หลายครั้งเพราะเคยชิน ทำให้เรามองปัญหาในช่องปาก เช่น ฟันผุ เหงือกอักเสบ เสียวฟัน หรือฟันแตก เป็นเรื่องเล็กน้อย แล้วผลัดวันประกันพรุ่งในการเข้ารับการรักษากับทันตแพทย์ เพราะคิดว่าไม่เป็นหรอก แต่รู้หรือไม่ว่า ปัญหาเหงือกและฟัน อาจส่งผลร้ายทำให้เสี่ยงเป็นโรคอันตรายได้อย่างคาดไม่ถึง ส่วนจะมีโรคอะไรที่สุ่มเสี่ยงจะเป็น เพราะสุขภาพช่องปากบ้าง เรามีคำตอบมาฝากค่ะ
โรคปอด และทางเดินหายใจ
สุขภาพช่องปากที่ดีช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่ระบบทางเดินหายใจ และปอด ได้ เพราะในปากของเราเป็นแหล่งสะสมเชื้อแบคทีเรียกว่า 700 ชนิด มีทั้งแบคทีเรียที่ให้คุณ และให้โทษ ซึ่งแบคทีเรียให้โทษบางตัวที่ทำให้เกิดโรคในช่องปาก เช่น ฟันผุ เหงือกอักเสบ ฯลฯ และแบคทีเรียเหล่านี้ยังอาศัยน้ำลายในการย้ายจากในช่องปากลงไปสู่ปอดได้อีกด้วย ซึ่งในคนที่มีสุขภาพปลอดแข็งแรงอาจไม่มีผลอะไรมาก แต่สำหรับผู้ที่มีภาวะปอดผิดปกติอาจเกิดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้
ในอเมริกามีการศึกษาในกลุ่มผู้สูงอายุพบว่า การดูแลสุขภาพช่องปากสม่ำเสมอ และพบทันตแพทย์เป้นประจำ ช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคปอด และระบบทางเดินหายใจได้ โดยเฉพาะ โรคปอดเรื้อรัง ที่มีคนเป็นมากกว่า 250 ล้านคนทั่วโลก ก็เกี่ยวเนื่องกับการมีปัญหาสุขภาพเหงือกและฟัน โดยโรคปอดเรื้อรังยังส่งผลทำให้เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอด และโรคหัวใจเพิ่มอีกด้วย
โรคหัวใจ
เมื่อเกิดอาการไม่พึงประสงค์ในช่องปาก เช่น ฟันผุ เหงือกบวม มีคราบหินปูน ฯลฯ อย่านึกเพียงว่า ไม่เป็นไร แค่เรื่องเล็กน้อย แล้วไม่ไปหาทันตแพทย์ เพราะถ้าคุณนอนใจไม่เข้ารับการรักษา วันหนึ่งกว่าจะรู้ตัว อาการอาจบานปลาย กลายเป็นเรื่องใหญ่ เช่น ฟันอาจผุมากขึ้นจนถึงรากฟัน เหงือกอาจอักเสบจนเกิดการติดเชื้อ คราบหินปูนอาจทำให้ฟันสึกกร่อนและไม่มั่นคง แล้วส่งผลต่อเนื่องไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น โพรงจมูก ดวงตา สมอง ลำคอ หรือแม้แต่ติดเชื้อในกระแสเลือด หรือทำให้โรคหัวใจกำเริบได้
สาเหตุที่ปัญหาในช่องปาก โดยเฉพาะฟันผุส่งผลเสียต่อระบบหัวใจ เนื่องมาจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็ปโตคอคคัส ที่เป็นต้นเหตุของฟันผุ เป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบและลิ้นหัวใจอักเสบนั่นเอง ฉะนั้น ฟันผุ และปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันในช่องปากจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องป้องกัน หมั่นคอยดูแลให้สุขภาพปากและฟันแข็งแรงอยู่เสมอ
แบคทีเรียจากเหงือกอักเสบก็ต้องระวัง เพราะสามารถเข้าสู่กระแสเลือดผ่านหลอดเลือดแดงในหัวใจ ทำให้หลอดเลือดแดงแข็งแข็งตัว และเกิดคราบพลัคที่ผนังหลือดเลือดแดง เมื่อคราบพลัคที่ผนังหลือดเลือดหนาขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะขัดขวางการไหลเวียนของเลือด เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ ภาวะหัวใจวาย หรืออาการสโตรกได้ แล้วถ้าเกิดการอักเสบและติดเชื้อที่ชั้นข้างในหัวใจก็อาจทำให้เนื้อเยื่อบุโพรงหัวใจอักเสบได้เช่นกัน
มะเร็งช่องปาก
