ดูแลสุขภาพช่องปากอย่างไรให้สมกับเป็น “คุณแม่ตั้งครรภ์” พ.ศ.นี้

ดูแลสุขภาพช่องปากอย่างไรให้สมกับเป็น “คุณแม่ตั้งครรภ์” พ.ศ.นี้

 

 

          อีกเพียงเดือนเดียวเราก็จะได้ก้าวสู่ปีเสือทอง 2565 เชื่อว่าตอนนี้สาวน้อยสาวใหญ่หลายคนอาจกำลังลูบท้อง เพราะปีหน้าจะได้ต้อนรับเหล่าลูก ๆ เสือน้อยที่ออกมาลืมตาดูโลก  หรือไม่บางคนก็ฟิตร่างกาย เตรียมวางแผนเตรียมมีลูกในปีหน้า  แต่ไม่ว่าคุณกำลังจะเป็นว่าที่คุณแม่ หรือเป็นคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์แล้ว คุณแน่ใจหรือเปล่าว่า เตรียมพร้อมสุขภาพช่องปากสมกับเป็น คุณแม่ตั้งครรภ์ ยุคใหม่แล้วหรือยัง  อยากรู้ว่าสุขภาพฟันสำคัญกับการตั้งครรภ์แค่ไหน  ตามไปค้นหาคำตอบกันค่ะ

  

การเปลี่ยนแปลงในช่องปากขณะตั้งครรภ์ 

          1  การที่คนตั้งครรภ์แพ้ท้อง คลื่นไส้อาเจียน หรือชอบรับประทานของเปรี้ยวจัดนปริมาณมาก ๆ บวกกับเมื่ออาเจียน น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารจะย้อนกลับมาที่ปาก ทำให้ช่องปากมีกรดสะสมในปริมาณมากกว่าปกติ ส่งผลทำให้เคลือบฟันถูกทำลาย เนื้อฟันสึกกร่อนได้ง่าย

 

 

 

  1. การตั้งครรภ์ทำให้ฮอร์โมนในร่างดายมีการเปลี่ยนแปลงสูง  เกิดการขยายตัวของเส้นเลือด เหงือกมีสีแดงกว่าปกติ  เกิดเลือดออกตามไรฟัน และเหงือกอักเสบได้ง่าย  โดยแบคทีเรียที่ทำให้เหงือกอักเสบ หากเข้าสู่กระแสเลือดได้จะทำให้ฮอร์โมน โพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin E2หรือ PGE 2)  เพิ่มขึ้นทำให้มดลูกบีบรัดตัวมากกว่าปกติจนเป็นสาเหตุให้เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดได้

     

 

  1. พฤติกรรมการรับประทานของสตรีตั้งครรภ์จะเปลี่ยนไปจากปกติ เช่น รับประทานหลายมื้อมากขึ้น ระหว่างมื้ออาจมีกินจุบกินจิบ  และเลือกรับประทานอาหารบางอย่างที่มีน้ำตาลสูง  มีความเป็นกรดสูง  ทำให้การทำความสะอาดฟันยากกว่าปกติ  ในช่องปากเกิดการสะสมของแบคทีเรีย และคราบจุลินทรีย์มากกว่าปกติ 

 

 

ปัญหาช่องปากที่มักเกิดขึ้นกับสตรีตั้งครรภ์ คือ 

เหงือกอักเสบ

          เหงือกมีเปราะบาง เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามระดับฮอร์โมนในร่างกายที่ผันผวนผิดปกติ ทำให้เหงือกมีปฏิกิริยาต่อแบคทีเรียมากขึ้น  และอาจมีอาการเลือดออกตามไรฟันได้ง่ายขึ้นด้วย  เป็นอาการโรคเหงือกอักเสบจากการตั้งครรภ์  จะสังเกตได้จากเหงือกเริ่มมีสีแดงผิดปกติ  มีเลือดออกตามไรฟันแม้จะแปรงฟันเบา ๆ รู้สึกเสียวฟันมากกว่าปกติ  มักพบหลังจากตั้งครรภ์ประมาณ 2 เดือนไปแล้ว และบรรเทาลงหลังคลอด

 

 

เหงือกบวม

          ผลจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายอาจทำให้เหงือกบางที่โตเป็นก้อน  โดยมากจะเป็นบริเวณร่องเหงือกใกล้ฟันกราม  เมื่อเกิดขึ้นบริเวณนั้นจะอ่อนไหวมาก เมื่อแปรงฟันไปโดนจะมีเลือดออก  เป็นอาการที่พบได้น้อยในภาวะตั้งครรภ์ แต่ก็เกิดขึ้นได้  บางคนเข้าใจว่าเป็นเนื้องอก และวิตกว่าอาจเป็นเนื้อร้ายอย่างมะเร็ง  ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ใช่  เป็นเพียงอาการเหงือกบวมเนื่องจากการตั้งครรภ์  เพราะฮอร์โมนระบบภูมิคุ้มกันไม่เสถียร  เกิดการติดเชื้อไวรัสในช่องปาก ไม่เจ็บปวดหรือเป็นอันตรายอย่างที่คิด 

