการใช้กลิ่นช่วยลดความเครียด แต่ความจริงแล้วอโรมาเธอราปีคืออะไร มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง ตามมาผ่อนคลายอารมณ์กับกลิ่นหอม ๆ กันทางนี้เลยค่ะ
“อโรมาเธอราปี” คืออะไร
อโรมาเธอราปี (Aromatherapy) หรือ สุคนธบำบัด คือ การบำบัดด้วยกลิ่นหอม โดย อโรมา (Aroma) แปลว่า กลิ่นหอม เธอราปี (Therapy) แปลว่า การบำบัด ในทางวิทยาศาสตร์ถือเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ ยาสมุนไพร ( Herbal Medicine ) ช่วยทำให้ร่างกาย และจิตใจ รู้สึกผ่อนคลาย และมีความสมดุลที่ดีขึ้น โดยกลิ่นหอมที่ใช้ในการบำบัดรักษาต้องมาจากสารสกัดตามธรรมชาติ เช่น น้ำมันหอมระเหย (Essential Oil) ที่สกัดจากส่วนต่าง ๆ ของพืช ซึ่งน้ำมันหอมระเหยยิ่งบริสุทธิ์เท่าไหร่ยิ่งมีสรรพคุณดี และราคาแพงเท่านั้น
“อโรมาเธอราปี” มีแบบไหนบ้าง
- การสูดดม คือ การใช้กลิ่นหอมของน้ำมันหอมระเหยเพื่อช่วยในการผ่อนคลายอารมณ์ และจิตใจ โดยไม่มีการสัมผัสทางผิวหนัง กลิ่นหอมที่สูดดมผ่านลมหายใจจะผ่านเข้าปอด และไปที่ระบบสมองจนส่งผลต่ออารมณ์ กระตุ้นการผลิตฮอร์โมนเอนดอร์ฟิน (Endorphin) หรือฮอร์โมนแห่งความสุข โดยวิธีการสูดดมที่นิยมกันในปัจจุบันมีดังนี้
- หยดน้ำมันหอมระเหย 1 – 2 หยดลงในชามที่ใส่น้ำอุ่น แล้วก้มลงสูดดม 2 - 3 นาที
- หยดน้ำมันหอมระเหย 1 - 2 หยด ใส่ผ้าขนหนู หรือผ้าเช็ดหน้า แล้วสูดดมจนผ่อนคลาย
- หยดน้ำมันหอมระเหย 1 – 2 หยดลงบนหมอนก่อนเข้านอน
- หยดน้ำมันหอมระเหยในเครื่องกระจายกลิ่น (Diffuser)
- การนวด คือ การใช้น้ำมันหอมระเหยในการนวดร่างกายเพื่อการบำบัดอารมณ์ โดยน้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิดมีสรรพคุณต่างกัน นอกจากกลิ่นหอมช่วยปรับอารมณ์แล้ว น้ำมันหอมระเหยบางชนิดยังมีสรรพคุณทางยา ที่เมื่อนวดจนซึมเข้าผิวหนัง และระบบหมุนเวียนโลหิตแล้ว ส่งผลดีต่อระบบในร่างกาย ช่วยบรรเทาอาการของโรคบางอย่างได้
- การประคบ คือ การใช้ผ้าขนหนู หรือผ้าสะอาดที่ซับน้ำได้ดี ชุบน้ำอุ่นที่ผสมน้ำมันหอมระเหย 1 – 3 หยด นำมาประคบบริเวณที่รู้สึกไม่สบาย เมื่อยขบ เช่น เบ้าตา ใบหน้า ต้นคอ ประคบเบา ๆ ให้ความอุ่น และน้ำมันหอมระเหยซึมเข้าบริเวณที่ประคบ และจมูกได้สูดกลิ่นหอมจนรู้สึกดีขึ้น
- การสูดไอน้ำ คือการสูดน้ำมันหอมระเหยผ่านไอน้ำ โดยน้ำมันหอมระเหยบางชนิดมีฤทธิ์ ฆ่าเชื้อโรค (Antiseptics) ในระบบทางเดินหายใจด้วย วิธีคือนำน้ำร้อนที่มีควันกรุ่นใส่ชามหรืออ่าง แล้วหยดน้ำมันหอมระเหยลงไป 2 - 4 หยด ก้มหน้าลงให้ไอน้ำจากชามลอยเข้าจมูก แล้วใช้ผ้าคลุมศีรษะและชามไว้ วิธีนี้ต้องทำแล้วพักเป็นระยะเพื่อไม่ให้เกิดผลเสีย และคนเป็นโรคหอบหืด หรือผิวแพ้ง่ายไม่ควรทำ
- การอาบ คือ วิธีผ่อนคลายแบบง่าย ๆ ด้วยการหยดน้ำมันหอมระเหย 6 – 8 หยดลงในอ่างน้ำที่ผสมน้ำอุ่นไว้ แล้วลงแช่ 15 – 20 นาที น้ำมันหอมระเหยจะซึมเข้าทางผิวหนัง และผ่านทางการสูดดม ทำให้ร่างกาย และจิตใจ สดชื่น ผ่อนคลาย ถ้าทำก่อนนอนจะทำให้นอนหลับสบายขึ้น
