ทำไมเรานอนกัดฟัน ปัญหานี้แก้ไขได้หรือไม่ ?

ทำไมเรานอนกัดฟัน ปัญหานี้แก้ไขได้หรือไม่

 

            ตื่นเช้าขึ้นมา คุณควรได้ยิ้มสดใสรับวันใหม่ด้วยฟันขาวแข็งแรงที่ดูแลมาอย่างดี แต่ความจริงอาจไม่เป็นอย่างที่คิด คุณกลับตื่นมาพร้อมความรู้สึกปวดขากรรไกร เมื่อยหน้า ฟันรู้สึกระบม แล้วยังปวดหัวไม่ทราบสาเหตุ นั่นอาจเป็นผลลัพธ์จากการ นอนแล้วกัดฟัน เมื่อคืนนี้ก็เป็นได้

            การนอนแล้วกัดฟันเกิดขึ้นได้กับทุกคน และส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว มีทั้งสาเหตุจากสุขภาพฟัน และสุขภาพใจ และส่งผลเสียมากกว่าที่คิด วันนี้เราเลยอยากชวนคนรักสุขภาพช่องปากมาทำความเข้าใจกับอาการ นอนแล้วกัดฟันกันเถอะ

 

          การนอนกัดฟันคือ ?

 

 

        การที่ระบบบดเคี้ยวทำงานผิดปกติขณะนอนหลับ โดยกล้ามเนื้อที่ใช้บดเคี้ยวอาหารหดตัวผิดปกติเลยเกิดการกัดฟันขึ้น อาจเป็นความผิดปกติของการนอนชนิดหนึ่ง (Sleep Disorders) นอกจากจะทำให้คนที่นอนแล้วเกิดการกัดฟันรู้สึกไม่สบายร่างกาย จิตใจขุ่นมัวเพราะรู้สึกอ่อนล้า อารมณ์ไม่ปกติแล้ว ยังเป็นเรื่องที่สร้างความรำคาญให้กับคนที่ต้องนอนด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะการนอนแล้วกัดฟันเกิดขึ้นขณะหลับอย่างไม่รู้ตัว

 

          การนอนแล้วกัดฟันมีสาเหตุมาจากอะไร ?

 

  1. ทางร่างกาย

 

 

  • เกิดจากโรคบางอย่าง เช่น พาร์กินสัน (Parkinson) ที่ทำให้กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ
  • มีความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ (Sleep disorders) เช่น หยุดหายใจขณะหลับ
  • กำลังรับประทานยาช่วยปรับสารในสมองบางตัวที่อาจส่งผลข้างเคียงต่อกล้ามเนื้อขากรรไกร
  • ฟันสบกันผิดปกติ การเรียงตัวของฟันมีปัญหา ฟันซ้อน ฟันเก ส่งผลต่อการบดเคี้ยว ทำให้เวลานอนเกิดการกัดฟันขึ้น
  • การดื่มแอลกอฮอลล์ และใช้สารเสพติดบางประเภทก็มีผลต่ออาการนอนแล้วเกิดการกัดฟัน

 

  1. ทางจิตใจ                                                                                                                                         

       

 

        เมื่อมีความเครียดสะสม เกิดความวิตกกังวลในชีวิตประจำวันทั้งเรื่องส่วนตัว เรื่องงาน และสภาพสังคมความเป็นอยู่ ทำให้จิตใจไม่สงบจึงส่งผลให้แสดงออกในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งอาการที่นอนแล้วเกิดการกัดฟันก็เป็นอาการอย่างหนึ่งที่แสดงถึงสภาพจิตใจในขณะหลับโดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งโดยมากเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

 

รู้ได้อย่างไรว่าคุณนอนแล้วกัดฟัน

1.คนใกล้ชิดที่นอนกับเราสามารถบอกได้ แต่ก็มีที่บางคนกัดฟันแน่นแต่ไม่ไถฟันไปมาจึงไม่เกิดเสียง

 

 

2. สังเกตจากอาการทางร่างกาย ดังนี้

 

 

  • เมื่อยหน้า ปวดขากรรไกรลามไปถึงคอ
  • ปวดฟันหรือเหงือกกะทันหัน
  • มีแผลที่กระพุ้งแก้มหรือขอบลิ้นโดยไม่รู้ตัว
  • ปวดศีรษะ
  • เสียวฟันเวลาแปรงฟัน รับประทานของร้อน - เย็น
  • เกิดแผลที่กระพุ้งแก้มด้านในทั้งที่ดื่มน้ำเพียงพอ และนอนหลับเต็มที่                                                                                                                                                                                                         

