"ฟันปลอม" เป็นแค่เรื่องของคนสูงอายุเท่านั้นจริงเหรอ?

"ฟันปลอม" เป็นแค่เรื่องของคนสูงอายุเท่านั้นจริงเหรอ?

 

 

               เมื่อก่อนหากพูดถึง ฟันปลอม ทุกคนจะนึกถึงคนสูงอายุที่ถึงวัยบอกลาฟันแท้ แต่ในปัจจุบันมีปัจจัยมากมายที่ทำให้เราต้องสูญเสียฟันแท้ไปก่อนวัยอันควร ซึ่งส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตของเราในหลายด้าน หากดื้อดึงไม่ยอมใช้ฟันปลอมเพราะกลัวโดนหาว่าแก่ก็อาจส่งผลเสียอย่างคาดไม่ถึง  แต่ฟันปลอมในปัจจุบันมีกี่แบบ ใครบ้างที่ควรใช้ฟันปลอม  เรามีคำตอบมาฝากกันค่ะ

 

            ฟันปลอม (Denture)

          หรือ ฟันเทียม ที่ใช้ทดแทนเมื่อต้องสูญเสียฟันแท้  ในปัจจุบันมีหลายแบบให้เลือกใช้ เช่น ฟันปลอมแบบถอดได้  และแบบถอดไม่ได้ และการทำรากเทียม  ซึ่งคนไข้แต่ละคนอาจเหมาะกับฟันปลอมที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของทันตแพทย์

 

 

ฟันปลอมแบบเป็น 2 ประเภทใหญ่ ดังนี้

 

          1. ฟันปลอมแบบถอดได้ (Removable Dentures)  

          เป็นฟันปลอมที่ถอดออกทำความสะอาดได้ทุกเมื่อ คนนิยมใช้เพราะทำความสะอาดได้ง่าย  ทำได้ทั้งแบบฟันปลอมเฉพาะบางซี่  หรือฟันปลอมใส่ทั้งปากก็ได้  ในราคาย่อมเยาว์  แต่มีข้อเสียคือ ทำให้รำคาญให้ช่องปากได้ง่าย  เพราะเพดานปากของฟันปลอมต้องทำค่อนข้างกว้างเพื่อให้แข็งแรง และยึดติดภายในช่องปากได้แน่น  ข้อเสียอีกอย่างคือความสวยงาม เพราะฟันปลอมแบบถอดได้ส่วนใหญ่จะมีสีสันแตกต่างจากฟันแท้ค่อนข้างชัด ทำให้สังเกตได้ไม่ยากว่าเป็นฟันปลอม  รวมทั้งไม่สามารถรับแรงบดเคี้ยวได้เท่าฟันแท้ ถ้าฝืนใช้มากไปเหงือกอาจโดนกดทับจนอักเสบได้

          ฐานของฟันปลอมแบบถอดได้จะทำจากวัสดุประเภทพลาสติกหรืออะคลีลิก  กับฐานที่ทำจากโลหะ ซึ่งฐานฟันปลอมแบบพลาสติกเป็นแบบพื้นฐานที่คนที่เพิ่งเคยใส่ฟันปลอมมักจะเริ่มด้วยแบบฐานพลาสติก และเมื่อเริ่มปรับตัวได้คนก็มักเปลี่ยนมาใช้ฐานแบบโลหะกันมากกว่า เพราะฐานโลหะจะบางและแนบเนียนไปกับเหงือกมากกว่าแบบฐานพลาสติก รวมทั้งยังทนทาน และก่อให้เกิดความรำคาญในช่องปากน้อยกว่า

 

 

          2. ฟันปลอมแบบติดแน่น (Fixed Dentures)

          เป็นการใส่ฟันปลอมในช่องปากแบบยึดไว้แน่นเหมือนเป็นฟันแท้  โดยทำสะพานฟันเกี่ยวยึดกับฟันซี่ที่อยู่ติดกัน  ฟันปลอมแบบติดแน่นมีข้อดีคือ เหมือนฟันจริง ดูไม่ออกว่าเป็นฟันปลอม ใส่แล้วรู้สึกสบายปากกว่าฟันปลอมแบบถอดได้ เพราะไม่ต้องมีส่วนที่เป็นเหงือกปลอมหรือสะพานฟันเกะกะใสช่องปาก  แล้วยังช่วยในเรื่องการบดเคี้ยวอาหารได้ดีกว่าฟันปลอมแบบถอดได้  แต่ฟันปลอมแบบติดแน่นมีข้อเสียคือ  มีค่าใช้จ่ายสูง  ต้องกรอฟันซี่ติดกันเพื่อให้การยึดฟันปลอมติดแน่น  และฟันปลอมแบบติดแน่นถอดออกทำความสะอาดไม่ได้  ถ้าดูแลสุขภาพช่องปากไม่ดีอาจเกิดปัญหาได้ 