- การอบห้อง คือ การใช้น้ำมันหอมระเหยทำให้อากาศในห้องมีกลิ่นหอม วิธีอบห้องคือ หยดน้ำมันหอมระเหย 3 – 4 หยดลงในจานสำหรับเผา (Aroma Jar) ที่จุดเทียนไว้ หรือจุดเทียนหอมที่ผสมน้ำมันหอมระเหยไว้ในห้อง ความร้อนจากจานสำหรับเผา และจากเทียนหอมจะทำให้กลิ่นกระจายตัวในห้อง จุดทิ้งไว้ 5 – 10 นาที ต่อครั้ง ก่อนใช้ห้อง และระหว่างอยู่ในห้องไม่ควรจุด เพราะการเผาไหม้อาจไม่ดีต่อระบบทางเดินหายใจ
- ใช้ผสมเครื่องหอม และเครื่องสำอาง เช่น ผสมในบุหงา ครีม โลชั่น น้ำมันทาตัว ฯลฯ ซึ่งการผสมในบุหงาจะนำมาแขวนในห้อง หรือในตู้เพื่อลดกลิ่นอับ เพิ่มความสดชื่น แต่ถ้าผสมในเครื่องสำอางที่ใช้กับร่างกายจะผสมแบบบางเบา เพื่อให้รู้สึกสบาย ผ่อนคลาย ไม่ฉุนเกินไป ซึ่งน้ำมันหอมระเหยที่ใส่ในเครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับร่างกายแต่ละสูตร นอกจากให้ความรู้สึกที่ต่างกัน ยังส่งผลดีต่อสุขภาพผิวต่างกันอีกด้วย
“อโรมาเธอราปี” มีประโยชน์ต่อสุขภาพกายและใจอย่างไร
- ช่วยผ่อนคลายอารมณ์ บรรเทาความเครียด ลดความวิตกกังวล
- ส่งผลดีต่อการนอนหลับ ทำให้หลับง่าย และหลับลึกมากขึ้น
- ช่วยลดการเวียนหัว ปวดศีรษะ และบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ เช่น ปวดข้อต่อ ปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น
- การสูดดมน้ำมันหอมระเหยส่งผลดีต่อระบบประสาท ช่วยทำให้รู้สึกสงบ ไม่กระวนกระวายใจ แต่กระตุ้นเกี่ยวกับความจำ และการเรียนรู้ จึงส่งผลดีต่อผู้มีภาวะสมองเสื่อม (Dementia)
- ช่วยกระตุ้นระบบการทำงานในร่างกาย เช่น ระบบภูมิคุ้มกัน และระบบย่อยอาหาร
- น้ำมันหอมระเหยบางชนิดช่วยฆ่าเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียเมื่อใช้นวดบนผิวหนัง
- น้ำมันหอมระเหยบางชนิดช่วยบรรเทาอาการข้างเคียงจากโรคได้ เช่น อาการปวด และอาการคลื่นไส้จากการรักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น
- น้ำมันหอมระเหย ส่งผลดีต่อระบบต่อมไร้ท่อในร่างกายที่ทำงานร่วมกับระบบประสาท ทำให้ร่างกายทำงานได้อย่างมีสมดุล ต่อมไร้ท่อผลิตฮอร์โมนอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะฮอร์โมนอินซูลิน ที่ควบคุมไขมัน อารมณ์ และความรู้สึก
น้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิดมีสรรพคุณอะไรบ้าง
น้ำมันหอมระเหยมีมากมายหลายชนิด และมีสรรพคุณแตกต่างกัน แต่กลิ่นยอดนิยมที่ใช้กันแพร่หลายคือ
ลาเวนเดอร์ ช่วยให้รู้สึกสงบ ผ่อนคลาย ทำให้ระบบประสาททำงานช้าลง บรรเทาอาการปวดศีรษะ ทำให้หลับสบาย
คาโมมายล์ ช่วยลดความตื่นเต้น วิตกกังวล ทำให้รู้สึกสงบ ดีต่อระบบย่อยอาหาร และทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น และช่วยลดการอักเสบได้
มะกรูด น้ำมันหอมระเหยจากมะกรูดในที่นี้มักเป็นสายพันธุ์อิตาลี ที่กลิ่นหอมอ่อนกว่ามะกรูดไทย ส่งผลต่อระบบประสาท และสมอง ดีต่อที่มีอาการซึมเศร้า และมีผลวิจัยว่าส่งผลดีต่อความดันโลหิต