 

 

ฟันสึก

          ภาวะฟันสึก เกิดขึ้นได้ง่ายในภาวะตั้งครรภ์  เนื่องจากในช่องปากเกิดการสะสมของกรดมากขึ้นผิดปกติเนื่องจากการแพ้ท้อง ที่มีการอาเจียนบ่อย  ทำให้น้ำย่อยในกระเพาะออกมาที่ช่องปาก  รวมถึงระหว่างแพ้ท้องว่าที่คุณแม่มักชอบรับประทานของเปรี้ยว  เมื่อกรดในช่องปากจำนวนมากทำลายเครือบฟันก็จะทำให้เนื้อฟันสึกกร่อนได้ง่าย และไวมาก  สังเกตได้จากฟันขาวแวววาวที่เคยเป็นกลับกลายเป็นฟันเหลือง ดูแห้งหม่นหมอง ไม่แวววาวชุ่มชื้น และรู้สึกเสียวฟันได้ง่าย  ถ้ามีอาการดังกล่าวควรรีบปรึกษาทันตแพทย์

  

                             

ฟันผุ

          ฟันผุถือเป็นปัญหาในช่องปากที่พบได้มากขณะตั้งครรภ์  เพราะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทำให้องปากอ่อนแอกว่าปกติ และการดูแลทำความสะอาดทำได้ยากขึ้น  แค่แปรงฟันปกติก็อาจทำให้เลือดออกตามไรฟันได้แล้ว บวกกับพฤติกรรมการรับประทานที่เปลี่ยนไป  ชอบรับประทานของเปรี้ยว ของหวาน กินจุบจิบ รวมทั้งการอาเจียนเนื่องจากแพ้ท้อง ทำให้ความเป็นกรดในช่องปากเพิ่มสูง   แบคทีเรียสะสมมากกว่าปกติ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพช่องปากได้ง่าย หรือใครที่มีปัญหาอยู่แล้วก็จะลุกลามเร็วขึ้น  

 

 

วิธีเตรียมตัวเป็นคุณแม่มือใหม่แบบสุขภาพฟันขาวแข็งแรง มีดังนี้ 

  1. กรณีวางแผนเตรียมมีลูก นอกจากตรวจสุขภาพร่างกายแล้ว ควรตรวจสุขภาพช่องปากด้วย ถ้ามีอาการฟันผุ เสียวฟัน คราบหินปูน ฯลฯ ควรรักษาให้เรียบร้อย

 

 

  1. มีวินัยในการแปรงฟันมากขึ้น นอกจากการแปรงฟันปกติวันละ 2 ครั้งแล้ว ควรทำความสะอาดฟันทุกครั้งหลังมื้อ 

 

 

  1. ใช้แปรงสีฟันที่มีเส้นเรียวยาวแต่อ่อนนุ่ม ไม่ทำให้เลือดออกตามไรฟันได้ง่าย และเปลี่ยนแปรงสีฟันทุก 3 เดือน

 

 

  1. เลือกยาสีฟันที่ปลอดภัยกับภาวะตั้งครรภ์ เพื่อให้สามารถทำความสะอาดฟันและเหงือกได้อย่างทั่วถึง แต่ไม่ทำร้ายฟันในภาวะอ่อนไหว เช่น ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ในปริมาณพอเหมาะ ไม่เป็นสูตรที่แรงเกินไป เลือกสูตรอ่อนโยนเพื่อถนอมเหงือกและฟัน และควรงดยาสีฟันที่เป็นสูตรไวท์เทนนิ่งที่ช่วยฟอกสีฟัน  เพราะอาจส่งผลให้ฟันสึกกร่อนได้ง่าย

 

 

  1. หมั่นใช้ไหมขัดฟันช่วยทำความสะอาดฟันทุกวันนอกเหนือจากการแปรงฟัน เพื่อกำจัดเศษอาหาร และลดแบคทีเรียในช่องปากที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าปกติในขณะตั้งครรภ์

 

 

  1. หลังอาเจียนเนื่องจากแพ้ท้องควรทำความสะอาดช่องปากด้วยการบ้วนปากด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำยาบ้วนปากที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดความเป็นกรดในช่องปาก แต่ไม่ควรแปรงฟันทันทีหลังอาเจียน  เพราะเมื่อแปรงฟันจะทำให้กรดเสียดสีกับฟันมากขึ้น ทำให้ฟันสึกได้

