"ฟันห่าง" แก้ไขได้ ด้วยการ "จัดฟัน" เท่านั้น ใช่หรือไม่ ?

"ฟันห่าง" แก้ไขได้ ด้วยการ "จัดฟัน" เท่านั้น ใช่หรือไม่ ?

 

 

            เวลาส่องกระจก คุณเคยสังเกตไหมว่า  นอกจากความขาวสะอาด ปราศจากฟันเหลืองแล้ว ฟันของคุณเรียงตัวเป็นระเบียบดีแค่ไหน ช่องว่างระหว่างซี่ฟันแอบห่างเหินไม่แนบชิดติดกันจนเศษอาหารมักไปติดอยู่ ทำให้เวลาถ่ายรูปแล้วไม่กล้ายิ้มเห็นฟัน เพราะมันทำให้ฟันคุณดูแปลก ๆ หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้น คุณอาจกำลังเจอปัญหา ฟันห่าง (diastema) อยู่ก็เป็นได้

 

 

"ฟันห่าง" คืออะไร ?

             ฟันห่าง คือ การที่มีช่องว่างระหว่างฟันซี่ต่อซี่มากจนเห็นความห่างของฟันได้ชัดเจน โดยเฉพาะบริเวณฟันหน้า ส่วนใหญ่ที่ฟันห่างจนเป็นปัญหาคือ ห่างมากกว่า 0.5 มิลลิเมตร โดยอาการนี้เป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งฟันน้ำนมและฟันแท้ เมื่อเป็นแล้วจะส่งผลต่อการพูด ทำให้มีน้ำลายกระเด็นออกมา และทำให้ไม่มั่นใจในตัวเองเวลาพูดหรือยิ้ม แล้วยังทำให้มีเศษอาหารติดได้ง่าย ส่งผลทำให้ซอกฟันและเหงือกมีปัญหาได้ง่ายอีกด้วย

 

 

 

สาเหตุที่ทำให้เกิด “ฟันห่าง”  มีดังนี้ 

  1. ฟันมีขนาดเล็กกว่าขากรรไกร ส่งผลให้การเรียงตัวของฟันมีระยะห่างระหว่างซี่มากขึ้น เพื่อให้ฟันกระจายเต็มพื้นที่ขากรรไกร โดยขนาดของฟันกับขากรรไกรอาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จากพันธุกรรม ถ้าพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย มีฟันห่าง ลูกหลานก็มีโอกาสเกิดฟันห่างได้เช่นกัน

 

 

 

  1. โรคเหงือก ถ้าคุณมีอาการติดเชื้อที่เหงือกอย่างรุนแรง หรือเรื้อรัง ก็จะส่งผลทำให้เกิดฟันห่างได้ เพราะการอักเสบทำให้เหงือกมีสภาพผิดปกติ บวมแดง ส่วนที่รองรับฟันก็ไม่แน่นหนาอย่างเคย จนทำให้เกิดฟันโยก และมีช่องว่างระหว่างซี่ฟันเพิ่มขึ้นได้ ส่งผลต่อเนื่องทำให้ฟันไม่แข็งแรง  แล้วยังเกิดอาการเลือดออกตามไรฟันอีกด้วย

 

 

  1. ฟันหลุดหรือถอนฟัน การที่มีฟันขาดไปแม้แต่ซี่เดียวในช่องปาก อาจกระทบทำให้ความมั่นคงของฟันไม่เหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นจากสาเหตุการถอนฟันออกไป หรือเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดฟันหลุด ล้วนแต่ทำให้การเรียงตัวของฟันที่เหลือไม่แข็งแรงเหมือนปกติ จนเป็นสาเหตุให้เกิดฟันห่างได้

 

 

  1. ความผิดปกติของเนื้อเยื่อที่ยึดเกาะใต้ลิ้นกับพื้นที่ด้านล่างของช่องปาก หรือเนื้อเยื่อใต้ริมฝีปากบนกับเหงือก ถือเป็นเนื้อเยื่อที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการช่องปากขณะเป็นทารกอยู่ในครรภ์  ถ้าหากใครมีเนื้อเยื่อบริเวณนี้มากเกินไปก็จะส่งผลทำให้ฟันหน้ามีระยะห่างผิดปกติ

 

 

  1. เนื้อเยื่อขอบเหงือกมากเกินไป คือถ้ามีเนื้อเยื่อขอบเหงือกที่ฟันหน้าส่วนบนมากเกินไป จะส่งผลให้ฟันถูกเบียด หรือขวาง  ทำให้ฟันแต่ละซี่ไม่แนบชิดกัน แต่ค่อย ๆ ห่างจากกัน จนจนเกิดช่องว่างมากขึ้นได้

 

 

