รังสียูวี เกี่ยวข้องอย่างไรกับการดูแลสุขภาพช่องปาก

รังสียูวี เกี่ยวข้องอย่างไรกับการดูแลสุขภาพช่องปาก

 

 

            รังสียูวี” หรือ “รังสีอัลตราไวโอเลต” จากแสงแดด ถือเป็นสิ่งที่เราต้องพบเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในทุกวัน แต่รังสียูวีให้ทั้งคุณและโทษต่อร่างกาย แล้วกับสุขภาพช่องปากล่ะ รังสียูวีส่งผลดี ผลเสียอย่างไรบ้าง มาฟังคำตอบกันค่ะ

 

“รังสียูวี” คืออะไร ?

          รังสียูวี (UV) หรือ รังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet) หรือที่ในภาษาไทยเรียกว่า รังสีเหนือม่วง เป็นพลังงานรูปแบบหนึ่งที่มีแหล่งกำเนิดมาจากดวงอาทิตย์ หรือแสงแดด มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เป็นพลังงานที่เดินทางผ่านสื่อกลางในรูปแบบคลื่นระหว่าง 40-400 นาโนเมตร ถือเป็นพลังงานธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาไปมาก มนุษย์จึงคิดค้นอุปกรณ์ที่สามารถปล่อยรังสียูวีออกมาได้ เช่น หลอดแบล็คไลท์ (Black Lights) หลอดไฟยูวี เครื่องทำผิวแทน (Tanning Booth) ฯลฯ

 

 

“รังสียูวี” มีกี่ชนิด ?

          รังสียูวี แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด หลัก ๆ ตามลักษณะความยาวของคลื่น ดังนี้  

 

 

  1. รังสียูวีเอ (UVA) มีความยาวคลื่นอยู่ในช่วง 315-400 นาโนเมตร เป็นระยะคลื่นที่มาถึงตัวคนเราที่พื้นโลกมากที่สุด เพราะชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกของเราไม่สามารถดูดซับรังสียูวีเอไว้ได้เท่าไหร่นัก จึงถือเป็นรังสีที่เป็นอันตรายที่สุดหากร่างกายได้รับในปริมาณมาก

 

  1. รังสียูวีบี (UVB) มีความยาวคลื่นอยู่ในช่วง 280-315 นาโนเมตร เป็นระยะคลื่นที่มาถึงตัวคนเราที่พื้นโลกได้บางส่วน เพราะแม้ชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกจะดูดซับรังสียูวีบีไว้ไม่ได้ทั้งหมด ทำให้เล็ดลอดลงมาที่พื้นโลกได้ แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ชั้นบรรยากาศยังดูดซับไว้ได้บ้าง

 

  1. รังสียูวีซี (UVC) มีความยาวคลื่นอยู่ในช่วง 100-280 นาโนเมตร เป็นระยะคลื่นที่โดยปกติแล้วชั้นบรรยากาศโลกจะช่วยดูดซับไว้ได้ทั้งหมด ทำให้รังสียูวีซีถูกกันไว้ในชั้นโอโซน แต่มีการศึกษาพบว่า รังสียูวีซีสามารถฆ่าเชื้อโรคได้มากถึง 99.99 %  ในปัจจุบันมีการคิดค้นรังสียูวีซีแบบสังเคราะห์ขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และอีกหลาย ๆ ด้าน

 

“รังสียูวี” สังเคราะห์ ฆ่าเชื้อโรคได้ ?

          มนุษย์ใช้รังสียูวีในแสงแดดฆ่าเชื้อโรคมานานร่วมร้อยปี ยิ่งในปัจจุบันที่วิทยาศาสตร์พัฒนาไปไกล จึงมีการคิดค้นรังสียูวีซี (UV-C) แบบสังเคราะห์ เพื่อใช้ทางการแพทย์ และเพื่อฆ่าเชื้อโรค เรียกกันว่า หลอดไฟ UVC  หรือ หลอดไฟสีฟ้า ที่เป็นการฆ่าเชื้อบนพื้นผิววัตถุผ่านกระบวนการ UVGI (Ultraviolet Germicidal Irradiation) โดยมีผลวิจัยว่า รังสียูวีซีสามารถฆ่าเชื้อไวรัส แบคทีเรีย ยีสต์ และโควิด – 19 ได้ถึง 99.99 %  โดยระยะความยาวคลื่นแสงยูวีซีที่ฆ่าเชื้อได้ดีที่สุดคือ 260 นาโนเมตร 

          ปัจจุบันในยุคที่โรคโควิดยังเป็นปัญหาระดับโลก อุปกรณ์ฆ่าเชื้อจากรังสียูวีซีจึงเป็นเรื่องจำเป็น และลดขนาดลงมาเป็นอุปกรณ์ฆ่าเชื้อในครัวเรือนที่ใกล้ตัวคนเรามากยิ่งขึ้น เช่น อุปกรณ์ฆ่าเชื้อโรคที่ช้อนส้อมในโรงอาหาร เครื่องฟอกอากาศแบบมีระบบฆ่าเชื้อโรค เครื่องทำความสะอาดแปรงสีฟันด้วยรังสียูวี หลอดไฟรังสียูวีซี เป็นต้น

 

 

 “รังสียูวี” มีประโยชน์อย่างไรบ้าง ? 

