“หวานเป็นลม ขมเป็นยา” เกี่ยวข้องกับสุขภาพฟันและเหงือกอย่างไร

“หวานเป็นลม ขมเป็นยา” เกี่ยวข้องกับสุขภาพฟันและเหงือกอย่างไร

 

 

            การเลือกรับประทานอาหารเป็นปัจจัยสำคัญในการดูแลสุขภาพ แต่รสชาติอาหารก็เป็นเรื่องใหญ่ที่สร้างสุขหรือทุกข์ให้คนกินได้ โดยเฉพาะรสชาติ “หวาน” และ “ขม” ที่ให้ความรู้สึกตรงข้ามกันสุด ๆ แต่ในสุภาษิตไทยมีการใช้ รสขม และรสหวาน เป็นคำเปรียบเปรยว่า หวานเป็นลม ขมเป็นยา เพราะรสขมมักขึ้นชื่อว่ามีฤทธิ์เป็นยา มีประโยชน์  แต่รสหวานมักก่อโรค ทำให้ฟันผุ  แต่ความจริงแล้วรสขมเป็นยาก็มีโทษและประโยชน์ที่ควรรู้ไว้ แต่รสไหนมีประโยชน์ มีโทษบ้างนะ

 

รสชาติอาหารส่งผลต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง  

           

          รสเปรี้ยว อาหารรสชาติเปรี้ยวจากธรรมชาติ เช่น มะขาม มะนาว ส้ม มะม่วง มะยม ตะลิงปลิง สับปะรด ใบชะมวง มีสารสำคัญคือ วิตามินซี และสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ดี ลดความเสี่ยงการติดเชื้อ บำรุงผิวพรรณให้เนียนเรียบ สดใส ลดความเสี่ยงอาการเลือดออกตามไรฟัน และเหงือกอักเสบได้ แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ ถ้าได้รับปริมาณมากเกินไปอาจทำให้ปัสสาวะบ่อย การขับถ่ายผิดปกติ และวิตามินซีที่มากเกินไปจะทำลายเคลือบฟัน ทำให้เกิดอาการเสียวฟัน และฟันผุได้ง่ายขึ้น

 

 

          รสเผ็ด อาหารรสชาติเผ็ดร้อนมักมีที่มาจากเครื่องเทศและสมุนไพรเป็นหลัก เช่น พริก ขิง ข่า ตะไคร้ หอม กระเทียม ขมิ้น กะเพรา ฯลฯ ซึ่งรสชาติเผ็ดมีประโยชน์ต่อระบบบไหลเวียนโลหิต ระบบเผาผลาญในร่างกาย ช่วยขับลม ขับเหงื่อ ฆ่าเชื้อไวรัส ฯลฯ  พริกมี แคปไซซิน (Capsaicin) ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ บรรเทาอาการภูมิแพ้ และไข้หวัด แต่ถ้ารสเผ็ดมากเกินไปจะทำให้ปวดท้อง แต่ถ้ารับประทานอาหารรสเผ็ดมากเกินไปจะส่งผลเสียต่อกระเพาะ และลำไส้ได้

 

 

          รสฝาด  อาหารรสชาติฝาดจะพบได้ในพืชท้องถิ่น เช่น มะขามป้อม  ใบกระถิน ดอกแค ใบชา ฯลฯ ระโยชน์ ความฝาดมักมาจากสาร แทนนิน (Tannin) ที่มีสรรพคุณลดการติดเชื้อ บรรเทาอาการปวดท้อง ท้องเสีย แต่ถ้าร่างกายได้รับสารแทนนินมากเกินไปจะทำให้ร่างกายดูดซึมวิตามินบี 12 และธาตุเหล็กได้ไม่ดี

 

 

          รสเค็ม มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องผูก มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ แต่ในคนที่มีภาวะโรคไต และโรคเลือดให้งดการรับประทานอาหารรสเค็ม เพราะจะส่งผลเสียต่อไต และการรับประทานรสเค็มมากเกินจะส่งผลเสียต่อระบบประสาท และหัวใจได้

 

 

          รสหวาน มีสรรพคุณส่งผลดีต่อจิตใจ ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียด และอาการฟุ้งซ่าน แล้วยังมีฤทธิ์คล้ายยากล่อมประสาท ทำให้รู้สึกง่วงนอนได้ โดยต่อมรับรสอาหารในลิ้นคนรับรสชาติหวานได้มากกว่ารสอื่น ทำให้คนส่วนใหญ่ชอบรสหวานมาก จึงเสี่ยงต่อการได้รับน้ำตาลมากเกินไปจนทำให้ก่อโรค โดยเฉพาะสุขภาพฟัน เพราะน้ำตาลเป็นอาหารของแบคทีเรีย เมื่อแบคทีเรียย่อยน้ำตาลทำให้เกิดกรดมาทำลายเคลือบฟัน รวมทั้งแคลเซียมในเนื้อฟัน ก่อให้เกิดฟันผุ นอกจากนี้รสหวานยังทำให้เกิดการสะสมคราบพลัคบนฟันและเหงือก เกิดปัญหาหินปูน เหงือกร่น และฟันโยก ตามมาได้