 3. ปรึกษาทันตแพทย์เพื่อสังเกตว่ามีฟันสึกผิดปกติหรือไม่

 

 

4. ปรึกษาแพทย์ทั่วไปเพื่อเข้ารับการตรวจการนอนหลับ (sleep test)

 

 

การนอนแล้วมีอาการกัดฟันมีผลเสียอย่างไร ?

  • กล้ามเนื้อที่ใบหน้าปวดเกร็งผิดปกติ

 

 

  • ปวดฟัน ฟันโยก ฟันสึก ฟันแตก ไปจนถึงฟันร้าวและบิ่น อาจต้องถอนในที่สุด

 

 

  • ข้อต่อขากรรไกรปวด อักเสบ อาจเจ็บจนอ้าปากไม่ไหว ขยับขากรรไกรลำบาก ถ้าเป็นมากอาจทำให้กระดูกข้อต่อขากรรไกรเสื่อม

 

 

วิธีแก้ไขหรือบรรเทาอาการนอนกัดฟันมีอะไรบ้าง ?

  1. เมื่อรู้ตัวว่านอนแล้วมีอกัดฟัน ลองหาสาเหตุว่าเพราะอะไร เช่น ชีวิตประจำวันที่เครียดกับงานมากเกินไป แต่ละวันมีเรื่องอะไรวิตกกังวลบ้าง แล้วหาวิธีผ่อนคลายตัวเอง เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ออกกำลังกาย ทำงานอดิเรกที่ชอบ นั่งสมาธิ ฯลฯ                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                              
  2. ถ้าเป็นที่สภาพจิตใจ ไม่สามารถผ่อนคลายได้ ควรปรึกษาจิตแพทย์ ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับยาคลายเครียดหรือยานอนหลับมารับประทาน

 

 

  1. ปรึกษาทันตแพทย์ อาจต้องใส่เฝือกสบฟัน (Occlusal Splint) เครื่องมือที่ใส่ในช่องปากเพื่อป้องกันการกระทบกันของฟันขณะหลับ เฝือกสบฟันมี 2 แบบที่มีข้อจำกัดต่างกันคือ แบบแข็งเมื่อใช้ไประยะหนึ่งจะเกิดรอยสึกหรือแตกหักได้  กับแบบนุ่มที่ใช้ไปนาน ๆ อาจฉีกขาดได้

 

 

  1. ใส่ที่เฝือกสบฟันแล้วยังมีอาการนอนแล้วกัดฟันอยู่ ทันตแพทย์จะประเมินอีกครั้งว่า ถ้านอนกัดฟันเพราะฟันไม่สบกัน ไม่เท่ากัน มีการบดเคี้ยวผิดปกติ อาจต้องจัดฟันเพื่อให้ฟันเรียงตัวไปในทิศทางที่เหมาะสมขึ้น                                                                                                                                                                                                                                                                                                                            
  2. เมื่อทดสอบเรื่องการนอนแล้วพบว่าเป็นผลมาจากความผิดปกติของการนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจหรือโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น  แพทย์จะทำการติดอุปกรณ์ติดตามสภาพร่างกายระหว่างหลับ เช่น อุปกรณ์ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ รูปแบบการหายใจ ดูเสียงกรน เช็คออกซิเจนในเลือด ฯลฯ อาจมีการถ่ายวิดีโอขณะหลับเพื่อสังเกตการนอน เพื่อรักษาให้ตรงจุด และในปัจจุบันโรคภาวะหยุดหายใจขณะหลับสามารถรักษาให้หายได้                                                                             

   

 

         ตื่นเช้าพรุ่งนี้อย่าลืมลองเช็คอาการดูว่าเมื่อคืนคุณนอนกัดฟันหรือเปล่า ถ้าคำตอบคือใช่ จะได้รีบหาวิธีแก้ไข เพื่อสุขภาพฟันขาวแข็งแรงที่มาพร้อมรอยยิ้มสดใสไร้กังวลในยามเช้าอย่างแท้จริง

           

 

 

กลับไปยังบล็อก