เชื้อแบคทีเรียในช่องปากช่างเป็นสาเหตุสำคัญนำไปสู่โรคภัยมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ มะเร็งช่องปาก โดยปัญหาในช่องปาก เช่น ฟันหัก ฟันผุ ฟันแตก เหงือกอักเสบ ล้วนแต่ส่งผลทำให้เนื้อเยื่อในช่องปากระคายเคือง ยิ่งเป็นซ้ำ ๆ หรือเกิดอาการเป็นเวลานาน เช่น ฟันผุเรื้อรังแล้วไม่ได้รับการรักษา จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงทำให้เนื้อเยื่อที่บอบช้ำแปรสภาพกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด โดยอาการที่สังเกตได้ว่าคุณอาจเป็น มะเร็งช่องปาก คือ
- มีแผลเรื้อรังในช่องปากไม่หายเกิน 3 สัปดาห์
- รู้สึกระคายคอ หรือเจ็บคอบ่อยผิดปกติ
- ระบมและเจ็บภายในปากเวลาเคี้ยวและกลืนอาหาร
- ซี่ฟันห่างกันหรือเบียดกันผิดปกติ
- มีเลือดออกตามไรฟัน หรือจุดต่าง ๆ ในช่องปากโดยไม่เจ็บ
- เกิดฝ้าขาว หรือผ้าสีแดง ที่เนื้อเยื่อในช่องปาก เช่น คอ ลิ้น เหงือก
- ในปากมีตุ่มหรือก้อนแข็ง ๆ ที่ไม่เจ็บ แต่โตขึ้นเรื่อย ๆ
- ถ้าบริเวณคอเจอก้อนเนื้อที่กดแล้วไม่เจ็บ อาจเป็นก้อนเนื้อเซลล์มะเร็งที่ลุกลามไปต่อมน้ำเหลือง
- ถ้ามีก้อนเนื้อที่เพดานปาก พื้นปาก หรือเหงือก อาจทำให้ฟันโยกและหลุดได้
โรคเบาหวาน
เป็นที่รู้กันว่า คนเป็นโรคเบาหวานส่วนใหญ่ติดเชื้อง่าย เป็นแผลก็หายยาก หากมีอาการอักเสบก็จะคุมได้ลำบาก เพราะการอักเสบทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของคนเป็นเบาหวานสูงขึ้น ขณะที่คนปกติถ้ามีอาการอักเสบจะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ให้เสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานเช่นกัน
โรคเบาหวานเป็นโรคที่มีความซับซ้อน และมีกลุ่มอาการหลายรูปแบบ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวม เสี่ยงต่ออาการแทรกซ้อนหลายอย่าง รวมถึงโรคในช่องปากด้วย โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเหงือก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาการเหงือกอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อจุลินทรีย์แบบเรื้อรัง ส่งผลให้กระดูกที่รองรับฟันถูกทำลาย หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที่จะทำให้ฟันหลุดได้
คนเป็นเบาหวานต้องคุมน้ำตาลให้ดี เพราะมันตอบสมองต่อเชื้อจุลินทรีย์ มีการสะสมของโปรตีนที่เป็นอันตรายต่อเหงือก และกระดูกที่รองรับฟัน ฉะนั้นถ้าในช่องปากของคุณมีอาการผิดปกติ เช่น ปากแห้ง เหงือกบวม เหงือกร่น และมีเลือดออกตามไรฟน ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจรักษาแต่เนิ่น ๆ
โรคอัลไซเมอร์ & ภาวะสมองเสื่อม
ภาวะสมองเสื่อม หรือโรคอัลไซเมอร์ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่หนึ่งความเสี่ยงคือการที่เชื้อแบคทีเรียในช่องปากอันเป็นสาเหตุของโรคเหงือกอักเสบเดินทางผ่านกระแสเลือดหรือเส้นประสาทเข้าไปในสมอง โดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยแบร์เกน ประเทศนอร์เวย์ พบความเชื่อมโยงระหว่างโรคเหงือกกับโรคอัลไซเมอร์ว่า แบคทีเรียที่ก่อให้เกิดเหงือกอักเสบถูกส่งต่อไปยังสมองได้ และแบคทีเรียจะสร้างโปรตีนที่ทำลายเซลล์ประสาทในสมอง ทำให้สูญเสียความทรงจำและกลายเป็นโรคอัลไซเมอร์ในที่สุด แต่เมื่อรู้ต้นเหตุ ก็สามารถป้องกันได้ โดยนักวิจัยชี้ว่า สิ่งง่าย ๆ ที่ทำเพื่อชะลอสมองเสื่อมได้ก็คือ การแปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดฟันอย่างถูกวิธี ถือเป็นการส่งเสริมความจำให้ดีขึ้น และขณะนี้กำลังมีการพัฒนายาที่ช่วยลดเอมไซม์จากแบคทีเรียที่มีส่วนให้เกิดโรคอัลไซเมอร์อีกด้วย
