แฟชั่นเป็นเรื่องความชอบเฉพาะบุคคล แต่แฟชั่นบางอย่างเช่น การเจาะ อาจเป็นเรื่องต้องคิดให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจทำ โดยเฉพาะ การเจาะปาก ซึ่งถือเป็นการเจาะที่ละเอียดอ่อนต่อสุขภาพช่องปาก และสุขภาพร่างกายโดยรวมอย่างคาดไม่ถึง เพราะอาจมีผลกระทบหลายอย่าง ฉะนั้นก่อนตัดสินใจเจาะภายในช่องปาก ลองทำความเข้าใจเรื่องการเจาะปาก และผลเสียที่อาจเกิดขึ้นกันก่อนดีกว่าค่ะ
“การเจาะปาก” คืออะไร ?
การเจาะปาก คือ การเจาะอวัยวะภายในช่องปาก เช่น ริมฝีปาก แก้ม ลิ้น ถือเป็นแฟชั่นประเภทหนึ่งของวัยรุ่นที่นิยมทำเพื่อแสดงบุคลิก และตัวตนในแบบของตัวเอง โดยใช้เครื่องประดับที่ส่วนใหญ่ทำจากเหล็กใส่ไว้ โดยเครื่องประดับนั้นคือ จิว ที่ย่อมาจาก จิวเวลรี่ (Jewelry) มีลักณะเหมือนต่างหู มีหลายรูปแบบ เช่น แบบเป็นห่วงเกลี้ยง แบบมีตุ้มกลม ๆ หรือแบบบาร์เบล เป็นต้น แม้การเจาะภายในช่องปากจะเป็นเรื่องของแฟชั่น แต่ก็มีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพ จึงควรปรึกษาทันตแพทย์ก่อนตัดสินใจเจาะดีที่สุด
ในบรรดาการเจาะภายในช่องปากทั้งหมด การเจาะลิ้น ถือเป็นการเจาะปากที่เป็นที่นิยมกันมาก เป็นการเจาะบริเวณกลางลิ้นแล้วใส่จิว ซึ่งการเจาะควรเจาะห่างจากปลายลิ้นไปประมาณ 1 นิ้ว เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเจาะทะลุหลอดเลือด ซึ่งภายหลังการเจาะจะต้องดูแลรักษาอย่างดีเป็นเวลา 3 – 4 สัปดาห์ เพื่อไม่ให้เกิดการอักเสบ หรือผลเสียอย่างอื่น ซึ่งระหว่างนั้นต้องคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด
การ “ทำลักยิ้ม” ถือเป็นการเจาะปากหรือไม่ ?
การทำลักยิ้มก็คือการเจาะแก้ม ซึ่งถือเป็นการเจาะปากชนิดหนึ่ง เพราะเกี่ยวข้องกับในช่องปาก โดยช่างเจาะจะมาร์คจุดที่จะเจาะแก้มทำลักยิ้ม แล้วให้คนที่จะเจาะอมแอลกอฮอลล์ฆ่าเชื้อภายในช่องปาก แล้วใช้เข็มที่ผ่านการฆ่าเชื้อเจาะแก้มจุดที่มาร์คไว้ให้ทะลุเข้าไปในช่องปาก แล้วจึงใส่จิวลงไป ทิ้งไว้ประมาณ 1 – 2 เดือน แล้วค่อยนัดมาถอดจิวออกเพื่อเช็คว่าบริเวณที่เจาะบุ๋มลงไปกลายเป็นลักยิ้มหรือไม่ ซึ่งบางคนก็อาจไม่ได้ลักยิ้มอย่างที่หวัง
การเจาะแก้มมีความเสี่ยงสูงไม่แพ้การเจาะลิ้น เพราะแผลจากการเจาะแก้มพร้อมจะอักเสบ เป็นหนอง และเกิดการติดเชื้อได้ทุกเมื่อ นอกจากนี้ใบหน้าคนเราเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ และเส้นประสาท ที่อาจได้รับผลกระทบจากการเจาะแก้ม จนเกิดอาการหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว และใบหน้าผิดรูปที่ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาในระยะยาว
ก่อนตัดสินใจ “เจาะปาก” ควรคำนึงถึงเรื่องใดบ้าง ?