  1. ฟันงอกผิดปกติ ถ้าใครบังเอิญมีฟันงอกเกินจำนวนปกติ หรืองอกผิดตำแหน่ง เช่น บริเวณกระดูกขากรรไกร แล้วมีการเบียดบังไม่ให้ฟันซี่ปกติงอกขึ้นมาได้ จะส่งผลเสียทำให้เกิดช่องว่างระหว่างฟัน ซึ่งกรณีนี้หากมีการถอนฟันที่เกินออกไป ก็ยังทำให้เกิดช่องว่างระหว่างฟันได้ไม่ต่างกัน 

 

 

  1. พฤติกรรมดูดนิ้ว ถ้ามีเด็กที่ชอบดูดนิ้วอยู่ ให้พยายามทำให้เลิกนิสัยนี้เสีย เพราะการดูดนิ้วเป็นประจำ เป็นพฤติกรรมทำร้ายฟัน จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดฟันหน้าห่างได้

 

 

  1. พฤติกรรมลิ้นดันฟัน เป็นอาการที่เด็กหรือผู้ใหญ่มีการกลืนอาหารที่ผิดปกติ คือ มีการใช้ลิ้นดันฟันหน้าขณะกลืนอาหารแทนที่จะใช้ลิ้นแตะที่เพดานปากอย่างคนทั่วไป ทำให้เกิดแรงดันที่ฟันหน้ามากเกินไป เมื่อเกิดซ้ำ ๆ บ่อย ๆ จะทำให้ฟันค่อย ๆ ห่างกันโดยไม่รู้ตัว

 

 

  1. พฤติกรรมใช้ไม้จิ้มฟัน ที่ผิดวิธี บ่อยเกิดไป หรือรุนแรงเกินไป เมื่อต้องการกำจัดเศษอาหารระหว่างซอกฟัน เป็นสาเหตุหนึ่งที่มีช่องว่างระหว่างฟันเพิ่มขึ้นจนเกิดฟันห่างได้

 

 

ถ้ามีอาการ “ฟันห่าง” ผลที่เกิดขึ้น คือ

ขาดความมั่นในในตัวเอง

 

เศษอาหารติดซอกฟันง่าย ต้องดูแลเป็นพิศษ

 

 

มีกลิ่นปากได้ง่าย

 

 

อาจเกิดเลือดออกตามไรฟันได้

 

 

ถ้ามีสาเหตุจากโรคเหงือกและความผิดปกติบางประการจะส่งผลต่อการเคี้ยวได้

 

 

ฟันหลวม ไม่มั่นคง

 

 

“ฟันห่าง” แก้ไขได้ด้วยวิธี “จัดฟัน” เท่านั้น ใช่หรือไม่?

           ไม่ใช่ ! ความจริงแล้ววิธีแก้ไขฟันห่างมีได้หลายวิธี บางครั้งถ้าต้นเหตุของการฟันห่างไม่ได้มีมาจากความผิดปกติในช่องปาก หรือการเกิดโรคเหงือก จนเกิดผลร้ายแรงก็อาจไม่จำเป็นต้องรักษา เพราะไม่กระทบต่อสุขภาพช่องปากและการใช้ชีวิต แต่ถ้าฟันห่างทำให้ไม่มีความสุข ไม่มั่นใจในการใช้ชีวิต ลองปรึกษาทันตแพทย์ก่อนได้ เพราะในปัจจุบันมีวิธีแก้ไขปัญหาฟันห่างได้หลายวิธี ดังนี้

 

  1. การจัดฟัน การจัดฟันเป็นวิธีแรกที่คนนึกถึงเมื่อต้องการแก้ไขปัญหาฟันห่าง และการเรียงตัวของฟันไม่ปกติ เหมือนเป็นการซ่อมแซมโครงสร้างฟันให้กลับมาเรียงตัวชิดกันอย่างเป็นระเบียบมากขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นวิธีที่ใช้เวลามาก และมีค่าใช้จ่ายพอสมควร และต้องไปพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ส่วนจะใช้การจัดฟันแบบใด เช่น การติดเครื่องมือในช่องปาก แบบใส หรือแบบถอดอุปกรณ์ได้ ขึ้นอยู่กับทันตแพทย์วินิจฉัย ส่วนใหญ่การจัดฟันเหมาะกับคนที่ฟันห่างค่อนข้างมาก แต่กรณีที่คนไข้เป็นเด็กที่ยังมีชุดฟันน้ำนม ทันตแพทย์มักแนะให้รอฟันแท้ขึ้นก่อน เพราะฟันและเหงือกยังเติบโตได้อีก

 

 

