การใช้รถจำเป็นต้องมีการตรวจสภาพรถประจำปี เพื่อให้รู้ว่าเครื่องยนต์ส่วนไหนต้องซ่อมแซมปรับปรุง จะได้แก้ไขให้ตรงจุด เพื่อยืดอายุการใช้งานของรถ ร่างกายคนเราก็เช่นกัน จำเป็นต้องมี การตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อให้ทราบถึงสุขภาพที่แท้จริง ว่ามีอวัยวะส่วนใดในร่างกายอ่อนแอ เสี่ยงต่อการเกิดโรคร้าย จำเป็นต้องบำรุงดูแลให้กลับมาแข็งแรง เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตแบบปลอดโรคไปอีกนาน ๆ
ซึ่งแน่นอนว่า ใคร ๆ ก็อยากตรวจสุขภาพแล้วได้รับการการันตีจากคุณหมอ ว่าสุขภาพยังแข็งแรงฟิตเปรี๊ยะ พร้อมสำหรับการใช้ชีวิตให้เต็มที่ ฉะนั้นเพื่อผ่านด่านตรวจสุขภาพแบบแฮปปี้ เรามาลอง Check List ถึงสิ่งที่ต้องเตรียมตัวเพื่อฝ่าด่านการสุขภาพไปกับ Linee กันเถอะค่ะ
การตรวจสุขภาพเบื้องต้น ควรตรวจอะไรบ้าง
- การตรวจเบื้องต้นจะเริ่มด้วยการวัดความดันโลหิต ตรวจดัชนีมวลกาย วัดระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวาน และ วัดระดับไขมันในเลือด เช็คระดับคอเลสเตอรอลกับไตรกลีเซอไรด์ เพื่อดูความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง
- ตรวจปัสสาวะ เพื่อประเมินความเสี่ยงโรคทางเดินปัสสาวะเบื้องต้น โรคเบาหวาน ฯลฯ
- ตรวจอุจจาระ เพื่อประเมินความเสี่ยงโรคระบบทางเดินอาหารเบื้องต้น ทั้งในกระเพาะ ลำไส้ ฯลฯ
- เอกซเรย์ปอด เพื่อประเมินการทำงานของปอด และความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเกี่ยวกับปอด
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ดูการทำงานของหัวใจว่าเสี่ยงต่อโรคที่เกี่ยวกับหัวใจหรือไม่
- ตรวจวัดสายตา วัดระดับการมองเห็น ความดันตา และความเสี่ยงต่อภาวะต้อหิน
- อัลตราซาวนด์ช่องท้อง เป็นการตรวจอวัยวะในช่องท้อง เช่น ม้าม ลำไส้ รวมถึงมดลูกกับรังไข่ของผู้หญิง และต่อมลูกหมากในผู้ชาย
- ตรวจเลือดเป็นขั้นตอนที่ละเอียดสุด เพราะสามารถดูระบบการทำงานของอวัยวะภายใน เช่น ตับ ไต ต่อมไทรอยด์ คัดกรองไวรัสตับอักเสบ และดูความผิดปกติของส่วนประกอบเม็ดเลือดเพื่อประเมินความเสี่ยงในการเป็นโรคโลหิตจาง มะเร็งเม็ดเลือด
- ผู้ชายวัยทำงานขึ้นไปควรตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก ขณะที่ผู้หญิงควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก
ตรวจสุขภาพช่องปาก
สุขภาพช่องปากก็ไม่ต่างจากสุขภาพร่างกายทั่วไปที่ควรตรวจสม่ำเสมอ เพื่อที่ว่าหากพบความผิดปกติจะได้ดูแล รักษา แต่เนิ่น ๆ หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่ค่อยสนใจตรวจดู กว่าจะพบปัญหา อาจต้องเสียเวลา เสียค่ารักษามหาศาล แถมยังรักษายาก หรืออาจรักษาไม่ได้จนเกิดการสูญเสีย เช่น ฟันผุจนเกินรักษาต้องถอนฟัน เหงือกอักเสบมากจนติดเชื้อทะลุไปถึงรากฟัน เป็นต้น
บางกรณีทันตแพทย์อาจให้มีการเอ็กซเรย์ฟันด้านใน หรือฟันด้านที่ชิดติดกันเพิ่มเพื่อดูว่า ฟันผุหรือไม่ ถ้าเคยอุดฟัน วัสดุอุดฟันยังแข็งแรงหรือเปล่า กรณีคนที่เคยรักษารากฟัน ควรแจ้งทันตแพทย์ เพราะอาจต้องเอ็กซเรย์เพิ่มเพื่อคัดกรองโรคทางช่องปาก และเป็นการป้องกันโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเกิดตามมาได้
