ในสมัยก่อนเด็ก ๆ มักถูกผู้ใหญ่ขู่ว่า ถ้ารับประทานขนมเยอะเกินไป และไม่ยอมแปรงฟันก่อนนอน จะโดนแมงกินฟัน !! แม้ทุกวันนี้พัฒนาการด้านการทันตกรรมของเราจะก้าวหน้าไปไกลแล้ว แต่ความเชื่อ ความเข้าใจว่า แมงกินฟัน คือสาเหตุทำให้ปวดฟัน และเกิดฟันผุ ก็เป็นเรื่องที่ยังมีคนพูดถึงอยู่ แล้วตกลงแมนกินฟัน กับอาการฟันผุ เกี่ยวข้องกันหรือไม่ แท้จริงมันตัวการฟันผุคืออะไร แก้ไขได้หรือไม่ ไปหาคำตอบกันค่ะ
“แมงกินฟัน” ความจริงแล้วคืออะไร
สมัยก่อนเมื่อมีอาการปวดฟัน แล้วสังเกตว่าที่ฟันมีร่องรอยดำ ๆ หรือเป็นรูคล้ำ ดูคล้ายรูหนอนที่เจาะชอนไชผลไม้ ทำมีคนเชื่อว่า มันคือแมงกินฟัน แต่ความจริงแล้วอาการปวดฟัน ไม่ได้เกิดจากแมงกินฟัน หรือหนอนมาชอนไชฟันแต่อย่างใด แต่เป็นอาการที่เกิดจากฟันผุ แมงกินฟันที่คนรุ่นก่อนเรียกกัน แท้จริงก็คือ เชื้อแบคทีเรียที่มีฤทธิ์ทำลายเครือบฟัน กัดกร่อนเนื้อฟันของเราได้ ด้วยการสร้างกรดออกมาเมื่อมีเศษอาหารติดอยู่ตามซอกฟันและผิวฟัน โดยเฉพาะถ้าเป็นแป้งและน้ำตาล แบคทีเรียจะสร้างกรดออกมาจำนวนมากเพื่อย่อยเศษอาหารเหล่านั้น ทำให้กรดทำร้ายฟันจนเกิดฟันผุได้ในที่สุด
“ฟันผุ” คือ
โรคในช่องปากที่พบได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ที่ชื่นชอบอาหารรับประทานอาหารจำพวกแป้ง และน้ำตาล แต่ไม่ชอบแปรงฟัน ขาดการดูแลสุขภาพในช่องปากอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีเศษอาหารตกค้างตามซอกฟันและผิวฟันนานพอที่จะทำให้เชื้อแบคทีเรียทำปฏิกิริยาย่อยสลายเศษอาหารเหล่านั้นและทำให้เกิดกรดที่มีฤทธิ์ทำลายแร่ธาตุบนผิวเคลือบฟัน และเนื้อฟัน เริ่มแรกอาจทำให้ฟันเหลือง ผิวฟันสึกจนเสียวฟัน แล้วเนื้อฟันก็จะค่อย ๆ สึกกร่อนจนทะลุถึงโพรงประสาทฟัน ทำให้ปวดฟัน หรือมีการอักเสบ กลายเป็นฟันผุ
ระยะความรุนแรงของ “ฟันผุ” มีดังนี้
- ระยะเริ่มต้น กรดจะเริ่มทำลายชั้น เคลือบฟัน โดยไม่ทำให้รู้สึกเจ็บหรือปวดฟัน แต่ผิวฟันที่เคยขาวใสจะกลายเป็นขาวขุ่นกว่าเดิม และผิวฟันที่เคยเรียบวาวจะเริ่มแห้ง ขรุขระเห็นร่องฟันชัดขึ้น
- ระยะ 2 กรดกัดลึกลงถึงชั้น เนื้อฟัน ทำให้ฟันเกิดรอยสีเทา ดำ หรือน้ำตาลตุ่น เริ่มเป็นรูผุชัดเจน ทำให้เสียวฟันเมื่อรับประทานของเย็นจัด ร้อนจัด หรือของรสเปรี้ยวจัด หวานจัด
- ระยะ 3 ค่อนข้างรุนแรง การผุลงลึกถึงชั้น ประสาทฟัน เนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟันอักเสบ ทำให้รู้สึกปวดฟัน ถ้ามีเศษอาหารตกค้างในโพรงจะยิ่งปวด และทำให้มีปัญหากลิ่นปากตามมาอีกด้วย