          ฟันปลอมเเบบติดเเน่น มีทั้งแบบฟันทั้งซี่เป็นโลหะ ซึ่งเหมาะกับฟันกรามในตำแหน่งบดเคี้ยวอาหาร ส่วนฟันปลอมแบบติดแน่นที่เป็นพลาสติกทั้งซี่เหมาะใช้ชั่วคราวเมื่อต้องถอนฟัน  แผลหายดีก็ถอดออก  ฟันปลอมแบบติดแน่นยังมีการผสมผสานของวัสดุ เช่น  ใช้ฐานโลหะ แต่ซี่ฟันทำด้วยพอสเลน เหมาะใช้เป็นฟันหน้าเพราะมีความสวยงาม และกลมกลืนเหมือนฟันแท้  ซึ่งฟันปลอมเเบบติดเเน่น  มี 2  รูปแบบดังนี้

 

 

  1. ฟันปลอมติดแน่นด้วยสะพานฟัน

          การนำซี่ฟันปลอมที่จะใช้ทดแทนฟันแท้ซี่ที่สูญเสียไปมาเกี่ยวยึดกับฟันแท้ซี่ติดกัน เรียกว่า สะพานฟัน  เพราะมีลักษณะคล้ายการเชื่อมของสะพาน

 

 

  1. ฟันปลอมติดแน่นด้วยรากฟันเทียม

          การทำฟันปลอมติดแน่นด้วยรากฟันเทียม คือ การฝังรากฟันเทียมที่ทำจากไททาเนียมลงในกระดูกขากรรไกร  เมื่อรากฟันเทียมเชื่อมติดกับเนื้อฟันดีแล้วจะมีประสิทธิภาพอ ๆ กับรากฟันแท้  ตัวฟันที่ทำจากเรซินก็แข็งแรง ใช้บดเคี้ยวได้ไม่แพ้ฟันแท้เช่นกัน

 

 

รากเทียม (Dental Implant)

          นอกจากฟันปลอม ปัจจุบันมีสิ่งที่เรียกว่า รากเทียม วัตกรรมทางทันตกรรมที่ช่วยให้คนไข้ใช้ชีวิตได้ดีขึ้น  ถือเป็นการทำฟันปลอมประเภทหนึ่งที่ทำให้ตัวฟันปลอมติดแน่นกับเหงือกอย่างเป็นธรรมชาติ  เพราะการทำรากเทียมคือ การทำรากฟัน และตัวซี่ฟันเสมือนจริงให้คนไข้ 

          วัสดุที่ใช้ทำรากเทียม คือ ไทเทเนียม รากมีลักษณะคล้ายสกรู นำไปฝังที่ขากรรไกรให้แน่นหนาเสมือนเป็นรากฟันจริง  โดยรากฟันจะเชื่อมต่อกับกระดูกขากรรไกร และเข้ากันได้กับเนื้อเยื่อภายในช่องปาก เมื่อทุกอย่างเข้าที่ทันตแพทย์จะทำครอบฟัน สะพานฟัน หรือตัวฟันปลอมให้ติดกับรากฟันเทียมที่ฝังไว้  หลังจากนั้นคนไข้จะใช้งานฟันปลอมที่ทำรากเทียมได้เหมือนฟันแท้  โดยรากเทียมจะแข็งแรง บดเคี้ยวอาหารได้คล้ายฟันจริง และช่วยลดการเสื่อมสภาพของกระดูกรองรับฟันด้วย

 

 

ใครบ้างที่จำเป็นต้องใส่ฟันปลอม

          คนทั่วไปมักคิดว่า ฟันปลอมเหมาะกับผู้สูงอายุเท่านั้น ทั้งที่ความจริงแล้ว  การใส่ฟันปลอมไม่เกี่ยวกับอายุ หรือเพศ แต่เกี่ยวกับความจำเป็นเฉพาะบุคคล นั่นเท่ากับกว่า แม้แต่วัยรุ่น คนหนุ่มสาว ก็มีโอกาสใส่ฟันปลอมได้เช่นกัน  ซึ่งสาเหตุที่คนต้องใส่ฟันปลอม หรือทำรากเทียมนั้นมีดังนี้

 

 

  1. คนที่สูญเสียฟันแท้อันเนื่องมาจากหลายปัจจัย เช่น ฟันผุอย่างรุนแรง
  2. ผู้ที่ฟันมีปัญหา บิ่น แตก หรือประสบอุบัติเหตุจนสูญเสียฟันแท้
  3. คนที่ฟันเสื่อมสภาพจนไม่สามารถยึดเกาะกับเหงือกได้
  4. ผู้ที่เหงือกมีปัญหา เกิดโรคจนต้องสูญเสียฟัน

 

การทำฟันปลอม มีขั้นตอนดังนี้ 

1. ทันตแพทย์ซักประวัติ ตรวจสุขภาพช่องปาก แล้ววินิจฉัยว่าควรทำฟันปลอม หรือรากฟัน แบบไหน


 

2. ทำการเอ็กซเรย์ช่องปากเพื่อทำแม่พิมพ์จำลองสำหรับขึ้นรูปฟันปลอม

 

 

3. ทันตแพทย์ตรวจรูปแบบการเรียงตัวของฟัน และเทียบสีของฟันแท้ เพื่อทำฟันปลอมให้ได้ขนาดและสีฟันที่เหมาะสม

 

