“แผลร้อนใน” เรื่องเล็ก ๆ ที่อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ถ้าถูกมองข้าม

“แผลร้อนใน” เรื่องเล็ก ๆ ที่อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ถ้าถูกมองข้าม

 

 

 

          อากาศภายนอกจะร้อนแค่ไหน หรือในใจจะร้อนรนยังไง เชื่อเถอะว่ามันไม่เจ็บจี๊ดทั้งกายและใจเท่าเป็น แผลร้อนใน แน่ ใครที่เคยเป็นจะรู้ว่าแผลเล็ก ๆ ในช่องปากที่เรียกว่า  ร้อนใน มันทรมานแค่ไหน ขนาดว่ามีฟันขาวแค่ไหนก็ยิ้มไม่ออก  และเพื่อสวัสดิภาพของช่องปากที่ปราศจากร้อนใน คุณจึงควรอ่านบทความนี้

 

            แผลร้อนในคืออะไร ?

          แผลร้อนใน ( Aphthous ulcer) คือ การมีแผลเปื่อยที่เนื้อเยื่อส่วนใดส่วนหนึ่งในช่องปาก  แผลจะมีลักษณะเป็นจุดแดง เป็นตุ่ม อาจดูเปื่อย ๆ  มีสีขาวออกเหลือง  รอบแผลเป็นรอยแดง มีคราบไฟบริน (Fibrin)  ที่ทำให้เลือดแข็งตัวเคลือบแผลอยู่ เมื่อโดนจะเจ็บมาก ขนาดแผลมีได้ตั้งแต่เป็นมิลลิเมตรไปถึงเซนติเมตร และระหว่างมีแผลถ้าคลำขากรรไกรอาจพบว่ามีอาการต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย เกือบทุกคนคงเคยมีประสบการณ์การเป็นแผลในปากมาบ้างแล้วไม่มากก็น้อย ยิ่งพวกเราคนไทยชอบกินอาหารรสจัดแบบไทยๆ ถ้าเจอน้ำพริกตอนเป็นแผลในปาก อาจถึงกับน้ำตาร่วงคาชามข้าวเลยทีเดียว แผลร้อนในถือว่าเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายแต่ประการใด เพียงแต่ทำให้เจ็บปวดน่ารำคาญในระยะ 2-3 วันแรก และจะหายเองได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ นานที่สุดไม่เกิน 3 สัปดาห์ แผลร้อนในเป็นสัญญาณเตือนว่าระบบภูมิต้านทานของร่างกายกำลังแปรปรวน เนื่องจากมีความเครียดทางร่างกายหรือจิตใจ สมควรจะได้พักผ่อนและคลายเครียดได้แล้ว

 

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดร้อนในมีอะไรบ้าง ?

           สาเหตุของการเกิดแผลร้อนใน  พบว่าหากมีสมาชิกในครอบครัวที่มักเป็นแผลร้อนใน ซึ่งอาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือปัจจัยทางสภาพแวดล้อมที่เหมือนกัน เช่น เกิดจากสารก่อภูมิแพ้หรืออาหารบางชนิด รวมไปถึงสาเหตุอื่นๆที่มากระตุ้น ได้แก่

  1. ความเครียดและกังวลในระดับสูง

 

 

  1. ร่างกายขาดน้ำมากเกินไป

 

 

  1. เล่นกีฬาแล้วเกิดอุบัติเหตุมีแผลในช่องปาก หรือเผลอกัดกระพุ้งแก้ม กัดลิ้นตัวเอง

 

 

  1. ขาดวิตามินและเกลือแร่บางชนิด เช่น วิตามินบี ธาตุเหล็ก และสังกะสี 

 

 

 

  1. แพ้สารเคมีบางอย่างในยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปาก

 

 

  1. แพ้อาหารในคนบางกลุ่ม เช่น แพ้อาหารรสจัด อาหารกรดสูง แพ้กาแฟ - ช็อกโกแลต ฯลฯ

 

 

  1. เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด หรือเป็นโรคติดเชื้อไวรัส เช่น เริม

 

 

  1. เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศ เช่น ผู้หญิงก่อนมีประจำเดือนและระหว่างมีประจำเดือน มีแนวโน้มจะเกิดร้อนในได้ง่าย

 

 

  1. มีความผิดปกติในระบบภูมิคุ้นกัน หรือเป็นอาการโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคหลอดเลือดอักเสบที่เรียกว่า เบเซ็ท (Behcet’s disease)

 

 

ร้อนในแบ่งความรุนแรงได้ 3 ระดับ ดังนี้

 

 

  1. ระดับไมเนอร์ (Minor ulcer) พบได้บ่อยสุดถึง 80% ของคนที่เป็นร้อนใน เป็นแผลเปื่อยขนาดเล็กและตื้น หายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์
  2. ระดับเมเจอร์ (Major ulcer) พบได้ประมาณ 10-15% ของคนที่เป็นร้อนใน ลักษณะแผลจะใหญ่และลึก มักเกิดในตำแหน่งเนื้อเยื่อที่เคลื่อนไหวได้ของช่องปาก เช่น ด้านข้างลิ้น เป็นแล้วหายช้าและเกิดซ้ำที่เดิมได้อีก ถ้า 2 สัปดาห์แล้วไม่หายควรปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  3. ระดับเฮอร์เพติฟอร์ม (Herpetiform ulcer) พบได้น้อยมาก แต่เป็นระดับรุนแรงสุด ลักษณะจะเป็นแผลเล็ก ๆ หลายแผลกระจายทั่วช่องปาก รู้สึกเจ็บระบมมาก ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์  มักใชเวลาร่วมเดือนจึงหาย และมักเกิดพังผืดหรือแผลเป็นบริเวณนั้น

 

อาการจากการเป็นแผลร้อนใน?