- ระยะ 4 โพรงประสาทฟันถูกทำลายจนลามไปถึงรากฟัน เกิดการอักเสบทำให้เจ็บปวดเรื้อรัง แก้ปวดฟันด้วยวิธีไหนก็ไม่หาย ถ้าปล่อยไว้จะอักเสบลามมาที่เหงือก และเชื้ออาจลุกลามเข้ากระแสเลือดและระบบน้ำเหลืองได้
การรักษา “ฟันผุ” มีวิธี ดังต่อไปนี้
- ฟันผุระยะเริ่มต้นที่กรดเพิ่งเริ่มทำลายผิวฟัน สามารถรักษาด้วยตัวเองได้ด้วยการหมั่นแปรงฟันให้ถูกวิธี ด้วยยาสีฟันที่มีประสิทธิภาพ เช่น มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เพื่อลดการทำลายผิวฟัน ยับยั้งการเกิดฟันผุ
- ถ้าพบทันตแพทย์ประจำ แล้วพบว่ามีอาการฟันผุระยะเริ่มต้น ยังไม่มีการผุกร่อนของเนื้อฟันจนเป็นรู ทันตแพทย์อาจแนะนำให้ ใช้ฟลูออไรด์ ทำการแก้ไขเฉพาะจุดที่เกิดฟันผุ
- โดยทั่วไปเมื่อฟันผุ ทันตแพทย์จะรักษาเบื้องต้นด้วย การอุดฟัน ซึ่งก็คือการรักษาฟันผุด้วยการเติมวัสดุลงไปแทนที่เนื้อฟันที่เสียหาย วัสดุอุดฟันที่ใช้กันทั่วไปมี 2 แบบ คือ วัสดุสีโลหะ (Amalgam Filling) หรือที่แพทย์เรียกกันว่า อมัลกัม และ เรซิน คอมโพสิต (Resin Composite Filling) ที่สีกลมกลืนกับเนื้อฟัน
2.1 วัสดุสีโลหะ
วัสดุสีโลหะ หรืออมัลกัม เป็นการผสมระหว่างดีบุก เงิน ปรอท หรือโลหะ แพทย์มักใช้อุดฟันตำแหน่งฟันกรามเป็นหลัก เพราะมีสีเข้ม เห็นได้ชัด ทำได้ง่าย ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาไม่มาก ราคาย่อมเยาว์ และทนทานแข็งแรง แต่เพราะมองเห็นชัดเจนว่า สีแตกต่างจากเนื้อฟันจริงจึงไม่เหมาะกับการอุดฟันหน้าที่ต้องการความสวยงาม และหลังอุดฟันเสร็จควรเว้นการใช้งานฟันซี่ที่อุดอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
2.2 เรซิน คอมโพสิต
เรซิน คอมโพซิต เป็นวัสดุที่กลมกลืนกับสีของฟันอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน เพียงแต่การอุดด้วยวัสดุประเภทนี้จะมีรายละเอียดมาก เพราะต้องฉายแสงร่วมด้วย โดยหลังจากกรอเนื้อฟันที่ผุแล้วอุดเรซินคอมโพซิตเข้าไป จะต้องสลับกับการฉายแสงเพื่อให้แข็งตัว หลังเรซินคอมโพซิตแข็งได้ที่ ทันตแพทย์จึงตกแต่งให้กลมกลืนกับฟันอีกครั้ง
การอุดด้วยเรซินฯ มีข้อดีคือสีกลมกลืนกับเนื้อฟันจึงใช้อุดฟันหน้าได้ และถือเป็นวัสดุที่ปลอดภัย ไร้สารปรอท ใช้งานได้ทันทีหลังทำเสร็จ จึงรับประทานอาหารได้ตามปกติหลังอุดฟันแล้ว แต่มีข้อเสียคือราคาสูงและบอบบาง แล้วยังเกิดคราบจาก ชา กาแฟ หรือการสูบบุหรี่ได้ง่าย
- ถ้าฟันผุเป็นโพรงลึกลงไปจนทำให้เนื้อเยื่อโพรงประสาทฟันอักเสบ จะไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการอุดฟันได้ทันที ทันตแพทย์จะต้องรักษารากฟันก่อน เพื่อรักษาฟันแท้ไว้ให้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาหนึ่ง แต่นานแค่ไหนขึ้นอยู่กับอาการฟันผุว่า เป็นมากน้อยเพียงใด ถ้ามีอาการติดเชื้อด้วยก็ต้องใช้ยาปฏิชีวนะรักษาให้หายดีเสียก่อน