  1. การอุดฟัน เป็นวิธีที่นิยมมาก เป็นการอุดช่องว่างระหว่างซี่ฟันโดยวัสดุที่สีคล้ายฟัน ทำให้ซี่ฟันดูใหญ่ขึ้น เติมเต็มพื้นที่ว่างจนฟันดูชิดติดกันดี  ใช้แก้ปัญหาฟันห่างแบบที่เป็นไม่มาก ทำให้ฟันดูเรียงตัวสวย ดูเป็นธรรมชาติ ใช้เวลาไม่นาน (30 – 40 นาที)  มีลักษณะคล้ายการอุดฟัน แต่แทบไม่ต้องกรอฟันเลย น้อยมากที่ต้องทำ แล้วยังเป็นวิธีที่ราคาสบายกระเป๋าตังค์ แต่มีเรื่องต้องระวังคือ การใช้ฟันกัดแทะอาหารที่เหนียวหรือแข็งอาจทำให้ส่วนที่อุดบิ่นหรือแตกได้ และต้องรักษาความสะอาดให้ดีสม่ำเสมอ เพราะถ้ามีเศษอาหารติดซอกฟันจะทำความสะอาดยากมาก

 

 

  1. เคลือบฟันเทียมหรือวีเนียร์ คือการอุดเพื่อเชื่อมช่องว่างระหว่างฟันห่าง ด้วยการใช้วัสดุที่สีเหมือนฟันมาปิดช่องว่างระหว่างซี่ฟัน แล้วครอบฟันไว้  แต่ถ้าช่องว่างระหว่างซี่ฟันเกิดจากฟันหลุด  อาจต้องแก้ไขด้วยการทำสะพานฟัน วีเนียร์ช่วยแก้ไขปัญหาฟันห่างได้ในกรณีที่ช่องว่างระหว่างซี่ฟันไม่มากนัก เป็นการเติมช่องว่างด้วยพอร์ซเลนวีเนียร์ โดยมีเรซินเป็นวัสดุยึดติดกับผิวฟัน แล้วใช้แสงทำให้เรซินแข็งอยู่ตัวก่อนจะเคลือบพอร์ซเลนที่ผิวฟันอีกครั้ง การทำวีเนียร์มีข้อดีคือ นอกจากแก้ไขเรื่องฟันห่างได้แล้วยังช่วยแก้ไขรูปร่างและสีของฟันด้วย

 

 

  1. การผ่าตัด การจะใช้วิธีนี้ควรเป็นกรณีที่มีเนื้อเยื่อขอบเหงือกแทรกระหว่างฟันมากเกินไป ทำให้เกิดฟันห่าง โดยทันตแพทย์จะทำการผ่าตัดนำเนื้อเยื่อส่วนเกินออกไป เพื่อให้ฟันได้เรียงตัวชิดกันมากขึ้น แต่ถ้าฟันห่างกันมากอาจต้องจัดฟันร่วมด้วย

 

 

  1. โรคต้นเหตุ กรณีที่ฟันห่างเพราะเป็นโรคเหงือก จะต้องทำการรักษาอาการอักเสบของเหงือกให้หายเป็นปกติก่อน โดยทันตแพทย์จะกำจัดคราบหินปูนและเชื้อจุลินทรีย์บริเวณเหงือกจนมีอาการดีขึ้นจึงทำการปิดช่องว่างระหว่างซี่ฟันได้ แต่ถ้าเป็นโรคเหงือกระดับรุนแรง อาจต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัดเพื่อนำคราบหินปูนที่อยู่ลึกในเหงือกออก

 

 

 

“ฟันห่าง” ป้องก้นได้หรือไม่ ? 

           กรณีมีฟันห่างจากสาเหตุทางพันธุกรรม หรือความผิดปกติในช่องปาก ป้องกันได้ยาก แต่แก้ไขได้ ส่วนฟันห่างจากสาเหตุอื่น ๆ ยังป้องกันได้ ดังนี้ 

1.ถ้าเป็นเด็กต้องคอยดูแลไม่ให้มีนิสัยที่ทำให้เสี่ยงต่อการมีฟันห่าง เช่น นิสัยติดดูดนิ้ว

 

 

2.ถ้ารู้ตัวว่า ระหว่างกลืนอาหารชอบเอาลิ้นไปดันฟันหน้าด้านใน ให้พยายามปรบพฤติกรรมมาใช้ลิ้นแตะเพดานปากแทน

 

 

3.ดูแลสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเหงือก

 

 

4.พบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก และขูดหินปูนเป็นประจำ

                       

 

            “ฟันห่าง” เป็นปัญหาหนึ่งที่หลายคนพบเจอ แต่ส่วนใหญ่แก้ไขได้โดยไม่จำเป็นต้องจัดฟัน โดยทันตแพทย์จะเป็นคนฟันธงให้คุณเองว่า ฟันห่างในแบบของคุณเหมาะกับการรักษา หรือแก้ไข ด้วยวิธีไหน แต่สิ่งสำคัญคือการป้องกัน ดูแลรักษาความสะอาดในช่องปากอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงที่เป็นสาเหตุให้เกิดฟันห่างอย่างไรล่ะคะ

 

 

 

Back to blog