เมื่อก่อนหากพูดถึง ฟันปลอม ทุกคนจะนึกถึงคนสูงอายุที่ถึงวัยบอกลาฟันแท้ แต่ในปัจจุบันมีปัจจัยมากมายที่ทำให้เราต้องสูญเสียฟันแท้ไปก่อนวัยอันควร ซึ่งส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตของเราในหลายด้าน หากดื้อดึงไม่ยอมใช้ฟันปลอมเพราะกลัวโดนหาว่าแก่ก็อาจส่งผลเสียอย่างคาดไม่ถึง แต่ฟันปลอมในปัจจุบันมีกี่แบบ ใครบ้างที่ควรใช้ฟันปลอม เรามีคำตอบมาฝากกันค่ะ
ฟันปลอม (Denture)
หรือ ฟันเทียม ที่ใช้ทดแทนเมื่อต้องสูญเสียฟันแท้ ในปัจจุบันมีหลายแบบให้เลือกใช้ เช่น ฟันปลอมแบบถอดได้ และแบบถอดไม่ได้ และการทำรากเทียม ซึ่งคนไข้แต่ละคนอาจเหมาะกับฟันปลอมที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของทันตแพทย์
ฟันปลอมแบบเป็น 2 ประเภทใหญ่ ดังนี้
1. ฟันปลอมแบบถอดได้ (Removable Dentures)
เป็นฟันปลอมที่ถอดออกทำความสะอาดได้ทุกเมื่อ คนนิยมใช้เพราะทำความสะอาดได้ง่าย ทำได้ทั้งแบบฟันปลอมเฉพาะบางซี่ หรือฟันปลอมใส่ทั้งปากก็ได้ ในราคาย่อมเยาว์ แต่มีข้อเสียคือ ทำให้รำคาญให้ช่องปากได้ง่าย เพราะเพดานปากของฟันปลอมต้องทำค่อนข้างกว้างเพื่อให้แข็งแรง และยึดติดภายในช่องปากได้แน่น ข้อเสียอีกอย่างคือความสวยงาม เพราะฟันปลอมแบบถอดได้ส่วนใหญ่จะมีสีสันแตกต่างจากฟันแท้ค่อนข้างชัด ทำให้สังเกตได้ไม่ยากว่าเป็นฟันปลอม รวมทั้งไม่สามารถรับแรงบดเคี้ยวได้เท่าฟันแท้ ถ้าฝืนใช้มากไปเหงือกอาจโดนกดทับจนอักเสบได้
ฐานของฟันปลอมแบบถอดได้จะทำจากวัสดุประเภทพลาสติกหรืออะคลีลิก กับฐานที่ทำจากโลหะ ซึ่งฐานฟันปลอมแบบพลาสติกเป็นแบบพื้นฐานที่คนที่เพิ่งเคยใส่ฟันปลอมมักจะเริ่มด้วยแบบฐานพลาสติก และเมื่อเริ่มปรับตัวได้คนก็มักเปลี่ยนมาใช้ฐานแบบโลหะกันมากกว่า เพราะฐานโลหะจะบางและแนบเนียนไปกับเหงือกมากกว่าแบบฐานพลาสติก รวมทั้งยังทนทาน และก่อให้เกิดความรำคาญในช่องปากน้อยกว่า
2. ฟันปลอมแบบติดแน่น (Fixed Dentures)
เป็นการใส่ฟันปลอมในช่องปากแบบยึดไว้แน่นเหมือนเป็นฟันแท้ โดยทำสะพานฟันเกี่ยวยึดกับฟันซี่ที่อยู่ติดกัน ฟันปลอมแบบติดแน่นมีข้อดีคือ เหมือนฟันจริง ดูไม่ออกว่าเป็นฟันปลอม ใส่แล้วรู้สึกสบายปากกว่าฟันปลอมแบบถอดได้ เพราะไม่ต้องมีส่วนที่เป็นเหงือกปลอมหรือสะพานฟันเกะกะใสช่องปาก แล้วยังช่วยในเรื่องการบดเคี้ยวอาหารได้ดีกว่าฟันปลอมแบบถอดได้ แต่ฟันปลอมแบบติดแน่นมีข้อเสียคือ มีค่าใช้จ่ายสูง ต้องกรอฟันซี่ติดกันเพื่อให้การยึดฟันปลอมติดแน่น และฟันปลอมแบบติดแน่นถอดออกทำความสะอาดไม่ได้ ถ้าดูแลสุขภาพช่องปากไม่ดีอาจเกิดปัญหาได้