ส่วน ภาวะสมองเสื่อม คือ อาการสูญเสียความสามารถในการจำ การคิดวิเคราะห์ จนไปถึงขั้นขาดความสามารถในการดำรงชีวิต ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ก็คือแบคทีเรียที่เกิดจากอาการอักเสบในช่องปากทำลายเซลล์สมอง โดยเข้าไปผ่านกระแสเลือดเช่นเดียวกับอัลไซเมอร์
และในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีฟันแท้เหลือน้อย นอกจากทำให้คุณภาพชีวิตลดลง เพราะไม่สามารถรับประทานอาหารที่ต้องขบเคี้ยวได้เหมือนเดิม ทำให้ร่างกายรับสารอาหารได้ลดลง อาจส่งผลต่อระบบการย่อยอาหารด้วย และในเชิงการแพทย์ การเคี้ยวอาหารคือการกระตุ้นเซลล์สมองอย่างหนึ่ง การมีฟันไว้สำหรับขบเคี้ยวจึงสำคัญต่อสมองไม่น้อย โดยเมื่อปี ค.ศ. 2000 Japan Dental Association ของญี่ปุ่นถึงกับจัดโครงการสนับสนุนให้เหล่าผู้สูงอายุดูแลรักษาฟันให้ดีที่สุด โดยตั้งเป้าว่า ในคนอายุ 80 ปี ควรยังมีฟันแท้อย่างน้อย 20 ซี่ เพราะเชื่อว่าสุขภาพช่องปากกับสุขภาพองค์รวมของผู้คนมีความเกี่ยวเนื่องกัน
ดูแลสุขภาพช่องปากลดความเสี่ยงในการเป็นโรคร้ายได้ ดังนี้
- รักษาความสะอาดในช่องปากอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอ ด้วยแปรงสีฟันที่เหมาะสม ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์
- ใช้ไหมขัดฟันเป็นตัวช่วยในการทำความสะอาดซอกฟัน อย่างน้อยวันละครั้ง
- ตรวจสภาพช่องปากเป็นประจำด้วยตัวเอง ถ้ามีอะไรผิดปกติจะได้รีบไปพบทันตแพทย์
- ใช้น้ำยาบ้วนปากที่ไม่มีแอลกอฮอล์เพื่อทำความสะอาดช่องปากร่วมด้วย หรือไม่ก็ให้ใช้วิธีการอมน้ำเกลือเพื่อสุขภาพฟันและเหงือกที่ดีก่อนนอน
- ดื่มน้ำให้พอเพียง อย่าปล่อยให้ปากแห้ง ควรจิบน้ำบ่อย ๆ หรือใช้การเคี้ยวหมากฝรั่งเพื่อกระตุ้นการผลิตน้ำลายมาเพิ่มความชุ่มชื้นในช่องปาก
- ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง
- เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักใบเขียว ผลไม้สดที่มีกากใยอาหาร และมีวิตามินเอ วิตามินซี และอี รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่มีแคลเซียม
- ควบคุมการบริโภคน้ำตาลทั้งจากเครื่องดื่มและอาหาร รวมทั้งของที่มีรสเปรี้ยวเป็นกรด เพื่อสุขภาพฟันที่ดี
- ถ้ามีปัญหาในช่องปาก เช่น ฟันผุ เสียวฟัน ฟันหักหรือบิ่น เหงือกอักเสบ ควรรีบพบทันตแพทย์ อย่าปล่อยให้เป็นเรื้อรัง
- ในผู้สูงอายุที่ใส่ฟันปลอม ควรหมั่นทำความสะอาดฟันปลอมเสมอ และควรถอดฟันปลอมแช่น้ำก่อนนอนทุกครั้ง เพื่อไม่ให้ฟันปลอมเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค
- พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก
มาช่วยกันดูแลสุขภาพช่องปากให้ดีกันเถอะค่ะ เพราะฟันขาว เหงือกชมพู และช่องปากที่สะอาด ช่วยให้คุณมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงกว่าที่คิดจริง ๆ