- กรณีฟันผุอย่างหนักเกินแก้ไข เพราะเนื้อเยื่อโพรงประสาทฟันถูกทำลายไปถึงปลายรากฟัน เป็นระยะที่สร้างความเจ็บปวดอย่างมาก และทันตแพทย์จะแนะนำให้ถอนฟันออกแล้วใส่ฟันเทียมทดแทน เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันผุลุกลามไปยังซี่ที่ติดกัน รวมทั้งช่วยให้ใช้ฟันบดเคี้ยวได้ และประคองฟันซี่ข้างเคียงไม่ให้ล้ม
การดูแลสุขภาพฟันหลังการ “อุดฟัน” ทำได้ดังนี้
1. ถ้าเป็นการอุดด้วยวัสดุที่สีเหมือนฟัน สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ แต่ถ้าเป็นวัสดุจากโลหะ ควรหลีกเลี่ยงการบดเคี้ยวหนัก ๆ อย่างน้อย 24 ชั่วโมง แต่สามารถรับประทานน้ำ และอาหารอ่อน ๆ ได้
2. ถ้าหลังอุดฟันมีอาการปวดฟันซี่ที่อุด สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ แต่ถ้าไม่หายหรือปวดมากขึ้นให้รีบไปพบทันตแพทย์
3. ถ้ามีอาการเสียวฟันหลังการอุดฟัน ถือเป็นเรื่องปกติ อาการจะหายไปในช่ว 7 – 14 วัน
4. ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ต้องบดเคี้ยวหนัก ๆ เลี่ยงของแข็ง ๆ เพราะอาจทำให้วัสดุที่อุดหลุดออกมาหรือเสียหายได้
วิธีป้องกัน “ฟันผุ” มีดังนี้
1. ตรวจสอบสุขภาพฟันสม่ำเสมอ ทั้งด้วยตาเปล่า และอุปกรณ์ช่วยอย่าง กระจกส่องฟัน (Dental Mirror) สังเกตดูว่า สีฟันเปลี่ยนไป มีความหม่นหรือขุ่นมัวเพิ่มขึ้นหรือเปล่า หรือกลายเป็นสีน้ำตาล เทา และดำ หรือเป็นรูหรือไม่ มีอาการเสียวฟัน หรือปวดฟันร่วมด้วยหรือเปล่า
2. ลดอาหารประเภทแป้ง และน้ำตาล เช่น ขนมหวาน มันฝรั่งทอด ลูกอม น้ำผลไม้รสหวาน ฯลฯ ลองหันมารับประทานช็อกโกแลตที่มีถั่วหรืออัลมอนด์แทน เพื่อลดการเกิดกรดในช่องปาก
5. ใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละครั้ง เพื่อการทำความสะอาดซอกฟันที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
6. เคี้ยวหมากฝรั่งที่มีส่วนผสมของไซลิทอล ที่เป็นสารช่วยยับยั้งการดึงน้ำตาลไปใช้ของเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก ทำให้ช่วยลดฟันผุได้
7. พบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก และขูดหินปูน ลดโอกาสเกิดโรคในช่องปากรวมทั้งฟันผุด้วย
แม้ “ฟันผุ” จะไม่ใช่ “แมงกินฟัน” อย่างที่คนสมัยก่อนเข้าใจ แต่ความร้ายแรงก็ไม่ต่างจากการมีแมงมากัดกินเนื้อฟันเลยสักนิด ฉะนั้นเพื่อสุขภาพฟันขาว แข็งแรง ห่างไกลฟันผุ และโรคในช่องปากอื่น ๆ อย่าลืมแปรงฟันให้ถูกวิธี และดูแลสุขภาพช่องปากอย่างดีกันนะคะทุกคน