ฟันปลอมเเบบติดเเน่น มีทั้งแบบฟันทั้งซี่เป็นโลหะ ซึ่งเหมาะกับฟันกรามในตำแหน่งบดเคี้ยวอาหาร ส่วนฟันปลอมแบบติดแน่นที่เป็นพลาสติกทั้งซี่เหมาะใช้ชั่วคราวเมื่อต้องถอนฟัน แผลหายดีก็ถอดออก ฟันปลอมแบบติดแน่นยังมีการผสมผสานของวัสดุ เช่น ใช้ฐานโลหะ แต่ซี่ฟันทำด้วยพอสเลน เหมาะใช้เป็นฟันหน้าเพราะมีความสวยงาม และกลมกลืนเหมือนฟันแท้ ซึ่งฟันปลอมเเบบติดเเน่น มี 2 รูปแบบดังนี้
-
ฟันปลอมติดแน่นด้วยสะพานฟัน
การนำซี่ฟันปลอมที่จะใช้ทดแทนฟันแท้ซี่ที่สูญเสียไปมาเกี่ยวยึดกับฟันแท้ซี่ติดกัน เรียกว่า สะพานฟัน เพราะมีลักษณะคล้ายการเชื่อมของสะพาน
-
ฟันปลอมติดแน่นด้วยรากฟันเทียม
การทำฟันปลอมติดแน่นด้วยรากฟันเทียม คือ การฝังรากฟันเทียมที่ทำจากไททาเนียมลงในกระดูกขากรรไกร เมื่อรากฟันเทียมเชื่อมติดกับเนื้อฟันดีแล้วจะมีประสิทธิภาพอ ๆ กับรากฟันแท้ ตัวฟันที่ทำจากเรซินก็แข็งแรง ใช้บดเคี้ยวได้ไม่แพ้ฟันแท้เช่นกัน
รากเทียม (Dental Implant)
นอกจากฟันปลอม ปัจจุบันมีสิ่งที่เรียกว่า รากเทียม วัตกรรมทางทันตกรรมที่ช่วยให้คนไข้ใช้ชีวิตได้ดีขึ้น ถือเป็นการทำฟันปลอมประเภทหนึ่งที่ทำให้ตัวฟันปลอมติดแน่นกับเหงือกอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะการทำรากเทียมคือ การทำรากฟัน และตัวซี่ฟันเสมือนจริงให้คนไข้
วัสดุที่ใช้ทำรากเทียม คือ ไทเทเนียม รากมีลักษณะคล้ายสกรู นำไปฝังที่ขากรรไกรให้แน่นหนาเสมือนเป็นรากฟันจริง โดยรากฟันจะเชื่อมต่อกับกระดูกขากรรไกร และเข้ากันได้กับเนื้อเยื่อภายในช่องปาก เมื่อทุกอย่างเข้าที่ทันตแพทย์จะทำครอบฟัน สะพานฟัน หรือตัวฟันปลอมให้ติดกับรากฟันเทียมที่ฝังไว้ หลังจากนั้นคนไข้จะใช้งานฟันปลอมที่ทำรากเทียมได้เหมือนฟันแท้ โดยรากเทียมจะแข็งแรง บดเคี้ยวอาหารได้คล้ายฟันจริง และช่วยลดการเสื่อมสภาพของกระดูกรองรับฟันด้วย
ใครบ้างที่จำเป็นต้องใส่ฟันปลอม
คนทั่วไปมักคิดว่า ฟันปลอมเหมาะกับผู้สูงอายุเท่านั้น ทั้งที่ความจริงแล้ว การใส่ฟันปลอมไม่เกี่ยวกับอายุ หรือเพศ แต่เกี่ยวกับความจำเป็นเฉพาะบุคคล นั่นเท่ากับกว่า แม้แต่วัยรุ่น คนหนุ่มสาว ก็มีโอกาสใส่ฟันปลอมได้เช่นกัน ซึ่งสาเหตุที่คนต้องใส่ฟันปลอม หรือทำรากเทียมนั้นมีดังนี้
- คนที่สูญเสียฟันแท้อันเนื่องมาจากหลายปัจจัย เช่น ฟันผุอย่างรุนแรง
- ผู้ที่ฟันมีปัญหา บิ่น แตก หรือประสบอุบัติเหตุจนสูญเสียฟันแท้
- คนที่ฟันเสื่อมสภาพจนไม่สามารถยึดเกาะกับเหงือกได้
- ผู้ที่เหงือกมีปัญหา เกิดโรคจนต้องสูญเสียฟัน
การทำฟันปลอม มีขั้นตอนดังนี้
3. ทันตแพทย์ตรวจรูปแบบการเรียงตัวของฟัน และเทียบสีของฟันแท้ เพื่อทำฟันปลอมให้ได้ขนาดและสีฟันที่เหมาะสม
4. เมื่อทำฟันปลอมเสร็จ ทันตแพทย์จะให้คนไข้ลองใส่ฟันปลอมดูว่า มีตำแหน่งไหนที่เจ็บหรือใส่แล้วไม่พอดีก่อนทำการแก้ไข ซึ่งในระยะ 1 – 2 เดือนแรกอาจต้องนัดพบทันตแพทย์หลายครั้งเพื่อแก้ไขฟันปลอมให้พอดี
ผลเสียของการสูญเสียฟันแท้แต่ไม่ยอมใส่ฟันปลอม คือ
