ไม่อยากผมขาวเลยเปลี่ยนสีผมบ่อย ๆ มีผลเสียต่อสุขภาพหรือไม่

ไม่อยากผมขาวเลยเปลี่ยนสีผมบ่อย ๆ มีผลเสียต่อสุขภาพหรือไม่

  

 

          ชาว Linee รู้กันใช่ไหมคะ ว่าฟันสุขภาพที่ดี คือฟันขาวแข็งแรง แต่ในมุมกลับกัน ถ้าพูดถึงผมสุขภาพดีจะให้มีผมหงอก ผมขาว มันไม่ใช่ !! ซึ่ง ปัญหาผมหงอกผมขาว เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะรุ่นเก๋าอายุเกิน 60 ปี หรือวัยรุ่น วัยทำงานก็เกิดขึ้นได้ เพราะหลาย ๆ ปัจจัย ทำให้ การเปลี่ยนสีผม ย้อมผม กลายเป็นเรื่องปกติ  แม้แต่คนที่ยังไม่มีผมขาว แต่มีความรักสวยรักงามก็เปลี่ยนสีผมตามเทรนด์แฟชั่นเป็นว่าเล่น  แต่การเปลี่ยนสีผม  ย้อมผม มีผลอย่างไรต่อสุขภาพ มีข้อควรระวังอะไรบ้าง  เรามีคำตอบมาฝากชาว Linee ทุกคนแล้วค่ะ

 

“ผมขาว & ผมหงอก” เกิดจากอะไร 

          สีของเส้นผมมีที่มาจากเม็ดสีในรากผมสร้างให้เกิดขึ้น สีผมที่เห็นได้บ่อย เช่น ดำ น้ำตาล ทอง ฯลฯ ซึ่งแต่ละสีก็จะมีหลายเฉาดต่างกันไปแล้วแต่พันธุกรรม  ใครที่ผมสีเข้มแสดงว่าเม็ดสีในรากผมมีมาก แต่ถ้าผมสีอ่อนแสดงว่าเม็ดสีในรากผมมีน้อย แต่เมื่อไหร่ที่ผมสีอ่อนจนกลายเป็นสีเทา หรือที่คนไทยโบราณเรียก ผมสีดอก หรือกลายเป็นผมสีขาว หรือผมหงอก สาเหตุที่เกิดขึ้นมาจากการที่รากผมไม่ผลิตเม็ดสีอีก ทำให้เส้นผมนั้น ๆ ไม่มีสี กลายเป็นสีขาว สีเทา ซึ่งโดยธรรมชาติจะเกิดขึ้นกับคนสูงวัย  ซึ่งในคนอายุน้อยที่เกิดผมขาวขึ้นก่อนวัยอันควรนั้น มักพบว่ามีที่มาจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น

 

 

 

  • ร่างกายขาดวิตามินบี 12
  • ตามกรรมพันธุ์
  • เจอเหตุการณ์ช็อกจากการตกใจ หรือเสียใจรุนแรง ทำให้รากผมหยุดการเติบโตกะทันหัน และเกิดผมหงอกขาวได้อย่างรวดเร็ว
  • จากอาการป่วยบางอย่าง เช่น โรคต่อมไทรอยด์ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคด่างขาว ฯลฯ
  • คนที่ทำงานหนักเกินไป พักผ่อนน้อย ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ และอยู่ในภาวะตึงเครียด ทำให้ร่างกายและรากผมอ่อนแอ เกิดผมขาวง่ายกว่าปกติ
  • คนที่สูบบุหรี่จะผมหงอกขาวเร็วกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ 4 เท่า

 

 

“น้ำยาเปลี่ยนสีผม” มีชนิดไหนบ้าง 

  1. ชนิดถาวร เป็นกลุ่มยาย้อมผมที่สีติดแน่นทนนานมาก และการที่สีติดทน ไม่ค่อยหลุดลอกง่าย ๆ หมายความว่า เส้นผมมีสารเคมีสะสมอยู่มาก จะเห็นผมขาว ผมหงอกอีกครั้งก็ตอนที่ผมยาวขึ้น หรือมีผมเส้นใหม่งอกออกมา

 

 

  1. ชนิดกึ่งถาวร เป็นการเปลี่ยนสีผมที่ลึกไปถึงแกนผม ติดทนระดับหนึ่ง สีผมจะเริ่มหลุดหลังผ่านการสระผม 5 - 10 ครั้ง

 

 

  1. ชนิดชั่วคราว เป็นน้ำยาเปลี่ยนสีที่ไม่ซึมลึกถึงในเส้นผม แต่จะเคลือบเส้นผมภายนอก ทำให้สีผมเปลี่ยนไปตามต้องการ  สีผมจะเริ่มหลุดลอกหลังผ่านการสระผมไปแล้ว  1 - 2 ครั้ง

