“ยารักษาโรค” เรื่องใกล้ตัวที่อาจทำให้เกิดฟันเหลือง ?

“ยารักษาโรค” เรื่องใกล้ตัวที่อาจทำให้เกิดฟันเหลือง ?

 

          ปัญหาใหญ่ของคนรักสุขภาพช่องปากคือ  การเกิดฟันเหลืองที่พรากเอารอยยิ้มมั่นใจไปจากเรา ซึ่งเมื่อมีปัญหาก็ต้องแก้ไขให้ฟันขาวและเหงือกแข็งแรงกลับคืนมา แต่ที่หนักใจกว่าคือที่มาของฟันเหลืองและโรคในช่องปาก เมื่อไม่แน่ใจในต้นเหตุการแก้ไขและรักษาก็เป็นไปได้ยาก  แต่มีสาเหตุหนึ่งที่หลายคนลืมหรือคาดไม่ถึงก็คือ “ยา” รักษาโรคที่เรารับประทานเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยยังไงล่ะ !

 

           

 

            ในชีวิตประจำวันของเราทุกวันนี้การรับประทานยาเพื่อรักษาโรค บรรเทาอาการเจ็บป่วยเป็นเรื่องปกติ เพราะยาคือหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์ และนั่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ยาเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพช่องปากได้  โดยถ้าคุณมีอาการต่าง ๆ เช่น ฟันเหลือง ปากแห้ง คอแห้ง มีเลือดออกตามไรฟัน หรือรู้สึกว่าต่อมรับรสผิดเพี้ยนไปจากปกติ เป็นต้น บ่อยครั้งสาเหตุของปัญหาในช่องปากเหล่านี้ก็เกิดจากการรับประทานยารักษาโรคต่าง ๆ แล้วมีผลข้างเคียงเกิดขึ้น ซึ่งอาการข้างเคียงของการกินยาประเภทต่าง ๆ แบ่งกลุ่มออกได้ดังต่อไปนี้

 

  1. ยาที่ส่งผลทำให้ปากแห้ง

          เมื่อรับประทานยากลุ่มนี้คุณจะรู้สึกว่าน้ำลายในช่องปากน้อยลง  ภายในปากแห้งจนไม่สบายปาก  ส่งผลทำให้เกิดแผลในช่องปาก และเกิดภาวะอักเสบหรือติดเชื้อได้ง่ายและบ่อยขึ้น ยากลุ่มที่ส่งผลให้มีอาการปากแห้ง มีดังต่อไปนี้

 

 

 

1.1 ยาแก้แพ้ หรือยาลดน้ำมูก

          โดยมากเรามักได้รับกลุ่มยา ต้านฮิสทามีน (Antihistamines)  เพื่อบรรเทาอาการ ซึ่งยากลุ่มนี้แบ่งเป็น 2 ประเภทตามพัฒนาการของยา โดยยารุ่นแรก เช่น  ลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) บรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine)  ไฮดรอไซซีน (Hydroxyzine)  ฯลฯ ที่ส่งผลทำให้ง่วงซึม มีเสมหะ และภาวะปากแห้งได้

          ขณะที่ยารุ่นหลัง เซทิริซีน (Cetirizine) เฟโซเฟนาดีน (Fexofenadine) เลโวเซทิริซีน (Levocetirizine) ฯลฯ จะจะไม่ทำให้ง่วง และมีผลข้างเคียงน้อยกว่ารุ่นแรก แล้วยังช่วยลดน้ำมูก รักษาภูมิแพ้ได้ดีกว่าด้วย

 

    

 

1.2 ยาแก้อาเจียน

          ส่วนมากยาแก้อาเจียนจะใช้สำหรับคนป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาเกี่ยวกับการฉายแสง และเคมีบำบัด ซึ่งจะส่งผลทำให้คลื่นไส้ รู้สึกอยากอาเจียน จึงจำเป็นต้องรับประทานยาเพื่อป้องกันเสียก่อน เช่น ออนดาเซทรอน (Ondansetron หรือ Anzemet) และ ดอมเพอริโดน(Domperidone) ที่ช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวในทางเดินอาหาร ลดการคลื่นไส้อาเจียน 

 

 

 1.3 ยาลดความดันโลหิต

          เป็นกลุ่มยาที่ใช้เพื่อควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในภาวะปกติ มีมากมายหลายตัว แต่ส่วนใหญ่ที่ส่งผลทำให้เกิดภาวะปากแห้ง เช่น ยาเมทิลโดปา (Methyldopa หรือ Aldomet) ยาขับปัสสาวะ อาทิ ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide) อัลบูเทอรอล (Albuterol)   แอมโลดิปีน (Amlodipine หรือ Norvasc) และยาขยายหลอดเลือดที่ใช้รักษาความดันโลหิตแบบ ไนโตรกลีเซอริน (Nitroglycerin)  เป็นต้น

 

 