- หาข้อมูลเกี่ยวกับการเจาะปากให้ละเอียด ทั้งรูปแบบการเจาะ ผลกระทบ และการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากภายหลังการเจาะ
- ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัว หรือทันตแพทย์ก่อนตัดสินใจเจาะปาก เพื่อเช็คให้แน่ใจว่าสุขภาพร่างกาย และสุขภาพช่องปากของเราพร้อมสำหรับการเจาะปากจริง ๆ
- หาร้านเจาะที่ได้มาตรฐาน และช่างที่ชำนาญการเจาะจริง ๆ ไม่ควรเจาะด้วยตัวเอง เพราะการเจาะภายในช่องปากเป็นเรื่องที่ต้องระวังมาก โดยเฉพาะเรื่องความสะอาด
- เลือกจิวที่มีคุณภาพ มั่นใจว่าไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้
ผลเสียต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นได้จาก “การเจาะปาก” มีอะไรบ้าง
- เกิดความเจ็บปวด แน่นอนว่า เมื่อมีการเจาะอวัยวะในช่องปากย่อมทำให้เกิดความผิดปกติ มีอาการเจ็บปวด และบวมใน 2 – 3 วันแรกหลังเจาะปาก แต่ลิ้นเป็นจุดละเอียดอ่อน อาจเจ็บและมีอาการบวมมากกว่าจุดอื่น และอาจมีเลือดคลั่งได้ กลายเป็นปัญหาต่อการกลืนอาหาร และอาจเป็นอันตรายต่อการหายใจ
- เสี่ยงเกิดภาวะเลือดไม่หยุดไหล ในช่องปากเต็มไปด้วยเนื้อเยื่อ และเส้นเลือดที่ละเอียดอ่อน มีลักษระเปียกชื้น เมื่อเส้นเลือดถูกเจาะจึงเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเลือดไม่หยุดไหล หรือหยุดไหลยาก และทำให้เสียเลือดจำนวนมากได้
- เกิดความเสียหายที่เส้นประสาท การเจาะปาก โดยเฉพาะที่ลิ้นอาจมีผลกระทบภายหลัง เช่น ลิ้นชา เนื่องจากเส้นประสาทถูกทำลาย ซึ่งปกติจะเป็นอาการชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ในกรณีร้ายแรง เส้นประสาทถูกทำลายมากเกินไป อาจกลายเป็นการทำลายถาวร ส่งผลเสียต่อการรับรสชาติ และการเคลื่อนไหวภายในช่องปากได้
- เหงือกบาดเจ็บ การเจาะปากแล้วใส่จิวอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่เหงือกได้ เพราะเหงือกเป็นเนื้อเยื่อที่บอกบาง และอาจส่งผลทำให้เกิดอาการเหงือกบวม อักเสบ เหงือกร่น ไปจนถึงเยื่อหุ้มฟันอักเสบ และเสี่ยงต่อการเกิดรากฟันผุได้อีกด้วย
- รบกวนระบบภายในช่องปาก การมีเครื่องประดับแบบจิวอยู่ในช่องปาก คือการใส่สิ่งแปลกปลอมเอาไว้ ซึ่งอาจกระทบต่อระบบในช่องปากได้ เช่น ทำให้มีการผลิตน้ำลายออกมามากผิดปกติ ทำให้การพูด การออกเสียงผิดพลาดได้ แล้วยังส่งผลต่อการเคี้ยวอาหารอีก
- เสี่ยงต่ออาการฟันบิ่น ฟันร้าว เนื่องจากจิวส่วนใหญ่เป็นโลหะ ทำให้เสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการกระทบกระแทกกับฟันจนเกิดอาการฟันบิ่น ฟันร้าวได้ หรือในคนที่เคยมีอาการฟันร้าว หรือเคยครอบฟัน จิวอาจทำให้ฟันที่เคยทำการรักษาแตกหักได้
- การติดเชื้อ ในปากของคนเรามีเชื้อแบคทีเรียอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถนำไปสู่การติดเชื้อหลังการเจาะได้ โดยเฉพาะหากทำการเจาะภายในช่องปากโดยไม่ถูกสุขลักษณะ หรือช่างไม่ชำนาญพอ และจิวที่ใส่ไว้อาจทำให้ดูแลทำความสะอาดยาก กลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค ซึ่งการติดเชื้อที่อันตรายที่สุดคือ การติดเชื้อในกระแสเลือด