 

 

  1. ชนิดกัดสีผม ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมชนิดนี้คือ น้ำยากัดสีผมที่มีฤทธิ์กัดกร่อนเม็ดสีในเส้นผม ใช้เพื่อทำให้ผมสีเข้มเปลี่ยนเป็นโทนสีสว่าง ก่อนใช้น้ำยาเปลี่ยนสีผมเป็นสีที่ต้องการอีกครั้ง  

 

 

  1. ชนิดไม่มีแอมโมเนีย ถือเป็นยาย้อมผมที่ค่อนข้างนิยม ไม่มีแอมโมเนีย ลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการแพ้ แต่สีก็อาจไม่ติดทนเท่าชนิดอื่น

 

 

  1. ชนิดธรรมชาติ คือผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมออร์แกนิคที่ทำจากพืช  สีไม่ติดทนนัก เพราะไม่ซึมลึกถึงแกนผม แต่ปลอดภัย  ไม่ทำลายสุขภาพเส้นผม

 

 

สารเคมีใน “น้ำยาเปลี่ยนสีผม” มีอะไรบ้าง

  •  พาราฟีนิลีนไดอะมีน (Paraphenylenediamine : PPD) พบได้ในน้ำยาเปลี่ยนสีผมชนิดถาวร และกึ่งถาวร ทำให้ระคายเคืองได้ง่าย จึงมีการควบคุมปริมาณการใช้  คนที่แพ้สารตัวนี้หนังศีรษะจะบวมแดง เป็นผื่นแพ้  อาจลามมาที่ใบหน้า และร่างกายด้วย

 

 

  •  แอมโมเนีย (Ammonia) ทำให้สีติดดีขึ้น แต่มีฤทธิ์กัดกร่อน ทำให้หนังศีรษะ และรอบดวงตาระคายเคืองได้ง่าย  แล้วยังทำให้รากผมอ่อนแอ เปาะหัก และหลุดร่วงอีกด้วย

 

 

  •  ไฮโดรเจนเปอร์ออกไชด์ (Hydrogen Peroxide) คือสารที่ช่วยกัดสีผมให้สีอ่อนลงด้วยการเข้าไปทำลายเม็ดสีในเส้นผม  ทำให้ผมแห้งเสีย หลุดร่วงได้ง่าย  ถือว่าเป็นสารก่อมะเร็งด้วย

 

 

  •  พาราโทลูอีนไดอะมีน (Partoluenediamine : PTD) คือสารที่ช่วยให้การเปลี่ยนสีผมเห็นสีชัดเจน แต่ก็มีอาการแพ้ได้ง่าย เช่น แสบตา แสบผิว รวมถึงหนังศีรษะคัน และบวม

 

 

  •  สารซิลเวอร์ไนเตรต (Silver Nitrate) หากเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้ หากสะสมในร่างกายมากจะเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็ง และทำลายระบบประสาท กับสมอง

 

 

  •  เลดอะซีเตด (Lead Acetate) คือสารตะกั่วที่ช่วยให้โปรตีนจับตัวที่เส้นผม ทำให้สีผมใหม่ติดทน แต่ก็ทำให้ระคายเคืองได้ เช่น คัน ขึ้นผื่นแดง ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ต่อมน้ำเหลือง

 

 

อันตรายจาก “การเปลี่ยนสีผม” ที่อาจเกิดขึ้นได้ 

  1. ผมเสีย เส้นผมแห้ง เปราะบาง แตกปลาย ขาดง่าย อ่อนแอลงเนื่องมาจากได้รับสารเคมีจากผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมที่มีฤทธิ์รุนแรง

 

 

  1. แพ้สารเคมี การแพ้สารเคมีในผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมเกิดขึ้นได้เสมอ อยู่ที่ใครแพ้มากหรือแพ้น้อย โดยอาการแพ้แบ่งออกได้ดังนี้
  • อาการแพ้เบื้องต้น รู้สึกระคายเคืองหนังศีรษะ และ บริเวณใกล้เคียง แต่ถ้าสัมผัสน้ำยาด้วยอาจมีอาการคัน แสบร้อน  บวมแดง ขึ้นผื่น หรือตุ่มพอง
  • อาการแพ้รุนแรง ทำให้หนังศีรษะ ใบหน้าและต้นคอเกิดการอักเสบ หลุดลอก แม้แต่ในลำคอมีอาการบวมแดง และผมร่วง
  • อาการแพ้เฉียบพลัน เป็นอาการแพ้รุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังสัมผัสสารเคมีในผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง รู้สึกปาก ลิ้นบวม  หายใจลำบาก  ควรรีบไปพบแพทย์ทันที  

 

 

 