1.4 ยาคลายกล้ามเนื้อ

          ในยาคลายกล้ามเนื้อแทบทุกชนิด มักมีผลข้างเคียงต่อร่างกาย แต่มากน้อย หรือแสดงอาการแบบไหนก็แตกต่างกันไป ส่วนใหญ่จะเป็นอาการเบื้องต้น เช่น ง่วงซึม ออนเพลีย หรือเวียนศีระษะ แต่มีไม่น้อยที่ส่งผลให้เกิดภาวะปากแห้ง คอแห้ง ได้ด้วย ที่พบบ่อยคือ

 

 

      • ออร์เฟเนดรีน (Orphenadrine) หรือ นอร์จีสิก (Norgesic) ออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาทในสมองทำให้กล้ามเนื้อลายคลายตัว อาจทำให้มีอาการง่วมซึม คอแห้ง ปากแห้ง

 

      • โทลเพอริโซน (Tolperisone) หรือ มายโดคาล์ม(Mydocalm) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ลดการรับรู้ของก้านสมองต่อไขสันหลัง ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว ทำให้ปากแห้ง คอแห้ง บางคนท้องเสีย และความดันโลหิตต่ำลงร่วมด้วย

 

1.5 ยารักษาโรคพาร์กินสัน

          เช่น เลโวโดปา (Levodopa)  ไตรเฮกซีเฟนิดิล (Trihexyphenidyl หรือ Artane) ที่ช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้สะดวกยิ่งขึ้น 

 

 

1.6 ยาลดอาการปวดเกร็ง 

         เป็นกลุ่มยาที่ใช้เพื่อรักษาอาการเกร็งในร่างกาย เช่น ไฮออสซีน บิวทิลโบรไมด์ (Hyoscine  Butylbromide ) และ ไดไซโคลมีน (Dicyclomine ) ช่วยลดอาการเกร็งในกระเพาะ ลำไส้ และ กระเพาะปัสสาวะ หรือ บาโคลเฟน (Baclofen) แดนโทรลีน (Dantrolene) ที่ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ เป็นต้น

 

 

1.7 ยารักษาอาการทางจิตเวช

          เป็นกลุ่มยาที่ใช้ควบคุมสภาพจิตใจที่เกิดความวิตกกังวล ตื่นตระหนก ช่วยระงับประสาท ลดความหงุดหงิด  และต้านซึมเศร้า ซึ่งยากลุ่มนี้ทำให้ช่องปากผลิตน้ำลายได้น้อย เช่น เซอร์ทราลีน (Sertraline หรือ Zoloft) เอสซิตาโลแพรม (Escitalopram หรือ Lexaproไซโคลเบนซาพรีน (Cyclobenzaprine หรือ Flexaryl)  อะโมบาร์บิทัล (อะโมบาร์บิทัล หรือ Amytal) ไดอะซีแพม (Diazepam หรือ Valium)  เป็นต้น   

       

             

  1. ยาที่มีผลทำให้ฟันเหลือง หรือฟันผุ

          สืบเนื่องมาจากเกิดภาวะปากแห้งอย่างหนักจนส่งผลต่อการเคี้ยวอาหารและการกลืน ทำให้เกิดคราบบนผิวฟัน ช่องปากทำความสะอาดได้ยากขึ้น ส่งผลให้เสี่ยงต่อการฟันผุ และฟันเหลืองได้ง่ายมาก ยากลุ่มนี้คือ

 

      • ยาปฏิชีวนะ

           ประเภท เตตร้าซัยคลิน (Tetracyclines) ช่วยบรรเทาอาการได้หลายอย่าง รวมถึงรักษาสิว แต่เป็นยาที่เด็กและสตรีมีครรภ์ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์  เป็นยาที่ส่งผลให้เกิดการสะสมคราบบนผิวฟัน  ทำให้เกิดฟันเหลืองได้ง่าย

 

 

      • ยาที่ประกอบด้วยสารต้านฮิสทามีน

          ช่วยลดอาการคัน ลดน้ำมูก รักษาภูมิแพ้ โดยเฉพาะที่เรียกว่า ไข้ละอองฟาง (Hay Fever) ในผู้ป่วยบางกลุ่ม เป็นยาที่นอกเหนือจากผลข้างเคียงท่ทำให้ปากแห้งแล้ว ยังทำให้เกิดคราบที่ฟัน  ส่งผลให้เกิดฟันเหลือง ฟันตกกระได้อีกด้วย

 

 

      • ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง

          ยารักษาความดันบางชนิด โดยเฉพาะตัวที่มีฤทธิ์ยับยั้ง แองจิโอเทนซิน-คอนเวอร์ติง เอนไซม์ (ACE : Angiotensin Converting Enzyme) แคลเซียม แชนแนล บล็อกเกอร์ (Calcium channel blockers) และ เบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blockers) ทำให้เกิดฟันเหลืองได้

  

 

      • ฟลูออไรด์

          ปกติเราจะคิดว่าการได้รับฟลูออไรด์ส่งผลดีต่อสุขภาพช่องปาก แต่ความจริงแล้วการได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณที่ไม่เหมาะสมติดต่อกันเป็นเวลานานจะส่งผลเสียได้ทำให้ฟันไม่แข็งแรงอย่างที่คิด แต่กลับผุกร่อนง่าย ฟันเปลี่ยนสีกลายเป็นฟันเหลือง หรือเกิดคราบสีขาวขุ่นที่เรียกว่าฟันตกกระได้

