อยาก "ฟันขาว" แต่กลัว "หมอฟัน" ทำไงดี ?

อยาก "ฟันขาว" แต่กลัว "หมอฟัน" ทำไงดี ?

 

          เช้าวันหนึ่งคุณแปรงฟันเสร็จแล้วต้องตกใจเมื่อพบว่า "ฟันขาว" หายไป เหลือแค่ "ฟันเหลือง" หม่นหมอง หรือพบว่าเกิดฟันผุ ที่อุดฟันหลุด สิ่งแรกที่นึกถึงคงหนีไม่พ้นการไปพบหมอฟัน  แต่ถ้าคุณเกิดกลัว หาทางเลี่ยงการรักษา ไม่แน่นะ คุณอาจกำลังเป็น “โรคกลัวหมอฟัน” ก็เป็นได้ ?!       

         

          โรคกลัวหมอฟัน หรือ ความหวาดกลัวทางทันตกรรม (Dentophobia) คือ ความกลัว ความวิตกกังวลในการเข้ารับการรักษาทางทันตกรรม เป็นความรู้สึกหวาดกลัวจนทำให้จิตตก เป็นทุกข์ ที่จะต้องไปพบหมอฟันหรือทันตแพทย์  พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งถ้าถามคน 100 คน จะมีคนที่กลัวหมอฟันเพราะมีประสบการณ์ไม่ดีทางทันตกรรมถึง 75 คนเลยล่ะ

 

 

 

สาเหตุของโรคกลัวหมอฟัน

โดยทั่วไปคนที่กลัวการไปพบหมอฟัน กลัวการเข้ารับรักษาทางทันตกรรมมักมีสาเหตุดังนี้  

 

  1. เกิดความกังวลเพราะมีประสบการณ์ทางทันตกรรมไม่ดี เช่น เคยอุดฟัน ถอนฟัน ฟอกฟันขาวแล้วเจ็บมาก หรือมีอาการกลัวเสียงเครื่องมือที่ใช้ทางทันตกรรมจนฝังใจ ทำให้กังวลเพราะมองไม่เห็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น กลายเป็นไม่ชอบหรือกลัวการไปหาหมอฟันในที่สุด

 

 

  1. การกลัวความเจ็บปวด เพราะความอดทนต่อความเจ็บปวดระหว่างการรักษาทางทันตกรรมของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนอดทนได้มาก บางคนอดทนได้น้อย และมีความอ่อนไหวค่อนข้างมาก ทำให้ไม่พร้อมเผชิญหน้ากับความเจ็บปวด และสถานการณ์กดดันที่ควบคุมไม่ได้นั้น ๆ

 

 

  1. บางคนไม่เคยมีประสบการณ์ตรง แต่มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการรักษาทางทันตกรรม เพราะได้ฟัง ประสบการณ์น่ากลัวในการทำฟันจากคนอื่นจนไม่สบายใจ กลัวสิ่งที่ยังมาไม่ถึง และระหว่างการอยู่บนเก้าอี้ทำฟันที่มักโดนผ้าคลุมตาทำให้ไม่เห็นสิ่งที่ทันตแพทย์ทำ แต่กลับได้ยินเสียงชัดเจน ทำให้เกิดจินตนาการทางลบถึงเรื่องน่ากลัว ส่งผลให้กลัวจนกลายเป็นความเครียดได้

 

 

  1. เป็นความอาย กระอักกระอ่วน และลำบากใจ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับหมอฟัน รวมทั้งผู้ช่วยที่ถือเป็นคนแปลกหน้า แล้วเราต้องอ้าปากโชว์ปัญหาในช่องปาก เช่น ฟันผุ กลิ่นปาก คราบฟันเหลืองให้หมอฟันและผู้ช่วยดูและทำบางอย่างเพื่อรักษาอย่างใกล้ชิดทำให้รู้สึกประหม่า ไม่สบายใจจนไม่อยากอยู่ในสถานการณ์นั้น ๆ

 

 

อาการที่แสดงว่าคุณอาจเป็นโรคกลัวหมอฟัน เช่น

           

  • รู้สึกไม่สบายใจเมื่อพูดถึงการไปพบหมอฟัน และพยายามหลีกเลี่ยงการไปพบหมอฟัน เช่น แกล้งลืมวันนัดตรวจฟันประจำ 6 เดือน หรือประจำปี

 

 

  • แม้เริ่มมีปัญหาสุขภาพช่องปาก เช่น ฟันผุ คราบหินปูนเกาะฟัน ฟันเหลืองจนจนเห็นชัด แต่ก็หาเหตุผลเข้าข้างตัวเองว่า ยังไม่จำเป็นต้องไปหาหมอ