  1. รังสียูวีบีช่วยกระตุ้นร่างกายผลิตวิตามินดี (Vitamin D) ที่สำคัญต่อต่อระบบภูมิคุ้มกัน การสร้างเม็ดเลือด และการดูดซึมแคลเซียม และฟอสฟอรัส ที่สำคัญต่อกระดูกและฟัน  ถ้าร่างกายได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอจะทำให้เกิดกระดูกพรุน และฟันผุได้ เวลาที่เราจะได้รับรังสียูวีบีจากแสงแดดที่ดีที่สุดคือ  00 – 09.00 น. แต่ควรเลี่ยงแสงแดดช่วง 09.00 – 14.00 น. เพราะเป็นช่วงที่รังสียูวีเป็นอันตรายต่อร่างกาย

 

 

  1. รังสียูวีสามารถใช้ในทางการแพทย์ได้หลายอย่าง เช่น 

          2.1 ใช้รักษาโรคด่างขาว (Vitiligo) ด้วยการใช้ยาซอลาเรน ( PUVA ) ที่ทำให้ผิวหนังตอบสนองรังสียูวีไวขึ้น จากนั้นจึงใช้รังสียูวีเอฉายไปที่ผิวหนังบริเวณที่เป็นด่างขาว จะทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นสีเข้มขึ้น แต่การรักษาด่างขาวด้วยวิธีนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งผิวหนังได้

 

 

 

         2.2  โรคสะเก็ด (Psoriasis) เงินที่เกิดจากปัญหาระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ส่งผลให้เซลล์ผิวหนังทำงานผิดปกติ  มีอาการอักเสบ ทำให้เกิดผื่นหนาสีแดงหรือสีขาวเงินที่ร่างกาย หนึ่งในวิธีรักษาโรคสะเก็ดเงินคือ ฉายรังสียูวีเอควบคู่กับการใช้ยาซอลาเรนคล้ายการรักษาโรคด่างขาว

 

 

          2.3 โรคลูปัส (Lupus Vulgaris) คืออาการที่เกิดจากการติดเชื้อวัณโรคที่ผิวหนัง ทำให้มีผื่นนูนใหญ่ขึ้นมาบริเวณใบหน้า และลำคอ  รักษาได้ด้วยการฉายรังสียูวีบี แต่ปัจจุบันนิยมรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเป็นหลัก

 

 

          2.4 โรคกระดูกอ่อนในเด็ก (Rickets) อายุ 6 เดือน - 3 ขวบ มีสาเหตุมาจากการขาดวิตามินดี แคลเซียม และฟอสเฟต ทำให้กระดูกอ่อนแอ ไม่โตตามพัฒนาการ และอาจทำให้กระดูกผิดรูปได้ วิธีรักษาที่ง่ายที่สุดคือ ให้ร่างกายได้รับรังสียูวีตามธรรมชาติจากแสงแดด และบำรุงวิตามินดีจากการรับประทานน้ำมันตับปลา และอาหาร เช่น นม ไข่ เนื้อปลา เครื่องในสัตว์ น้ำส้ม น้ำมันตับปลา เป็นต้น

 

 

 

การได้รับ “รังสียูวี” มากเกินไปมีผลเสีย คือ

           การได้รับรังสียูวีจากแสงแดดมากเกินไป (มากกว่า 20,000 IU / วัน ) ทำให้ร่างกายได้รับวิตามินดีในปริมาณสูงเกินความจำเป็นต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ  จะทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายหลายประการดังนี้  

 

          ผลเสียต่อผิวหนัง ทำให้เม็ดสีผิวเมลานินเพิ่มปริมาณมากผิดปกติส่งผลสีผิวคล้ำขึ้น ถ้าได้รับรังสียูวีปริมาณสูงขึ้นก็อาจทำให้ผิวไหม้เนื่องจากผิวหนังชั้นนอกถูกทำลาย มีภาวะแพ้แดด ผิวสูญเสียความชุ่มชื้น เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังถูกทำลายจนเกิดริ้วรอย และในระดับรุนแรงอาจส่งผลเสียถึงระดับเซลล์จนทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้

 

 