 

4. เมื่อทำฟันปลอมเสร็จ ทันตแพทย์จะให้คนไข้ลองใส่ฟันปลอมดูว่า มีตำแหน่งไหนที่เจ็บหรือใส่แล้วไม่พอดีก่อนทำการแก้ไข ซึ่งในระยะ 1 – 2 เดือนแรกอาจต้องนัดพบทันตแพทย์หลายครั้งเพื่อแก้ไขฟันปลอมให้พอดี  

 

 

ผลเสียของการสูญเสียฟันแท้แต่ไม่ยอมใส่ฟันปลอม คือ

 

  • ช่องปากเกิดการอักเสบติดเชื้อได้ง่ายขึ้นเนื่องจากช่องว่างที่ไม่มีฟันจะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคเพราะมีเศษอาหารตกค้างได้ง่าย จนทำให้เกิดฟันผุและเหงือกอักเสบได้

 

 

 

  • ทำให้ฟันซี่ติดกันไม่มั่นคง อาจเกิดปัญหาฟันล้ม หรือฟันเอียงได้

 

 

  • การบดเคี้ยวไม่ปกติ เพราะเราจะต้องหลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารฝั่งที่เป็นช่องว่าง ไม่มีซี่ฟัน ทำให้ต้องเคี้ยวอาหารข้างเดียว และการสบกันของฟันผิดปกติ ไม่เป็นธรรมชาติ  แรงกระแทกของการบดเคี้ยวอาหารอาจส่งผลต่อฟันซี่อื่น ๆ ได้

 

 

  • เสียความมั่นใจ ไม่กล้ายิ้มเต็มที่ และกังวลกับสายตาคนอื่น กลัวเขาเห็นช่องว่างที่ขาดฟันไป

 

 

การดูแลรักษาฟันปลอม (Caring for Dentures)

           ฟันปลอม ไม่ว่าจะเป็นแบบถอดได้ แบบใส่ติดแน่น หรือเป็นการทำรากเทียม ก็จำเป็นต้องดูแลรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ  โดยฟันปลอมแต่ละแบบมีวิธีการดูแลดังต่อไปนี้

 

วิธีดูแลฟันปลอมแบบถอดได้

 1. เลือกใช้แปรงสีฟันสำหรับฟันปลอม ทำความสะอาดฟันปลอมทุกครั้งหลังอาหาร

 

 

2. ถ้าจะใช้แปรงสีฟันทั่วไป ให้เลือกแบบมีขนนุ่ม กับน้ำสบู่ ขัดทำความสะอาดฟันปลอมแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด

 

 

3. ถ้ามีคราบสกปรกฝังแน่นที่ฟันปลอมให้ใช้เม็ดฟู่แช่ฟันปลอมทำความสะอาด และควรใช้เม็ดฝู่แช่ฟันปลอมอาทิตย์ละครั้งเพื่อขจัดเชื้อโรค

 

 

4. ก่อนนอนควรถอดฟันปลอมแช่น้ำสะอาดไว้ เพื่อให้ช่องปากได้พักจากสิ่งแปลกปลอม  และยังช่วยยืดอายุการใช้งานฟันปลอมอีกด้วย

 

 

5. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีความเหนียวและเเข็ง เพราะอาจทำให้ฟันปลอมหลุดออกมาขณะเคี้ยว หรือเกิดความเสียหายได้

 

 

6. ฟันปลอมสามารถแตกหักได้ ฉะนั้นต้องใช้อย่างถนุถนอม หากทำตกหล่นอาจเสียหายได้

 

 

7. ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรใช้ยาสีฟัน หรือสารอื่น ๆ ขัดฟันปลอม เพราะอาจทำให้ฟันปลอมสึกกร่อนได้

 

 

วิธีดูแลฟันปลอมแบบติดแน่น

 1. การทำความสะอาดฟันปลอมแบบติดแน่นใช้วิธีเหมือนการดูแลฟันแท้ปกติ แต่ต้องทำความสะอาดมากกว่าปกติ

 

 

2. ทำความสะอาดคอฟันและขอบเหงือกสม่ำเสมอ และใช้ไหมขัดฟันกำจัดเศษอาหารที่ติดอยู่ตามซอกฟันด้วย

 

 

3. ใต้ฟันปลอมเป็นบริเวณที่ทำความสะอาดได้ยาก ควรใช้เครื่องมือร้อยไหมขัดฟันร่วมด้วย

 

 

4. พบทันตแพทย์ตามนัดเสมอเพื่อตรวจสภาพฟันปลอม และฟันแท้ที่ยังมีอยู่

 

 

          ฟันปลอมไม่ใช่ทันตกรรมที่ตีกรอบสำหรับคนแก่อีกต่อไป  ถ้าคุณไม่ดูแลสุขภาพฟันให้ดี  ไม่แน่คุณอาจได้ใช้บริการฟันปลอมหรือรากเทียมกก็เป็นได้  ฉะนั้นรักษาฟันขาวแข็งแรงของคุณอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดความเสี่ยงในการใช้ฟันปลอมก่อนวัยอันควรดีที่สุดค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

Back to blog