 

 

  • เมื่อปัญหาสุขภาพช่องปากเริ่มมากขึ้นถึงขั้นต้องกินยา และกระทบการใช้ชีวิต แต่ก็พยายามแก้ไขด้วยตัวเอง แล้วมีอาการมากขึ้นจนทนไม่ไหวถึงจำยอมไปพบหมอฟัน

 

 

  • เครียด วิตกกังวล และกดดันจนบางครั้งถึงขั้นร้องไห้เมื่อรู้ต้องไปพบหมอฟัน และรู้สึกคลื่นไส้ เวียนศีรษะ นอนไม่หลับช่วงก่อนไปพบหมอฟัน

 

 

  • เหงื่อออก มือเย็น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ไปจนถึงหายใจลำบากระหว่างรอพบหมอฟัน

 

 

ทำอย่างไรถ้ามีอาการกลัวหมอฟัน

ความกลัว และวิตกกังวลต่อการทำฟันเป็นเรื่องแก้ไขได้ โดยเริ่มที่ตัวเอง ดังนี้

 

  1. ทำความเข้าใจความกลัวของตัวเอง

          ความรู้สึกกลัวหมอฟันเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ บางครั้งเป็นแค่ความรู้สึกขัดเขินเพราะไม่คุ้นเคย กรณีที่คุณไม่มีหมอฟันประจำ แต่จำไว้ว่าไม่ว่ากรณีได้สุขภาพช่องปากเป็นเรื่องสำคัญที่คุณต้องดูแล ถ้าคุณหลบเลี่ยงไม่ไปรับการดูแล หรือรักษาจากหมอฟันอาจทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ต่อสุขภาพช่องปากและการใช้ชีวิตได้ ฉะนั้นจงยอมรับว่าคุณกลัวหมอฟัน แล้วหาสาเหตุความกลัวที่เกิดขึ้น เช่น เคยเจอประสบการณ์ไม่ดีระหว่างการไปอุดฟัน เมื่อรู้แล้วก็ลองหาข้อมูลว่า การอุดฟันในปัจจุบันพัฒนาไปอย่างไร มีการอุดแบบไหนบ้าง   การหาข้อมูลหลากหลายเพื่อให้คุณมั่นใจว่า การไปพบหมอฟันเพื่ออุดฟันครั้งต่อไปของคุณจะลดความเสี่ยงที่จะเจอประสบการณ์ไม่ดีอีกครั้ง เป็นการเอาชนะความกลัวด้วยความเข้าใจนั่นเอง

 

 

 

  1. เผชิญหน้ากับความกลัว

            ระหว่างทนต่อความเจ็บปวดเพราะปัญหาโรคในช่องปาก  หรือเผชิญหน้ากับความกลัวในการเข้ารับการรักษากับหมอฟัน ไม่ว่าทางไหนก็สร้างความเครียดได้เหมือนกัน คำแนะนำก็คือเลือกเผชิญหน้ากับหมอฟันไปเลยดีกว่า เพราะการเข้ารับการรักษาทำให้ปัญหา และความเจ็บปวดจากปัญหาในช่องปากได้รับการแก้ไข และสิ่งที่เรากลัวหรือวิตกกังวลอาจไม่เป็นอย่างที่คิดก็ได้

 

 

  1. เลือกหมอฟันที่มั่นใจ

          ถ้าคุณไม่อยากไปหาหมอฟันที่เคยสร้างประสบการณ์ไม่ดีให้คุณ ลองหาข้อมูลคลินิกหรือโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน และน่าไว้ใจ มีความเชี่ยวชาญที่ตรงกับปัญหาของคุณ เพื่อสร้างความมั่นใจและสบายใจในการไปพบหมอฟันครั้งต่อไป  ลองเริ่มจากการเข้าชมเว็บไซต์ หรือเพจของโรงพยาบาลหรือคลินิกทันตกรรมที่น่าสนใจแล้วเข้าไปดูข้อมูล  เมื่อสนใจที่ไหนก็ลองหาการรีวิวจากคนที่เคยไปใช้บริการ

 

 