  • คนที่เป็นแผลร้อนในจะรู้สึกเจ็บในปาก เมื่อตรวจดูจะพบมีแผลตื้นๆ ขอบแผลแดง ตรงกลางแผลเป็นสีขาวปนเหลือง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-5 มิลลิเมตร บางครั้งอาจมีขนาด 7-15 มิลลิเมตร ขึ้นที่เยื่อบุในช่องปาก ตำแหน่งที่พบบ่อยได้แก่ ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม บนลิ้น ใต้ลิ้น ส่วนน้อยอาจพบได้ที่เพดานปาก เหงือก หรือต่อมทอนซิล 
  • ในระยะ 2-3 วันแรกจะรู้สึกปวดมากจนทำให้พูดลำบาก โดยเฉพาะถ้าขึ้นตรงโคนลิ้น หรือหลังต่อมทอนซิล ซึ่งอาจจะมองไม่เห็นจากภายนอก ยิ่งถ้ากินถูกของเผ็ดหรือเปรี้ยวจัดจะรู้สึกปวดแสบทรมานมากขึ้น ต่อมาอีก 5-7 วัน จะพบว่า มีเยื่อเหลืองๆปกคลุมที่ผิวของแผลแล้วจะค่อยๆหายปวดและหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยจะไม่เป็นแผลเป็น ยกเว้นถ้าเป็นแผลขนาดใหญ่และลึกอาจมีรอยแผลเป็นได้
  • ส่วนมากจะไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ ยกเว้นในรายที่เป็นรุนแรง อาจมีอาการไข้ อ่อนเพลีย ร่วมด้วย แผลร้อนในอาจกำเริบซ้ำได้เป็นครั้งคราวเมื่อร่างกายอ่อนแอหรือมีความเครียด บางคนอาจเป็นเพียงปีละ 1-2 ครั้ง แต่บางคนอาจเป็นเดือนละครั้ง หรือ 2-3 เดือนครั้ง ซึ่งแต่ละคนไม่สามารถเป็นเท่ากันได้ อยู่ที่ร่างกายของแต่ละคน
  • แผลร้อนในมักพบที่เยื่อเมือกในช่องปาก ได้แก่ ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น หรือใต้ลิ้น ลักษณะของแผลเริ่มแรกจะเป็นจุดสีขาวๆ เมื่อนูนขึ้นจะกลายเป็นสีแดง ต่อมาเยื่อเมือกบริเวณนี้จะกลายเป็นสีขาวปนเหลืองปกคลุมแผล ขอบแผลจะแดงและเจ็บปวดมาก บางคนเป็นมากถึงกับเป็นไข้ มีต่อมน้ำเหลืองใต้คางโต หรือมีอาการปวดฟันร่วมด้วย
  • ระยะต่อมาแผลเกิดการอักเสบ เมื่อมีอะไรไปโดนแผลจะเจ็บปวดมาก อย่างเช่นการพูด และการกินจะลำบากมากขึ้น ปกติแผลร้อนในจะมีขนาดไม่เกิน 5 มิลลิเมตร อาจเป็นแผลเดี่ยวๆ หรือหลายแผลกระจายอยู่บนเยื่อบุช่องปาก ถ้าขนาดเล็กมักหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าแผลใหญ่มากเกิน 10 มิลลิเมตร จะเจ็บปวดมาก บางครั้งเป็นอยู่นานเป็นเดือน

 

ภาวะแทรกซ้อนของแผลร้อนใน?

           หากเป็นแผลร้อนใน และปล่อยไว้โดยไม่ได้รักษาเป็นเวลานาน อาจจะทำให้มีผลข้างเคียงต่างๆได้ ได้แก่

1.จะทำให้เกิดความเจ็บและลำบากในการพูด แปรงฟัน หรือรับประทานอาหาร

2.เกิดความอ่อนเพลีย อ่อนล้า

3.มีอาการเป็นไข้

4.เกิดการอักเสบของผิวหนังบริเวณใกล้ๆ

 

แผลในช่องปากเป็นสัญญาณเตือนว่าอาจจะเป็นมะเร็งในช่องปาก?