  1. มีปัญหาเส้นผมระยะยาว การเปลี่ยนสีผมส่งผลต่อสุขภาพเส้นผมระยะยาว  โดยเฉพาะคนที่เปลี่ยนสีผมบ่อย  ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องคอยบำรุงเส้นผมอยู่เสมอ

 

 

  1. เสี่ยงต่อโรค การที่ร่างกายได้รับสารเคมีจากน้ำยาเปลี่ยนสีผมบ่อย ๆ  ทำให้ระบบทางเดินหายใจผิดปกติ  เสี่ยงต่อการเป็นโรคหอบหืด และแม้ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าน้ำยาเปลี่ยนสีผมทำให้เกิดโรคมะเร็ง แต่สารเคมีในน้ำยาเปลี่ยนสีผมหลายตัวเป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้มีการศึกษาจากหลายที่ระบุว่าการเปลี่ยนสีผมบ่อย ๆ ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้

 

 

 

 เคล็ดลับ “เปลี่ยนสีผม” อย่างไรให้ปลอดภัย 

  1. เลือกน้ำยาเปลี่ยนผม ที่ได้มาตรฐาน ทำจากพืชตามธรรมชาติ ดีกว่าชนิดมีสารเคมี  แต่ถ้าต้องเลือกน้ำยาจากสารเคมี ควรเลือกแบบสารเคมีน้อย เช่น สูตรไม่มีแอมโมเนีย   

 

 

  1. เลี่ยงการกัดสีผม เพราะการกัดสีผมคือการทำลายเม็ดสีในเส้นผม เพื่อให้การเปลี่ยนสีผมได้เฉดสีที่ต้องการ  ฉะนั้นถ้าเลือกได้ควรเลือกทำสีผมที่ไม่ต้องกัดสีผมดีที่สุด

 

 

  1. ปฏิบัติตามคำแนะนำ การใช้งานอย่างเคร่งครัด เช่น ให้ทำทิ้งไว้เวลาเท่าไหร่ก่อนล้างออกก็ควรทิ้งไว้เท่านั้น ไม่ควรทิ้งไว้นานเกินไป เพราะอาจเกิดการระคายเคืองได้

 

 

  1. ควรทดสอบก่อนใช้จริง เพื่อให้แน่ใจว่า ร่างกายไม่แพ้สารเคมีในผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมนั้น ๆ

 

 

  1. อย่าสระผมก่อนเปลี่ยนสีผม ก่อนเปลี่ยนสีผม 1 – 2 วัน ไม่ควรสระผม เพื่อให้เส้นผมได้สร้างน้ำมัน  เมื่อเปลี่ยนสีผมน้ำมันในเส้นผมจะทำให้ผมไม่แห้งเสียง่าย และช่วยให้สีผมติดง่าย ติดทนด้วย  

 

 

  1. ทำอย่างระมัดระวัง ในการเปลี่ยนสีผมด้วยตัวเองควรสวมถุงมือ อย่าให้น้ำยากระเด็นเข้าตา และควรใช้ปิโตรเลียมเจล ทาที่ใบหู หน้าผาก และผิวหนังใกล้โคนผม เพื่อป้องกันน้ำยาสัมผัสโดนผิวหนัง

 

 

  1. หมั่นบำรุงผม หลังเปลี่ยนสีผมสุขภาพเส้นผมและหนังศีรษะจะอ่อนแอลงจึงจำเป็นต้องสรรหาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มาบำรุงอย่างสม่ำเสมอ

 

 

  1. อย่าเปลี่ยนสีผมบ่อยเกินไป แม้ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเปลี่ยนสีผมบ่อยจะส่งผลเสียอย่างไร แต่มีผู้เชี่ยวชาญเคยให้คำแนะนำไว้ว่า หลังทำสีผมควรปล่อยให้ผมได้พัก 3 เดือน ก่อนจะเปลี่ยนสีผมอีกครั้ง เพื่อไม่ให้สารเคมีสะสมในร่างกายมากเกินไป   

 

 

  1. อย่าใช้ปนกัน หากมีน้ำยาเปลี่ยนสีผมหลายชนิด ไม่ควรใช้พร้อมกัน เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้ได้ง่ายขึ้น

 

 

 

          “การเปลี่ยนสีผม” ในปัจจุบันไม่ใช่แค่ปกปิด “ผมขาว” แต่มันคือแฟชั่นที่ขาดไม่ได้ แต่ถ้าเราเปลี่ยนสีผมอย่างถูกวิธี และไม่เปลี่ยนบ่อยเกินไป เราก็จะสวยชิคด้วยสีผมสุดเปรี้ยวพร้อมสุขภาพเส้นผมที่แข็งแรงไปพร้อมๆ กับมีสุขภาพฟันขาวแข็งแรงได้ยังไงล่ะคะ

 

กลับไปยังบล็อก