เปปเปอร์มินต์ เป็นกลิ่นที่ให้ความรู้สึกโล่ง โปร่งสบาย สดชื่น ลดอาการคัดจมูก มึนศีรษะ และบรรเทาการปวดเมื่อยได้
ซีดาร์วู้ด คือน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากเปลือกต้นสนซีดาร์ ช่วยในเรื่องผ่อนคลายความเครียด ปรับสภาพการนอนให้หลับง่ายขึ้น
กลิ่นดอกส้ม หรือ เนโรลี คือ กลิ่นที่ทำให้รู้สึกสดชื่น ผ่อนคลาย กระปรี้กระเปร่า
กระดังงา เป็นน้ำมันหอมระเหยที่ให้กลิ่นสงบเย็น ใช้บรรเทาอาการซึมเศร้า บำรุงประสาท ลดความกระวนกระวาย มักใช้ร่วมกับการฝึกจิต นั่งสมาธิ หรือทำโยคะ
โรสแมรี่ เป็นสมุนไพรจากแถมเมดิเตอร์เรเนียน ที่กลิ่นหอมช่วยบรรเทาอาการเวียนหัว ปวดศีรษะ เพิ่มความมีชีวิตชีวา รู้สึกสงบ มีสมาธิ
ทีทรีออยล์ เป็นกลิ่นที่ทำให้รู้สึกสบาย ช่วยฆ่าเชื้อโรคได้
ยูคาลิปตัส เป็นกลิ่นที่ช่วยให้หายใจโล่ง รู้สึกผ่อนคลาย บรรเทาอาการหวัด คัดจมูกได้
กานพลู จัดเป็นน้ำมันหอมระเหยที่อยู่ในหมวดสมุนไพร กลิ่นค่อนข้างเข้ม ช่วยบรรเทาอาการปวด ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดอาการไอ และหอบ
อบเชย เป็นกลิ่นอโรมาที่คล้ายเครื่องเทศอ่อน ๆ ช่วยลดอาการอ่อนเพลีย ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เจริญอาหาร และบำรุงผิวได้ดี
“อโรมาเธอราปี” มีผลข้างเคียง อย่างไรบ้าง
- ปวดศีรษะ
- คลื่นไส้อาเจียน
- ระคายเคืองตา และแสบจมูก
- ผิวหนังมีอาการผิดปกติ เช่น คัน ขึ้นผื่นแดง
- มีอาการภูมิแพ้กำเริบ
ทางที่ดีควรทดสอบน้ำมันหอมระเหยก่อนซื้อมาใช้ว่ามีอาการแพ้หรือไม่ หรือถ้าซื้อมาใช้แล้วมีอาการข้างเคียงควรหยุดใช้ และโดยทั่วไปหลังหยุดการใช้ ฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหยจะตกค้างในร่างกายไม่เกิน 48 ชั่วโมง แล้วผลข้างเคียงก็จะหายไป
เรื่องควรรู้เกี่ยวกับ “อโรมาเธอราปี”
- อโรมาเธอราปีใช้เพื่อบรรเทาอาการทางร่างกาย และอารมณ์ แต่ไม่สามารถใช้แทนยารักษาโรคได้ หากจะใช้เพื่อรักษาโดยเฉพาะควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง และผู้เชี่ยวชาญก่อน
- ก่อนใช้น้ำมันหอมระเหยจริงจัง โดยเฉพาะชนิดที่ต้องสัมผัสผิวหนัง ควรทดสอบอาการแพ้ก่อนเป็นลำดับแรก
- น้ำมันหอมระเหยบางชนิดที่ใช้ทา หรือนวดร่างกาย เช่น น้ำมันหอมระเหยจากเลมอน อาจทำให้ผิวหนังไวต่อแสงแดดมากขึ้น หากใช้เป็นประจำควรหลีกเลี่ยงการออกแดด หรือทาครีมกันแดดให้บ่อยขึ้น
- น้ำมันหอมระเหยในท้องตลาดมีทั้งแบบสังเคราะห์ และสกัดจากธรรมชาติ 100% ควรเลือกน้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติ และหลีกเลี่ยงแบบสังเคราะห์จากเคมี เพราะเมื่อสูดดมเข้าไป หรือใช้นวด ใช้ทาบนผิวหนัง นอกจากไม่ได้ผลดีอย่างที่คิด อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้
ทำความรู้จัก “อโรมาเธอราปี” กันแล้ว อย่าลืมไปหาซื้อน้ำมันหอมระเหยสักกลิ่นมาเพิ่มกลิ่นหอม และความฟินกันนะคะ