            แผลในช่องปาก ในบางกรณีอาจสื่อให้ถึงโรคมะเร็งในช่องปากได้ นั่นคือการเป็นแผลเรื้อรังในช่องปาก หากมีฝ้าขาวๆ หรือแดง ที่เยื่อบุในช่องปาก มีตุ่มหรือก้อนโดยขนาดของก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มีอาการฟันโยกฟันหลุด มีปัญหาเรื่องการเคี้ยวหรือการกลืนอาหาร นี่แหละคือสัญญาณว่าอาจจะเป็นมะเร็งในช่องปาก ดังนั้น ควรมีการดูแลรักษาให้ถูกวิธี

 

วิธีป้องกันการเกิดแผลร้อนใน

  1. หมั่นดูแลสุขอนามัยในช่องปาก
  2. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่แพ้
  3. แปรงฟันหลังรับประทานอาหารแต่ละมื้อเป็นประจำ
  4. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของโซเดียม ลอริล ซัลเฟต
  5. พักผ่อนให้เพียงพอ

.        

แผลร้อนในควรดูแลรักษาอย่างไร?

          แผลร้อนในสามารถหายได้ด้วยตัวเองภายใน 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้ด้วยการรักษาสุขอนามัยในช่องปาก ยกตัวอย่างเช่น ควรแปรงฟันโดยใช้แปรงที่มีขนอ่อนนุ่ม และใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก หรือหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด เพื่อช่วยลดอาการได้ รวมไปถึงดื่มนม รับประทานโยเกิร์ตหรือไอศกรีม ก็สามารถช่วยลดความเจ็บปวดจากแผลร้อนในได้โดยมีวิธีในการดูแลตัวเองอื่นๆ ดังนี้

  1. รับประทานอาหารรสอ่อน ย่อยง่าย  

 

 

  1. ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

 

 

  1. พักผ่อนให้เพียงพอ อย่านอนดึก

 

 

  1. ลองเปลี่ยนยาสีฟัน และน้ำยาบ้วนปาก เพราะร้อนในอาจจากแพ้สารในยาสีฟัน หรือน้ำยาบ้วนปาก

 

 

  1. อมน้ำเกลืออุ่น ๆ วันละ 2 – 3 ครั้ง

 

 

  1. ใช้ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ร่วมกับยารักษาแผลในปากที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                        
  2. ถ้า 2 สัปดาห์ไม่ดีขึ้น และรู้สึกมีไข้ด้วยอาจเกิดแผลติดเชื้อ ควรพบแพทย์ทำการรักษา

 

                                   

อยากหายจากร้อนในต้องซื้อยาให้เป็น ดังนี้

        ต้องรู้ก่อนว่ายารักษาร้อนในมีทั้งแบบ มีสเตรียรอยด์ ที่ออกฤทธิ์เร็ว หายไว แต่ใช้นานเกินไปจะทำให้เนื้อเยื่อในช่องปากที่โดนยาบางลงและระคายเคืองได้ง่าย  ส่วนแบบ ไม่มีสเตรียรอยด์ ปลอดภัยแต่เห็นผลช้า เหมาะกับเด็ก คนที่ช่องปากเปราะบาง และคนแพ้สเตรียรอยด์ โดยยารักษาร้อนในทั่วไปมี  4 ชนิด คือ

 

 

  1. แบบป้าย บรรจุในหลอด ใช้ง่าย บีบยาลงบนปลายนิ้วที่สะอาดแล้วป้ายที่แผล ตัวยาจะเคลือบแผล ลดความเจ็บปวด เหมาะกับแผลค่อนข้างใหญ่ กระจายตัวเป็นวงกว้าง แต่ไม่เหมาะกับเด็กอายุน้อย                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                   
  2. แบบแผ่นแปะ : ตัวยามาจากธรรมชาติ ผลข้างเคียงน้อย เหมาะกับแผลขนาดเล็ก รักษาได้ตรงจุด ป้องกันแผลไม่ให้มีอะไรกระทบ แต่โดนน้ำลายแล้วหลุดง่าย ไม่เหมาะกับแผลขนาดใหญ่

 

 

  1. แบบน้ำ ใช้การพ่นแบบสเปรย์ (spray) หรือ หลอดหยด(dropper) ใช้ง่าย ไม่ต้องระวังตัวยาหลุดจากแผล รักษาแผลที่อยู่ลึกใกล้คอได้ มีข้อเสียคือ ตัวยาสลายง่าย ต้องพ่นหรือหยดบ่อย ๆ                                                                                                                

 

 

  1. แบบรับประทาน มีทั้งยาเม็ด ยาน้ำ และยาผง (ละลายน้ำก่อนดื่ม) มีส่วนผสมของวิตามินดี ลดการอักเสบของแผลได้ แต่ออกฤทธิ์ช้า เหมาะกับคนร้อนในเรื้อรัง ใช้คู่กับยาชนิดอื่นจะได้ผลดียิ่งขึ้น                                                                                                          

 

 

      รู้ลึกเรื่องการป้องกัน และรักษา “แผลร้อนใน” กันแล้ว คราวนี้ก็จะได้ฉีกยิ้มกันเต็มที่ ไม่ต้องแอบซี๊ดเพราะเจ็บแผลเล็กแต่แสนระบมในช่องปากกันแล้วนะทุกคน

 

 

Back to blog