 

 

          รสขม อาหารรสชาติขมมักพบได้บ่อยในพืชท้องถิ่นของไทย เช่น สะเดา ชะอม ขี้เหล็ก บอระเพ็ด ใบยอ ฯลฯ ซึ่งมักเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เป็นยา จึงมีผลการศึกษาถึงประโยชน์ที่มีต่อร่างกายมากมาย ดังนี้

1. ช่วยกระตุ้นร่างกายให้ผลิตเอนไซม์ออกมาช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น 

2. ช่วยกระตุ้นให้เจริญอาหาร 

3. ส่งผลดีต่อระบบไหลเวียนโลหิต 

4. ช่วยปรับสมดุลในร่างกาย เสริมภูมิต้านทานโรค 

5. พืชรสขมมักมีกากใยอาหารสูง เป็นผลดีต่อระบบขับถ่าย 

6. ช่วยลดไขมันและน้ำตาลในเลือด 

7. ช่วยบำรุงหัวใจ 

8. มีสารต้านอนุมูลอิสระ 

 

อาหาร “รสขม” ที่ดีมีประโยชน์ใกล้ตัวเรามีอะไรบ้าง

          อาหารรสขมส่วนใหญ่จะมีประโยชน์มาก แต่มักไม่ถูกปากคนรุ่นใหม่ เพราะไม่อร่อยลิ้นเท่าไหร่นักแต่ความจริงแล้ว พืชผักรสขมที่มีประโยชน์สามารถนำมาทำอาหารที่มีรสชาติอร่อย ขมน้อยลงได้ ด้วยการอาศัยเทคนิคในครัว เช่น การใช้เกลือ หรือการใช้ความร้อน ดังนี้

 

          สะเดา เป็นพืชที่มีประโยชน์ทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็น กิ่ง ก้าน ใบ ลำต้น ดอก เปลือกไม้ และราก ในด้านโภชนาการ ยอดอ่อนและดอกสะเดาเป็นผักที่มีแคลเซียม เบต้าแคโรทีน และธาตุเหล็กสูง ช่วยบำรุงเลือด ระบบย่อยอาหาร การสร้างภูมิต้านทานของร่างกาย สะเดาลดความขมลงได้การเลือกรับประทานยอดอ่อนของสะเดา ไม่ใช่ดอกสะเดาแบบที่หลายคนเข้าใจกัน เพราะความขมของสะเดาอยู่ที่ดอกมากกว่ายอดอ่อน และก่อนลวกควรนำสะเดาแช่น้ำเกลือระยะหนึ่งก่อน จะได้สะเดาที่ขมน้อยลง อร่อยมากขึ้น

 

 

           ดอกแค มีสรรพคุณช่วยป้องกันอาการไข้หวัดที่มักมาในช่วงเปลี่ยนฤดูหรือที่เรียกกันว่า ไข้หัวลม  ช่วยลดไข้ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ดอกแคยังอุดมไปด้วยแคลเซียม และฟอสฟอรัส จึงช่วยบำรุงกระดูกและฟันได้ดี  นอกจากคนไทยจะนิยมนำไปแกงส้มแล้ว ยังนำไปลวกเพื่อรับประทานกับน้ำพริก ซึ่งความขมของดอกแคจะอยู่ที่เกสรด้านใน ก่อนปรุงอาหารให้ดึงเกสาด้านในออกก่อนล้างให้สะอาด ก็จะช่วยลดความขมลงได้มาก

 

 

          มะระ เมื่อจะนำมาทำอาหาร ควรนำเมล็ดและเยื่อสีขาวด้านในออกให้หมด ก่อนนำไปคลุกเกลือแล้วล้าง นำไปต้มให้สุก 1 รอบ ก่อนนำไปทำต้มจืดมะระ จะช่วยมะระขมน้อยลงได้ หรือถ้านำมาผัดไข่ ด้วยการฝานบาง ๆ คลุกเกลือแล้วล้างให้สะอาด จะช่วยลดความขม เพิ่มความอร่อยลงได้

 

 

          ขี้เหล็ก ผักพื้นบ้านที่เด่นเรื่องความขม แต่อุดมด้วยสารอาหาร เช่น แคลเซียม ธาตุเหล็ก เบต้าแคโรทีน ฟอสฟอรัส วิตามินเอ และวิตามินซี รวมถึงไฟเบอร์  ช่วยรักษาอาการหวัด ทำให้นอนหลับสนิท เพราะมีฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้รู้สึกสงบ ผ่อนคลาย แต่เพื่อเลี่ยงรสขมเกินไป ควรใช้ใบอ่อนมาปรุงอาหาร เพราะใบขี้เหล็กยิ่งแก่ยิ่งขม  และการปรุงเพื่อลดความขมนั้น หลังทำความสะอาดแล้ว ให้นำใบขี้เหล็กต้มลงในน้ำเดือดผสมเกลือง เมื่อได้ที่จึงนำขี้เหล็กออกมา ต้มอีก 1 – 2 ครั้งจะยิ่งลดความขมได้