  1. เปิดใจคุยกับหมอฟัน

          เมื่อเลือกหมอฟันได้แล้วก็ทำการนัดหมาย และควรพูดคุยถึงปัญหาที่เรากลัวเกี่ยวกับการทำฟันเพื่อทำความเข้าใจกันก่อนทำการรักษา เพื่อให้หมอฟันเข้าใจถึงความกลัวของคุณก่อนเพื่อความสบายใจ และถ้าในระหว่างขั้นตอนเกิดความกังวลหรือทนไม่ไหวก็สามารถขอให้หมอฟันหยุดชั่วคราวได้ ซึ่งในปัจจุบันหลาย ๆ คลินิกมีการทำความเข้าใจเรื่องความกลัวหมอของผู้ป่วยได้มากขึ้น มีการเปิดเพลง เปิดทีวีเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ป่วย หรือกระทั่งมีการใช้กลิ่นหอมเพื่อความผ่อนคลายเพิ่มขึ้นด้วย

          บางกรณีที่มีความกลัวต่อการทำฟันมากๆ แต่เมื่อมีเหตุจำเป็นต้องเข้ารับการดูแลรักษาทางทันตกรรม หมอฟันอาจทำการรักษาโดยการให้ยาคลายกังวลเพื่อลดความตื่นกลัว

 

    

 

  1. พาที่พึ่งทางใจไปด้วย

          ถ้าคุณวิตกกังวลและกลัวมาก คุณอาจพาคนในครอบครัวหรือเพื่อนที่ทำให้คุณอุ่นใจไปด้วย แล้วทำการขออนุญาตหมอฟันพาผู้ติดตามเข้าไปในห้องทันตกรรมด้วย โดยอธิบายความจำเป็น และความกลัวของคุณให้หมอฟันเข้าใจ เมื่อมีคนสนิทอยู่ใกล้ ๆ คุณอาจรู้สึกเครียดและกลัวน้อยลง ผ่อนคลายมากขึ้น

 

 

  1. ให้รางวัลตัวเอง

          เมื่อผ่านการพบหมอฟันแล้ว คุณสามารถให้รางวัลตัวเองที่ผ่านพ้นความกลัวมาได้ อาจเป็นการซื้อของเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คุณต้องการ เช่น ซื้อลิปสติกแท่งใหม่ เครื่องประดับเก๋ ๆ สักชิ้น  หรือทำกิจกรรมสนุก ๆ คลายเครียด เช่น ดูภาพยนตร์ ไปคาเฟ่ชิค ๆ ที่อยากไป เป็นต้น  วิธีนี้จะทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นเมื่อนึกถึงการไปหมอฟัน

 

 

  1. มีวินัยในการดูแลสุขภาพช่องปาก

          การมีวินัยในการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ ทั้งเรื่องของการแปรงฟันให้ถูกวิธี ใช้ไหมขัดฟันและน้ำยาบ้วนปาก รวมถึงเลือกกินสิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อฟันและเหงือก จะช่วยให้คุณฟันขาว แข็งแรง ลดโอกาสเกิดโรคในช่องปากได้ หรือถ้าคุณเจอปัญหาฟันเหลือง คุณก็สามารถฟอกฟันด้วยตัวเองได้ด้วยการซื้อเครื่องฟอกฟันขาวที่สามารถทำเองที่บ้านได้มาแก้ไขปัญหาได้เช่นกัน เท่านี้ก็ช่วยให้คุณไม่ต้องเผชิญหน้ากับหมอฟันเกินจำเป็น และไม่ต้องเจ็บปวดกับการรักษาบ่อย ๆ อีกด้วย

 

 

  1. ปรึกษาจิตแพทย์

          สุดท้ายแม้คุณจะเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดจากปัญหาสุขภาพช่องปากอย่างหนัก แต่ก็ยอมก้ำกลืนผจญกับความเครียด และทรมาน แต่ไม่ยอมเข้ารับการรักษาทางทันตกรรมจากหมอฟันเพราะจิตใจไม่ยอมรัรบ รวมทั้งสภาพร่างกายที่แสดงภาวะตึงเครียดอย่างหนักเมื่อต้องไปหาหมอฟัน เช่น ความดันขึ้น แขนขาสั่น อึดอัดเหมือนหายใจไม่ออก ฯลฯ คุณควรลองปรึกษาจิตแพทย์เพื่อบำบัด

 

 

            แม้แต่คนปกติที่ไม่ได้เป็นโรคกลัวหมอฟันก็ใช่ว่าจะชอบใจกับการต้องไปหาหมอฟันบ่อย ๆ ฉะนั้นการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากให้ฟันขาว แข็งแรงอยู่เสมอจึงเป็นเรื่องสำคัญ และยอมไปพบหมอฟันเพื่อเช็คสุขภาพช่องปากทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี เป็นประจำก็จะช่วยให้คุณไม่ต้องเผชิญหน้ากับหมอฟันบ่อย ๆ เพราะปัญหาสารพัดในช่องปากยังไงล่ะ

 

Back to blog