- ช่องปากเกิดการอักเสบติดเชื้อได้ง่ายขึ้นเนื่องจากช่องว่างที่ไม่มีฟันจะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคเพราะมีเศษอาหารตกค้างได้ง่าย จนทำให้เกิดฟันผุและเหงือกอักเสบได้
- ทำให้ฟันซี่ติดกันไม่มั่นคง อาจเกิดปัญหาฟันล้ม หรือฟันเอียงได้
- การบดเคี้ยวไม่ปกติ เพราะเราจะต้องหลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารฝั่งที่เป็นช่องว่าง ไม่มีซี่ฟัน ทำให้ต้องเคี้ยวอาหารข้างเดียว และการสบกันของฟันผิดปกติ ไม่เป็นธรรมชาติ แรงกระแทกของการบดเคี้ยวอาหารอาจส่งผลต่อฟันซี่อื่น ๆ ได้
- เสียความมั่นใจ ไม่กล้ายิ้มเต็มที่ และกังวลกับสายตาคนอื่น กลัวเขาเห็นช่องว่างที่ขาดฟันไป
การดูแลรักษาฟันปลอม (Caring for Dentures)
ฟันปลอม ไม่ว่าจะเป็นแบบถอดได้ แบบใส่ติดแน่น หรือเป็นการทำรากเทียม ก็จำเป็นต้องดูแลรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ โดยฟันปลอมแต่ละแบบมีวิธีการดูแลดังต่อไปนี้
วิธีดูแลฟันปลอมแบบถอดได้
1. เลือกใช้แปรงสีฟันสำหรับฟันปลอม ทำความสะอาดฟันปลอมทุกครั้งหลังอาหาร
2. ถ้าจะใช้แปรงสีฟันทั่วไป ให้เลือกแบบมีขนนุ่ม กับน้ำสบู่ ขัดทำความสะอาดฟันปลอมแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
3. ถ้ามีคราบสกปรกฝังแน่นที่ฟันปลอมให้ใช้เม็ดฟู่แช่ฟันปลอมทำความสะอาด และควรใช้เม็ดฝู่แช่ฟันปลอมอาทิตย์ละครั้งเพื่อขจัดเชื้อโรค
4. ก่อนนอนควรถอดฟันปลอมแช่น้ำสะอาดไว้ เพื่อให้ช่องปากได้พักจากสิ่งแปลกปลอม และยังช่วยยืดอายุการใช้งานฟันปลอมอีกด้วย
5. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีความเหนียวและเเข็ง เพราะอาจทำให้ฟันปลอมหลุดออกมาขณะเคี้ยว หรือเกิดความเสียหายได้
6. ฟันปลอมสามารถแตกหักได้ ฉะนั้นต้องใช้อย่างถนุถนอม หากทำตกหล่นอาจเสียหายได้
7. ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรใช้ยาสีฟัน หรือสารอื่น ๆ ขัดฟันปลอม เพราะอาจทำให้ฟันปลอมสึกกร่อนได้
วิธีดูแลฟันปลอมแบบติดแน่น
1. การทำความสะอาดฟันปลอมแบบติดแน่นใช้วิธีเหมือนการดูแลฟันแท้ปกติ แต่ต้องทำความสะอาดมากกว่าปกติ
2. ทำความสะอาดคอฟันและขอบเหงือกสม่ำเสมอ และใช้ไหมขัดฟันกำจัดเศษอาหารที่ติดอยู่ตามซอกฟันด้วย
3. ใต้ฟันปลอมเป็นบริเวณที่ทำความสะอาดได้ยาก ควรใช้เครื่องมือร้อยไหมขัดฟันร่วมด้วย
4. พบทันตแพทย์ตามนัดเสมอเพื่อตรวจสภาพฟันปลอม และฟันแท้ที่ยังมีอยู่
ฟันปลอมไม่ใช่ทันตกรรมที่ตีกรอบสำหรับคนแก่อีกต่อไป ถ้าคุณไม่ดูแลสุขภาพฟันให้ดี ไม่แน่คุณอาจได้ใช้บริการฟันปลอมหรือรากเทียมกก็เป็นได้ ฉะนั้นรักษาฟันขาวแข็งแรงของคุณอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดความเสี่ยงในการใช้ฟันปลอมก่อนวัยอันควรดีที่สุดค่ะ