“ฟันตาย" คืออะไร อันตรายแค่ไหนกันแน่นะ ? หาคำตอบไปพร้อมกัน

“ฟันตาย" คืออะไร อันตรายแค่ไหนกันแน่นะ ? หาคำตอบไปพร้อมกัน

 

 

          ในชีวิตคงมีหลายครั้งที่คุณต้องไว้อาลัยให้กับการจากไปของคนที่คุณรัก  แต่ถ้าบอกว่า หากคุณดูแลสุชภาพช่องปากไม่ดี คุณอาจต้องไว้อาลัยให้กับฟันของคุณ อันเนื่องมาจาก  “ฟันตาย”  ไปอย่างไม่มีวันกลับมาล่ะ คุณจะเชื่อไหม ?  ใช่ค่ะฟันคุณตายได้  แต่ฟันตายอย่างไร  ตายเพราะอะไร  รักษาได้เหมือนฟันผุหรือไม่  หาคำตอบไปพร้อมกันเลย

         

 “ฟันตาย” คืออะไร ?

 

          ฟันตาย (Dead Tooth หรือ Non-Vital Discoloration) หมายถึง การที่ฟันมีสภาพผิดปกติอันเนื่องมาจากเส้นประสาทฟันขาดเลือดมาหล่อเลี้ยง  เพราะเกิดภาวะที่เลือดไม่สามารถไหลเวียนเข้าไปถึงเนื้อเยื่อภายในโพรงประสาทฟันที่เป็นแหล่งรวมเส้นประสาท และเส้นเลือดจำนวนมาก เมื่อเนื้อเยื่อขาดเลือดก็เท่ากับขาดออกซิเจนและสารอาหารที่จำเป็นต่อการเลี้ยงเซลล์เนื้อเยื่อในฟันที่มากับเลือด  ทำให้เซลลเนื้อเยื่อในฟันตาย  ผลที่แสดงออกมาคือทำให้ฟันเปลี่ยนสี จากฟันขาวใสสุขภาพดี กลายเป็นขุ่นมัวไล่เฉดสีไปเป็นสีน้ำตาล เทา และดำ ซึ่งถือเป็นสัญญาณเตือนว่าฟันกำลังอยู่ในสถานการณ์อันตราย ที่อาจเกิดอาการฟันตายในที่สุด   

 

          

 

ฟันตาย มีอาการอย่างไรบ้าง ?

          ถ้าหากคุณมีอาการดังต่อไปนี้  ขอให้คุณรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษาแต่เนิ่น ๆ

 

  1. สีของฟัน

สีของฟันที่กำลังจะตาย จะผิดปกติจนสังเกตได้ เพราะสีฟันตายจะเปลี่ยนชัดเจน  จากคนสุขภาพดีที่มีฟันขาวสะอาด กลายเป็นฟันเหลืองคล้ำ ไปจนกระทั่งสีดำ  ตามแต่อาการหนักเบาของฟันผุที่เกิดขึ้นในโพรงประสาทฟัน  และอาการของเส้นประสาทในฟัน 

 

 

  1. อาการปวดฟัน

ปวดฟันก็เป็นอีกสัญญาณเตือนให้ระวังฟันตาย  บางคนอาจปวดไม่มาก แต่บางคนปวดฟันรุนแรง  เมื่อบดเคี้ยวอาหารแล้วรู้สึกเจ็บระบมที่ฟัน  โดยมีสาเหตุมาจากรากฟันอักเสบ และติดเชื้อ

 

 

  1. กลิ่นลมหายใจเหม็น

การติดเชื้อในฟันอย่างหนักอาจส่งผลทำให้รู้สึกมีกลิ่นปากอย่างคาดไม่ถึง รวมถึงลมหายใจเหม็นผิดปกติ เพราะเนื้อเยื่อในฟันถูกทำลายจนส่งกลิ่นออกมา

 

 

  1. การรับรสชาติผิดปกติ

ผลจากแบคทีเรียในช่องปาก และการอักเสบติดเชื้อ ส่งผลกระทบทำให้ต่อมรับรสในช่องปากทำงานผิดปกติ                                             

 

 

  1. มีอาการบวมรอบๆเหงือก

จากการติดเชื้อในฟัน ส่งผลกระทบทำให้เหงือกบวมแดง  ติดเชื้อ  โดยเห็นได้จากมีตุ่มแดง และเกิดหนองขึ้นที่เหงือก เมื่อมีอะไรกระทบที่เหงือกบริเวณรอบฟันซี่ที่ปัญหาจะรู้สึกเจ็บ

 

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ “ฟันตาย” คือ อะไร ?