          ผลเสียต่อดวงตา ทำให้เยื่อบุตา หรือกระจกตา ระคายเคืองจนเกิดอักเสบ เสี่ยงต่อการเป็นต้อกระจก เพราะโดนรังสียูวีทำลายเลนส์แก้วตา เสี่ยงเป็นต้อเนื้อเนื่องจากเนื้อบริเวณเยื่อบุตายื่นเข้าไปที่ตาดำ และร้ายแรงสุดอาจถึงขั้นตาบอดได้

 

 

          ผลเสียต่อภูมิคุ้มกัน ถือเป็นผลเสียที่รุนแรง เพราะรังสียูวีทำลายลึกไปถึงดีเอ็นเอ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายต่าง ๆ มากขึ้น และเมื่อไม่สบายก็จะมีอาการรุนแรงกว่าที่ควรจะเป็น  

 

 

          ผลเสียต่อกระดูก การได้รับรังสียูวีมากเกินไปทำให้ร่างกายมีแคลเซียมสะสมมากเกินความจำเป็น ส่งผลให้แคลเซียมส่วนเกินเข้าเกาะตามอวัยวะต่าง ๆ และการมีแคลเซียมมากเกินไปไม่ได้ทำให้กระดูกแข็งแรง แต่กลับทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน 

 

 

          ผลเสียต่อฟันและช่องปาก รังสียูวีปริมาณมากที่ทำให้ร่างกายมีแคลเซียมเกินความต้องการทำให้ฟันเปราะ แตกหักง่าย และอาจทำให้เกิดฟันผุขั้นรุนแรงในเด็กเล็กได้  แต่ที่ร้ายแรงคือเสี่ยงต่อการเป็น มะเร็งช่องปาก (Oral cancer) เนื้อร้ายในช่องปากอาจเกิดขึ้นได้ทุกที่ เช่น ลิ้น เหงือก ริมฝีปาก เพดานปาก ต่อมทอนซิล ฯลฯ ความจริงแล้วมะเร็งช่องปากเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ  แต่การได้รับรังสียูวีมากเกินไปกลับเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งช่องปากถึง 30 %

 

 

“รังสียูวี” กับฟันปลอมเกี่ยวข้องกันอย่างไร ? 

          บ้านไหนที่มีผู้สูงอายุที่ใส่ฟันปลอมอยู่ อย่าลืมเตือนกันว่า ห้ามนำฟันปลอมไปตากแดดเด็ดขาด แม้ว่ายูวีในแสงแดดจะช่วยฆ่าเชื้อได้ แต่สำหรับฟันปลอมแล้ว มีแต่ผลเสีย เพราะนอกจากอาจมีสิ่งสกปรกปลิวมาติด หรือมีแมลงต่าง ๆ มาเกาะทำให้เกิดเชื้อโรคได้แล้ว ฟันปลอมที่ได้รับความร้อนจากรังสียูวีในแสงแดดอาจบิดเบี้ยวผิดรูป หรือแห้งเปราะจนเสื่อมสภาพอีกด้วย

 

 

การฟอกสีฟันด้วย “รังสียูวี” อันตราย ?       

             หลายปีก่อนมีวิธีการฟอกสีฟันที่เรียกว่า การฟอกสีฟันด้วยแสงยูวี เป็นที่นิยมกันมาก ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีคลินิกหลายแห่งยังใช้วิธีนี้ในการฟอกสีฟันอยู่ โดยอ้างถึงผลที่ได้ ว่าทำให้ฟันขาวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งที่ความจริงแล้ว การฟอกสีฟันด้วยแสงยูวีทำให้ฟันดูขาวเพียงชั่วคราว แต่กลับส่งผลเสียระยะยาว เพราะเมื่อเนื้อเยื่อในช่องปากสัมผัสกับแสงยูวีจะทำให้เคลือบฟันถูกทำร้าย เนื้อฟันแห้งจนเกิดการเสียวฟัน และเสี่ยงต่อการได้รับรังสียูวีในปริมาณสูง ทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น มีเลือดออกที่เหงือก เกิดแผลไหม้ในช่องปาก และทำให้เนื้อเยื่อในช่องปากอักเสบหรือติดเชื้อได้

 

 

          “รังสียูวี” ไม่ว่าจะมาจากแสงแดดตามธรรมชาติ หรือเป็นรังสีสังเคราะห์ที่สร้างขึ้นจากฝีมือมนุษย์ ล้วนแต่มีทั้งประโยชน์ และผลเสีย อยู่ที่เราจะเลือกรับให้ร่างกายได้สมดุล และถูกวิธีหรือไม่ แต่สายเฮลตี้แบบชาว Linee เรื่องแค่นี้สบายอยู่แล้ว จริงไหมคะ ?!

 

 

 

             

Back to blog