การตรวจสุขภาพช่องปากควรตรวจ ปีละ 1 ปี ครั้ง แล้วแต่พื้นฐานสุขภาพฟันของแต่ละ โดยทันตแพทย์จะตรวจสุขภาพช่องปากโดยรวมว่า มีฟันผุ ฟันเหลือง คราบหินปูน ฯลฯ หรือไม่ ถ้ามีคราบหินปูนทันตแพทย์จะทำการขูดให้เพื่อไม่ให้สะสมจนทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องภายหลังได้ และอาจมีการเคลือบฟัน เคลือบฟลูออไรด์ ให้ด้วย
Check List เตรียมตัวอย่างไร ก่อนถึงวันตรวจสุขภาพ
- ควรนัดตรวจสุขภาพช่วงเช้า เพราะถ้าตรวจตรวจช่วงบ่ายจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลียจากการงดน้ำ และอาหารนานเกินไป
- ช่วงก่อนตรวจร่างกายควรพักผ่อนให้เพียงพอ 6 - 8 ชั่วโมง ถ้านอนน้อยจะส่งผลต่อความดันโลหิต และการเต้นของหัวใจ
- สวมเสื้อผ้าที่หลวมและสะดวกต่อการตรวจร่างกาย เช่น เสื้อแขนสั้นหรือพับแขนเสื้อได้ เพราะต้องเจาะเลือด ใส่เสื้อกระดุมหน้าเพื่อจะได้ถอดสะดวกเมื่อต้องเอ็กซเรย์ปอด งดใส่เครื่องประดับโลหะ เพื่อไม่ให้รบกวนการทำงานของเครื่องมือแพทย์
- เมื่อแพทย์ซักประวัติ ควรบอกข้อมูลตามจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคประจำตัว อาการผิดปกติต่าง ๆ หรือประวัติการรักษาสำคัญ ๆ เพื่อที่แพทย์จะได้วินิจฉัยได้ถูกต้อง ถ้ามีเอกสารควรเตรียมไปด้วย
- สตรีตั้งครรภ์ หรือมีความเป็นไปได้ที่จะตั้งครรภ์ต้องแจ้งแพทย์ เพราะบางขั้นตอนการตรวจอาจกระทบกับทารกในครรภ์ได้ และไม่ควรตรวจร่างกายระหว่างมีประจำเดือน เพราะเลือดประจำเดือนอาจปะปนกับปัสสาวะ ทำให้ผลการตรวจคลาดเคลื่อนได้
- ก่อนตรวจเลือดต้องงดน้ำ งดอาหาร 8 – 10 ชั่วโมง ซึ่งก่อนงดน้ำ งดอาหาร ควรงดอาหารไขมันสูง เพราะอาจส่งผลต่อการตรวจได้
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 – 48 ชั่วโมงก่อนวันนัดตรวจสุขภาพ เพราะแอลกอฮอลล์มีผลต่อการตรวจ
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว ต้องรับประทานยาเป็นประจำ สามารถทานยาก่อนตรวจได้ แต่ต้องแจ้งแพทย์ก่อนรับการตรวจ และควรนำยาที่รับประทานประจำติดไปด้วย
- ในการเก็บปัสสาวะเพื่อตรวจสุขภาพ ควรปัสสาวะทิ้งไปช่วงนึงก่อน ค่อยเก็บปัสสาวะช่วงกลาง ๆ ในปริมาณที่เจ้าหน้าที่ระบุ
ดูแลสุขภาพอย่างไร ไม่ต้องห่วงเรื่องตรวจสุขภาพทุกปี
- เริ่มคิดก่อนกิน
อาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการดูแลสุขภาพ ต้องเลือกอาหารมีประโยชน์ กินให้ครบ 5 หมู่ ไม่กินมากหรือน้อยเกินไป อาหารหนึ่งมื้อควรเป็นผัก 50% เนื้อสัตว์ 25% คาร์โบไฮเดตหรือข้าว 25% แต่ใช่ว่าจะไม่สามารถกินของโปรด เช่น ขนมนมเนย ชา กาแฟ น้ำอัดลม ที่ช่วยบำรุงอารมณ์เลย คุณยังสามารถเติมเต็มเมนูโปรดได้ ตราบเท่าที่คุณยังกินอาหารดีมีประโยชน์เป็นหลัก โดยมีเมนูยาใจเป็นส่วนเสริมที่ไม่มากเกินไป
- ออกกำลังกายวันละนิด แต่สม่ำเสมอ
การออกกำลังกายเป็นอีกปัจจัยในการสร้างความแข็งแรงให้ร่างกาย ซึ่งการออกกำลังกายที่ดีไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายหนัก แต่เน้นความสม่ำเสมอ เราสามารถเลือกออกกำลังกายให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ตัวเองได้ เช่น โยคะ วิ่งลู่ แอโรบิก ฯลฯ เลือกการออกกำลังกายที่ชอบ แล้วทำเป็นประจำวันละ 15 - 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ก็จะทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น