 

  1. ปัญหาในช่องปาก ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อสุขภาพฟัน รวมถึงสุขภาพร่างกายโดยรวม ที่สามารถเป็นต้นเหตุให้เกิดฟันตายได้  เช่น

 

    • ความสะอาดในช่องปากไม่ได้รับการดูแลอย่างดีสม่ำเสมอ ทำให้เกิดฟันผุ ซึ่งหากไม่ทำการรักษา หรือรักษาไม่ดี จะค่อย ๆ ทำให้เกิดฟันตายอย่างช้า ๆ

 

 

    • ในช่องปากเกิดโรคปริทันต์อื่น ๆ เช่น โรคเหงือก ที่มีการติดเชื้อในฟัน แล้วมีการอักเสบอย่างรุนแรง

 

 

    • มีฟันสบกันอย่างผิดปกติในช่องปาก เช่น ฟันซ้อน ฟันล้ม ฟันเก ทำให้ฟันซี่นั้นได้รับผลกระทบจากการใช้งานเป็นประจำเป็นเวลานาน ทำให้ภายในซี่ฟันเกิดความผิดปกติอย่างคาดไม่ถึง

 

 

 

  1. อุบัติเหตุ เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่เกิดขึ้นได้ทุกเวลา และอาจส่งผลให้เจ็บปวดที่ฟัน  ทำให้เกิดอาการฟันตายได้ทุกเมื่อ  เช่น

 

    • เกิดอุบัติเหตุ เช่น รถชนทำให้ปากและฟันกระทบกระเทือนรุนแรง หรือเหยียบเปลือกกล้วยแล้วลื่นล้มจนปากและฟันกระแทกพื้น เป็นต้น

 

 

 

    • เล่นกีฬาอย่าง ฟุตบอล บาสเก็ตบอล วอลเล่ย์บอล แล้วโดนลูกบอลกระแทกใส่หน้า ฟันถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง

 

 

 

  1. พฤติกรรม ที่ค่อนข้างสุ่มเสี่ยงของแต่ละคน เช่น

 

    • ใช้ฟันเคี้ยวของแข็งหรือเหนียวเกินไปจนทำให้เกิดฟันแตกร้าวและติดเชื้อ

 

 

    • นอนกัดฟัน หรือมีพฤติกรรมกัดฟันอันเนื่องมาจากความเครียด ทำให้ฟันบิ่น หรือแตกร้าวจนส่งผลให้เส้นประสาทและเส้นเลือดในฟันมีปัญหา

 

 

    • ทะเลาะวิวาท แล้วโดนทำร้ายที่ปากทำให้ฟันบาดเจ็บ ทั้งหมดล้วนเป็นอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดอาการฟันตายได้ทั้งนั้น ซึ่งฟันตายอาจเกิดขึ้นได้ในไม่กี่วัน  หรือทิ้งช่วงไปเป็นเดือน  เป็นปี เมื่ออาการบาดเจ็บเรื้อรัง ค่อย ๆ รุนแรงขึ้น แล้วเกิดฟันตายในที่สุด

 

 

 

“ฟันตาย” รักษาได้หรือไม่ ?

 

          การสะสมของเชื้อแบคทีเรียในช่องปากที่ทำให้ฟันมีปัญหา กลายเป้นฟันผุ แล้วลามไปสู่ฟันตาย แถมยังส่งผลต่อสุขภาพช่องปากด้านอื่น ๆ เช่น เหงือก และ กลิ่นปาก เป็นต้น  โดยเมื่ออาการฟันผุหนักหน่วงจนก้าวสู่อาการฟันตาย  หากถามว่ารักษาได้หรือไม่ ขอบอกว่า ฟันตายรักษาได้  ถ้าทำการรักษาทันท่วงที และรักษาถูกวิธี ฉะนั้นถ้าคุณไม่อยากให้เกิดฟันตายถาวร จะต้องหมั่นใส่ใจสุขภาพฟัน และนัดพบทันตแพทย์อยู่เสมอ  เพราะหากทราบว่ามีสัญญาณเตือนว่าอาจเกิดฟันตายเร็ว ทันตแพทย์จะได้รักษา  หรือแก้ไขได้ทันท่วงที ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

 

  1. การรักษารากฟัน

           เมื่อทันตแพทย์ตรวจอาการแล้วพบว่า วิธีการรักษารากฟันยังสามารถช่วยคุณรักษาฟันซี่ที่มีปัญหาได้  แม้จะไม่ 100 % แต่ก็เป็นการรักษาส่วนใหญ่เอาไว้ได้ โดยทันตแพทย์จะเริ่มจากการกรอฟันเพื่อเปิดฟัน แล้วใช้เครื่องมือขนาดเล็กในการกำจัดเนื้อฟันที่ติดเชื้อ และเนื้อเยื่อด้านในโพรงประสาทฟันที่มีปัญหา หลังจากนั้นก็ทำความสะอาดเพื่อกำจัดเชื้อโรคในซี่ฟันทั้งหมด  เมื่อเสร็จแล้วทันตแทพย์จะทำการอุดฟันเพื่อปิดฟันชั่วคราว แล้วหลังจากนั้นจะนัดหมายมาตรวจเช็คอีกครั้งก่อนอุดปิดฟันแบบถาวร