 

 

          มะระขี้นก ช่วยลดน้ำตาล รักษาระดับความดัน บำรุงกระดูกและสมอง ถือเป็นพืชผักพื้นบ้านที่นิยมนำมารับประทานกับน้ำพริกทั้งสดและต้มสุก โดยการลดความขมของมะละขี้นกคือ ผ่าครึ่งแล้วขูดนำไส้และเยื่อสีขาวด้านในออกให้หมด ถ้ารับประทานแบบดิบ ให้คลุกเกลือแล้วค่อยล้างให้สะอาดอีกครั้ง ความขมจะลดลง แต่ถ้ารับประทานแบบต้มให้ต้มน้ำจนเดือดแล้วใส่เกลือก่อนนำมะระขี้นกลงไปต้ม ความขมจะลดลง ยิ่งถ้าลองฝานบาง ๆ ก่อนต้ม ความขมจะลดลงไปอีก

 

 

         นอกจากที่กล่าวมา รอบตัวเรายังมีรสขมจากพืชผักสมุนไพรมากมาย เช่น บอระเพ็ด ลูกยอ ฟ้าทะลายโจร ใบบัวบก ฯลฯ

 

ชอบ “รสหวาน” อย่างไรให้ห่างไกลโรคภัย และฟันผุ

          รสหวานมีผลทำให้เสี่ยงเกิดฟันผุ และหินปูน รวมทั้งก่อโรคได้มากมาย แต่ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ขาดรสหวานไม่ได้จริง ๆ ควรทำตามคำแนะนำดังนี้

 

  1. ยังอร่อยกับรสหวานได้ควรลดความหวานลง ใช้น้ำตาลปรุงอาหารน้อยลงครึ่งหนึ่ง และควรใช้น้ำตาลทรายแดงมากกว่าน้ำตาลทรายขาว

 

 

  1. ถ้าต้องการความหวาน ให้รับรสหวานจากผลไม้สดให้มากกว่านมหวาน เพราะจะได้วิตามินและเกลือแร่ที่ดีต่อร่างกายด้วย

 

 

  1. ดูฉลากแสดงปริมาณน้ำตาลก่อนซื้ออาหารและขนม แล้วให้หลีกเลี่ยงชนิดที่หวานมาก แต่เลือกที่หวานน้อยแทน

 

 

  1. แต่ละวันควรคำนวนให้ร่างกายได้รับความหวานจากน้ำตาลไม่เกิน 50 – 75 กรัม ( 3 ช้อนโต๊ะกว่า ๆ )

 

 

  1. ดูแลทำความสะอาดฟันหลังรับประทานอาหารสม่ำเสมอ ดังนี้ 

5.1 แปรงฟันสม่ำเสมอ เพราะการแปรงฟันเป็นพื้นฐานการดูแลสุขภาพช่องปาก แต่หลายคนมักลืมเลือน หรือมีข้ออ้างผลัดวันประกันพรุ่ง แต่ถ้าคุณเป็นสาวกของหวานที่ยังรักสุขภาพฟันก็ควรแปรงฟันให้ถูกวิธีและสม่ำเสมอ

 

 

5.2 ใช้น้ำยาบ้วนปาก แม้ในเวลาที่ต้องใช้ชีวิตนอกบ้าน การดูแลสุขภาพฟันก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่จะให้พกแปรงสีฟันไปไหนมาไหนด้วยหลายคนคงไม่สะดวก ลองเปลี่ยนเป็นน้ำยาบ้วนปากแบบพกพา เผื่อไว้ใช้หลังมื้ออาหาร หรือหลังปาร์ตี้นอกบ้านที่เต็มไปด้วยของหวาน ก็ถือว่าเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ห่างไกลฟันผุได้

 

 

5.3 เคี้ยวหมากฝรั่ง เป็นอีกวิธีที่ช่วยทำความสะอาดฟัน โดยหมากฝรั่งที่ดีควรปราศจากน้ำตาล และมีสารไซลิทอลที่ช่วยช่วยต้านแบคทีเรีย สาเหตุของฟันผุ และการเคี้ยวหมากฝรั่งยังช่วยในการผลิตน้ำลายซึ่งดีต่อสุขภาพช่องปาก ดังนั้นหลังรับประทานอาหารโดยเฉพาะของหวาน ควรเคี้ยวหมากฝรั่งครั้งละ 1-2 เม็ด นาน 5 นาทีขึ้นไป เพื่อสุขภาพฟันที่ดี

.

 

          แม้สุภาษิต “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” จะเป็นเรื่องจริงต่อสุขภาพ แต่ใช่ว่า “รสหวาน” จะมีแต่โทษ และ “รสขม” จะมีแต่ประโยชน์ไปทั้งหมด ทุกอย่างอยู่ที่การรู้จักเลือกรับประทานให้เป็น ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ว่าจะขมหรือหวานก็ไม่ควรรับประทานมากเกินไปดีที่สุด

 

กลับไปยังบล็อก