- ระวังอาการแพ้โลหะ จิวส่วนใหญ่ทำจากโลหะ ซึ่งมีอยู่โลหะอยู่หลายชนิดที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ เพราะการเจาะเนื้อเยื่อในช่องปากแล้วใส่จิว ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของหมุด หรือห่วงโลหะ ย่อมเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้ได้ ต้องคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด และดูแลทำความสะอาดสม่ำเสมอ เพราะหากมีอาการแพ้ขึ้นมาจะดูแลรักษายาก
- เป็นอุปสรรคในการทำทันตกรรม การเจาะปากสามารเป็นอุปสรรคเมื่อต้องไปพบทันตแพทย์เพื่อทำทันตกรรม เช่น การขูดหินปูนที่ทันตแพทย์จะทำได้ลำบากมากขึ้น เพราะต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้โดนจิว หรือ การเอ็กซเรย์ช่องปากจิวของคุณอาจเป็นอุปสรรค เพราะไปขวางรังสี ทำให้ผลการเอ็กซเรย์ไม่ชัดเจน เพราะการจะถอดและใส่จิวค่อนข้างลำบาก
- เสี่ยงต่อการเกิดโรค มีการวิจัยพบว่า การเจาะภายในช่องปากเป็นการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลายอย่าง เช่น โรคตับอักเสบบี ซี โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ เพราะแผลจากการเจาะปากอาจทำให้เชื้อโรค เชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ที่อยู่ในช่องปากเข้าสู่กระแสเลือดที่เชื่อมต่อไปถึงหัวใจ และที่ร้ายแรงสุดคือเสี่ยงต่อโรคเอชไอวี (HIV)
ใครบ้างที่คนที่ไม่ควร “เจาะปาก”
- คนที่มีภาวะโลหิตจาง
- คนที่รับประทานยาแอสไพรินเป็นประจำ
- คนที่มีปัญหาสุขภาพช่องปาก เช่น เหงือกอักเสบ ฟันบาง กำลังรักษารากฟัน มีอาการเลือกออกตามไรฟัน เป็นต้น
- ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง
- คนที่มีอาการเกี่ยวกับโรคหัวใจ เช่น โรคลิ้นหัวใจพิการ
- คนที่มีอาการแพ้เกี่ยวกับเครื่องประดับที่เป็นโลหะ เช่นนิเกิล อาจเป็นอันตรายได้ เพราะการเจาะจะต้องใส่จิวที่เป็นโลหะด้วย
- คนที่เป็นโรคโลหิตไหลไม่หยุดหรือที่เรียกว่าฮีโมฟีเลีย
หลัง “การเจาะปาก” ควรดูแลรักษาสุขภาพช่องปากอย่างไรบ้าง
- งดอาหารรสจัด และเคี้ยวยาก เพราะอาหารรสจัด และการบดเคี้ยวที่หนักเกินไปอาจทำให้รู้สึกเจ็บที่รอยเจาะ และอาจเกิดการอักเสบได้
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ เพราะแอลกอฮอลล์อาจทำปฏิกิริยากับรอยเจาะที่ยังไม่หายดี
- ไม่ควรสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในบุหรี่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพช่องปากที่กำลังอ่อนแอจากการเจาะได้
- ควรแปรงฟันสม่ำเสมอ แต่ต้องระวังไม่ให้แปรงสีฟันไปกระทบบริเวณที่เจาะ รวมถึงต้องระวังไม่ให้เศษอาหารไปติดค้างบริเวณที่เจาะด้วยเช่นกัน
- ควรใช้น้ำยาบ้วนปากที่ค่อนข้างเข้มข้นเพื่อช่วยให้ช่องปากสะอาด ปราศจากแบคทีเรียยิ่งขึ้นตลอดระยะเวลารักษาหลังการเจาะปาก จนกว่าแผลจากการเจาะจะหายดี
- หากรู้สึกว่าการใช้น้ำยาบ้วนปากเข้มข้นเป็นประจำทำให้ช่องปากเกิดการระคายเคือง ให้ลองใช้การบ้วนน้ำเกลือบสลับกับการใช้น้ำยาบ้วนปาก หรือใช้แทนน้ำยาบ้วนปากเลยก็พอได้
- หากรู้สึกว่าบริเวณที่เจาะมีอาการผิดปกติ เจ็บหรือบวมมากขึ้น ควรรีบไปพบทันแพทย์เพื่อทำการตรวจทันที
แฟชั่น “การเจาะปาก” ไม่ใช่เรื่องผิด แต่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่หากตัดสินใจทำแล้วต้องดูแลรักษาสุขภาพช่องปากให้ดี เพราความสวยและมีสไตล์ต้องมาควบคู่กับสุขภาพที่ดี โดยเฉพาะสุขภาพช่องปากนะคะทุกคน