               แต่ในการรักษารากฟัน  ส่วนใหญ่แล้วทันตแพทย์จะแนะนำให้ครอบฟันด้วยหลังการรักษารากฟันเสร็จแล้ว  ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะผลจากการที่เคลือบฟัน และผิวฟันถูกทำลายให้เสียหายอันเนื่องมาจากฟันผุก่อนที่จะทำให้เกิดฟันตาย  ส่งผลให้ฟันซี่นั้น ๆ ไม่แข็งแรงเท่าฟันปกติ แต่จะเปราะบางและแตกหักได้  โดยเฉพาะกับฟันกรามที่ต้องใช้ในการบดเคี้ยวอาหาร

 

 

               ที่ครอบฟันเป็นการทำมาเพื่อแต่ละบุคคลโดยเฉพาะ โดยการหล่อขึ้นจากเบ้าฟันของคนที่ต้องครอบฟันเอง โดยทันตแพทย์จะใช้วัสดุบางประการที่ไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองง่ายกับฟันเข้าไปในรากฟัน  หลังจากนั้นจึงใส่ที่ครอบฟันที่ทำจากเบ้าหลอมของคน ๆ นั้นโดยเฉพาะลงบนฟันอย่างถาวร ซึ่งที่ครอบฟันนี้จะมีสีกลมกลืนไปกับเนื้อฟัน ทำให้สังเกตแทบไม่เห็นความแตกต่าง

               แต่ในกรณีของคนที่ทันตแพทย์วินิจฉัยแล้วว่า  ไม่จำเป็นต้องครอบฟัน  สิ่งที่แนะนำให้ทำคือ  การฟอกฟันขาว เพื่อปรับเปลี่ยนสีฟันที่เปลี่ยนเป็นหมองคล้ำไปจนถึงสีเทา สีดำ  เนื่องจากอาการฟันตาย ให้กลับมามีสีฟันขาวสะอาดอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะฟันซี่ด้านหน้าที่เกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพ และความมั่นใจของเจ้าของฟันด้วย  และถ้าให้ดีกับฟันยิ่งขึ้นอาจลองปรึกษาทันแพทย์เพื่อทำการเคลือบฟันเพิ่มเติม เพื่อเสริมสุขภาพฟัน  ซึ่งโดยทั่วไปการเคลือบฟันที่นิยมกันในปัจจุบันคือ เคลือบด้วยเซรามิค และการวีเนียร์

 

 

  1. ถอนฟัน

          ถ้าฟันตายแล้วทันตแพทย์วินิจฉัยว่า ไม่สามารถกู้คืนชีพขึ้นมาได้  สิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อรักษาฟันซี่อื่น ๆ ไว้ก็คือ การถอนฟันตายออก แล้วใช้ฟันเทียม หรือฟันปลอมทดแทนฟันตายซี่ที่เสียไป  หรืออาจใช้รากฟันเทียม และใส่สะพาน ซึ่งขั้นตอนหลังการถอนฟันจะทำแก้ไขอย่างไรให้กลับมามีฟันใช้ได้เหมือนเดิม แม้จะไม่ใช่ฟันแท้นั้น  ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อเลือกวิธีที่ดีที่สุดสำหรับฟันของคุณ

           

 

ปวดฟันเนื่อ'จาก “ฟันตาย” แก้ไขเบื้องต้นด้วยตัวเอง ดังนี้

 

  • ซื้อยาแก้อักเสบมารับประทาน เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ซึ่งเป็นยาแก้ปวด ต้านอาการอักเสบที่ไม่มีสเตียรอยด์  แต่ก่อนตัดสินใจควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านก่อน

 

 

  • งดเว้น หรือหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่กรอบ แข็ง และเหนียว เพื่อลดการใช้ฟันในการบดเคี้ยวอาหาร ซึ่งจะทำให้ปวดฟันมากขึ้น และส่งผลทำให้เส้นประสาทฟันถูกกระทบกระเทือนมากขึ้น

 

 

  • ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีอุณหภูมิร้อนจัด หรือเย็นจัด เพราะนอกจากส่งผลกระตุ้นความเจ็บปวดแล้ว ยังเสี่ยงต่อการทำให้ฟันติดเชื้อเพิ่มอีกด้วย

 

 

          “ฟันตาย” ป้องกันได้แต่เนิ่น ๆ ด้วยการดูแลรักษาความสะอาดในช่องปากอย่างดี  หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ฟันของคุณต้องทำงานบดเคี้ยวหนักเกินไป และลดเครื่องดื่มประเภท ชา กาแฟ แอลกอฮอลล์ รวมถึงอาหารประเภทกรด ที่ทำร้ายชั้นเคลือบฟัน  และที่สำคัญที่สุดคือตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำ เพียงเท่านี้คุณก็ลดความเสี่ยงที่จะต้องไว้อาลัยให้การจากไปถาวรของ “ฟันตาย” ได้แล้วล่ะค่ะ

 

 

กลับไปยังบล็อก