- ดื่มน้ำให้พอดีต่อร่างกาย
การดื่มน้ำให้พอเพียงเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าดื่มน้ำน้อยไปจะทำให้ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบขับถ่ายมีปัญหา เป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ แต่ถ้าดื่มน้ำมากเกินไป ไตจะทำงานหนัก อาจทำให้เกิดอาการ เมาน้ำ ( Hyponatremia ) ที่ทำให้เซลล์ในร่างกายมีภาวะคล้ายน้ำท่วม ทำให้ชัก และระบบร่างกายล่มได้ ดังนั้นการดื่มให้ให้พอดีกับร่างกายแต่ละคนต่อวันจึงต้องคำนวณให้เหมาะสมดังนี้
น้ำหนัก (ก.ก.) ÷ 2 x 2.2 x 30 = ปริมาณน้ำ( มิลลิลิตร)
ควรดื่มน้ำหลังตื่นนอน 1 แก้ว ก่อนมื้ออาหาร 1 ชั่วโมง 1 แก้ว และก่อนนอน 1 แก้ว โดยระหว่างวันก็จิบน้ำเรื่อย ๆ เพื่อให้มีน้ำหล่อเลี้ยงร่างกายสม่ำเสมอ และน้ำเปล่าอุณหภูมิปกติถือเป็นน้ำที่ดีที่สุดต่อร่างกาย
- นอนให้ดี มีคุณภาพ
การนอนวันละ 6 - 8 ชั่วโมง ถือว่าพอดี และเวลานอนที่ดีที่สุดคือ 22.00-02.00 น. เพราะเป็นช่วงที่มีการหลั่งของ โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone: GH) ถ้าได้หลับลึกในช่วงเวลานี้ อย่างน้อย 1 ชั่วโมง แม้จะนอนไม่ได้ตามเกณฑ์ก็ทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าได้ ขณะเดียวกันแม้จะนอนมาก แต่นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ หลับไม่ลึก ก็ทำให้การนอนไม่มีคุณภาพ ดังนั้นถ้าอยากให้การนอนดี เรามีเคล็ดลับมาแนะนำ ดังนี้
- พยายามนอนเวลาเดิมทุกวันเพื่อให้ร่างกายรู้เวลานอน ในสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ ไม่มีแสงรบกวน
- 1 ชั่วโมงก่อนนอน ไม่ควรรับประทานอาหาร ออกกำลังกาย หรือดื่มชา กาแฟ เพราะจะทำให้ร่างกายตื่นตัว
- อย่านอนกลางวันเกิน ½ - 1 ชั่วโมง เพราะจะทำให้กลางคืนหลับยาก
- งดทำกิจกรรมที่ตื่นเต้น หรือเคร่งเครียดก่อนนอน เช่น เล่นเกม ดูหนังแอคชั่น อ่านหนังสือสยองขวัญ หรือคิดเรื่องเครียด เพราะส่งผลเสียต่อการนอน
- หยุดเล่นมือถือก่อนนอน 30 นาที เพราะแสงสีฟ้าจากหน้าจอมือถือทำให้คลื่นสมองไม่ผ่อนคลาย นอนหลับไม่ลึกอย่างที่ควรจะเป็น
- ฝึกหายใจให้ถูกต้อง
การหายใจเร็วและสั้น มักเกิดในคนที่อยู่ในภาวะตึงเครียด ซึ่งเป็นการหายใจที่ผิด ส่งผลเสียต่อร่างกาย ทำให้ในร่างกายมีพิษเนื่องจากมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมาก ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องฝีกหายใจให้ถูกต้อง เพื่อให้ร่างกายขับสารพิษ หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ดังนี้
นั่งหรือนอนอย่างผ่อนคลาย ในพื้นที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก แล้วค่อย ๆ หายใจเข้าจนรู้สึกทรวงอกขยายเต็มที่จนท้องพอง กลั้นหายใจ 2 - 3 วินาที ก่อนหายใจออกผ่านริมฝีปากช้า ๆ ให้รู้สึกว่าปอดและท้องแฟบลง ทำอย่างน้อยวันละ 5 ครั้ง การหายใจจะค่อย ๆ ดีขึ้น
ถ้าหมั่นดูแลสุขภาพวันละเล็กละน้อยอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสุขภาพประจำปี หรือตรวจสุขภาพช่องปาก ปีไหน ๆ คุณก็ผ่านด่าน ขึ้นชื่อว่าเป็นคนสุขภาพดีทุกปีไปเรื่อย แน่นอน