 

 

      • ยาที่มีน้ำตาลผสมอยู่

          โดยเฉพาะยาน้ำเชื่อมสำหรับเด็กที่เสี่ยงทำให้เด็กฟันผุ  เมื่อรับประทานยาน้ำที่มีน้ำตาลผสม เช่น วิตามินต่าง ๆ หรือยาแก้ไอ ติดต่อกันนาน ๆ จะทำให้ฟันเหลือง และฟันผุได้โดยไม่ตั้งตัว  ฉะนั้นหลังรับประทานยากลุ่มนี้ควรทำความสะอาดช่องปากให้ดีเพื่อลดน้ำตาลตกค้างในปาก

 

 

  1. ยาที่มีผลกับการรับรส

          เมื่อได้รับยากลุ่มนี้ระยะหนึ่งจะทำให้รู้สึกปากขม ขมที่คอ การรับรสผิดเพี้ยนไป บางอย่างอาจทำให้เหงือกบวมผิดปกติ นอกจากทำให้ต่อมรับรสในปากผิดปกติแล้ว การที่เหงือกบวมยังทำให้ทำความสะอาดเศษอาหารในช่องปากได้ยาก ส่งผลกระทบต่อเหงือกและฟัน รวมทั้งเกิดกลิ่นปากได้ง่ายขึ้น ยากลุ่มนี้ เช่น

 

      • ยารักษาโรคหอบหืด เช่น ยาพ่นสูดชนิดที่ใช้ก๊าซ ใช้พ่นเข้าทางปาก (MDI : Metered Dose Inhaler)

 

 

      • ยาหยุดบุหรี่ แบบที่มีสาร โพแทสเซียมไนเตรต (potassium nitrate) และ โซเดียมไนเตรท (Sodium Nitrate) ทำให้รู้สึกเฝื่อน ลิ้นฝาด รับประทานอะไรก็ไม่อร่อย บางครั้งก็มีอาการลิ้นชา

 

 

      • ยาป้องกันการชัก หรือยาต้านชัก ที่ช่วยควบคุมร่างกาย ยับยั้งการทำงานผิดปกติของระบบประสาท เช่น เฟนิโทอิน (phenytoin)

                 

 

  1. ยาที่มีผลต่อเยื่อบุในช่องปาก

          เป็นยาที่จะมีผลข้างเคียงทำให้เยื่อบุในช่องปากเกิดการอักเสบและเป็นแผลได้ง่าย พบได้ใน ยารักษาโรคความดัน ยาเกี่ยวกับเคมีบำบัด หรือ ยาคุมกำเนิด

 

 

      5. ยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด

          ส่วนใหญ่ที่พบ มักเกิดจากการรับประทานยา แอสไพริน (Aspirin) , เฮพาริน (Heparin) ยาสำหรับคนเป็นโรคหัวใจแบบ วาร์ฟาริน (Warfarin)  ที่ส่งผลต่อการทำทันตกรรม เช่น การถอนฟัน ผ่าฟัน ขูดหินปูน ทำให้เลือดหยุดไหลยาก

 

 

  1. ยาที่ทำให้เกิดภาวะเหงือกบวม

          การรับประทานยากลุ่มนี้ทำให้มีเศษอาหารติดอยู่ตามซอกเหงือกและฟันได้ง่าย  การพูดหรือการเคี้ยวอาหารผิดปกติ หากดูแลไม่ดีพอจะทำให้เกิดปัญหาช่องปากอื่น ๆ ตามมา ซึ่งยาที่ทำให้เกิดภาวะเหงือกบวมมักเป็น ยาต้านแคลเซียม ที่ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว ลดความดันโลหิต  ขยายหลอดเลือด เช่น ไนเฟดิพีน (Nifedipine)  ดิลไทอะเซ็ม (Diltiazem) ซินนาริซีน (Cinnarizine) เวอราพามิล (Verapamil) ฯลฯ

 

 

          ยาบางตัวมีอาการข้างเคียงต่อช่องปากมากกว่า 1 อย่าง ซึ่งการรักษาอาการฟันเหลือง ฟันผุ ปากแห้ง  เหงือกบวม  เลือดออกตามไรฟัน ฯลฯ ที่เกิดจากการกินยารักษาโรค ในเบื้องต้นรักษาได้ด้วยการดูแลตามอาการ แต่ถ้าส่งผลกระทบมากอาจต้องปรึกษาแพทย์ว่า สามารถลดปริมาณยา หรือเปลี่ยนยาได้หรือไม่

 

 

          แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องเข้มงวดกับการดูแลสุขภาพช่องปากให้มากขึ้น ด้วยการแปรงฟันให้ถูกวิธีอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่ส่งผลดีต่อฟันขาวและสุขภาพเหงือก ฯลฯ เพื่อลดความเสี่ยงทำให้เกิดฟันเหลือง และลดอาการจากผลข้างเคียงที่เกิดจากยายังไงล่ะทุกคน

           

             

 

กลับไปยังบล็อก