 

 

  1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพิ่มอาหารเสริมแคลเซียม แต่หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีความเป็นกรดมากเกินไป เช่น ยำรสเปรี้ยวจัด ผลไม้ และน้ำผลไม้รสเปรี้ยว เป็นต้น  หรือแม้แต่ขนมนมเนยที่มีน้ำตาลปริมาณมาก เมื่อเข้าปากแล้วก็แปรสภาพเป็นกรดได้เช่นกัน 

 

 

  1. ตรวจสุขภาพฟันสม่ำเสมอ เพื่อขอคำแนะนำจากทันตแพทย์ในการดูแลสุขภาพช่องปากระหว่างตั้งครรภ์ และหากมีปัญหาในช่องปากจะได้รักษาแต่เนิ่น ๆ

 

 

  1. หากต้องรับประทานยาอะไรนอกเหนือจากที่แพทย์สั่งควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เช่น มีอาการปวดฟัน หากทนไม่ไหวควรไปพบทันตแพทย์ก่อน เพื่อปรึกษาว่ารับประทานยาใดได้บ้าง  เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยในครรภ์ 

 

 

 

เรื่องควรรู้ เมื่อต้องพบทันตแพทย์ระหว่างการตั้งครรภ์

           หลายคนเข้าใจว่าหากตั้งครรภ์ไม่ควรเข้ารับการรักษาทางทันตกรรม แต่ความจริงแล้วว่าที่คุณแม่สามารถทำฟันได้ แต่เพราะการตั้งครรภ์มีความอ่อนไหว  การพบทันตแพทย์ระหว่างตั้งครรภ์จึงมีเรื่องควรรู้ดังนี้

 

1.เมื่อนัดทันตแพทย์ต้องแจ้งเรื่องการตั้งครรภ์เสมอ  รวมทั้งข้อมูลความเครียด อาการแพ้  และยาที่รับประทานอยู่ เพื่อเป็นข้อมูลให้ทันตแพทย์วินิจฉัย  เพราะบางกรณีทันตแพทย์อาจขอติดต่อโดยตรงกับสูติแพทย์ที่คุณฝากท้องไว้ก่อนรักษา

 

 

  1. ช่วง 3 เดือนแรก เป็นเวลาสำคัญที่ทารกในครรภ์กำลังเจริญเติบโต ทำให้ร่างกายคุณแม่อ่อนไหวเป็นพิเศษ จึงต้องระวังในการใช้ยาบางประเภท และการทำทันตกรรมที่ต้องเกี่ยวข้องรังสี

 

 

  1. อายุครรภ์ 4-6 เดือน เป็นช่วงที่ครรภ์ค่อนข้างมั่นคง เหมาะจะไปพบแพทย์ที่สุด

 

 

 

  1. ช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนคลอด เป็นช่วงที่คุณแม่มีภาวะตึงเครียดและกังวลได้ง่าย การต้องไปรอพบทันตแพทย์ และสภาวะระหว่างทำทันตกรรมอาจส่งผลเสียต่ออารมณ์คุณแม่ และทารกในครรภ์ที่ใกล้คลอดได้ จึงต้องดูแลเป็นพิเศษ

 

 

 

  1. การพบทันตแพทย์ระหว่างตั้งครรภ์ต้องระมัดระวัง เพราะการเอ็กซ์เรย์ การใช้ยาชา  และการรับประทานยาแก้ปวดหรือยาปฏิชีวณะ โดยเฉพาะยากลุ่ม เตตราไซคลีน (Tetracyclines) ที่ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นสิ่งที่คนตั้งครรภ์ที่อยู่ในภาวะเปราะบางต้องระมัดระวังเป็นอย่างพิเศษ

 

 

 

  1. การอุดฟัน ถอนฟัน รักษารากฟัน ในขณะตั้งครรภ์ จะทำได้ก็ต่อเมื่อทันตแพทย์วินิจฉัยว่า จำเป็น ขณะที่การจัดฟัน หากยังไม่เริ่มกระบวนการทันตแพทย์จะแนะนำให้ทำหลังคลอด แต่ถ้าเริ่มจัดฟันตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ก็สามารถทำต่อไปได้ในการควบคุมของทันตแพทย์ 

 

 

 

7.การฟอกสีฟันที่คลินิกก็แนะนำให้ทำหลังคลอด เพราะไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน  ส่วนการใช้เครื่องฟอกสีฟันด้วยตัวเองสามารถทำได้ และปัจจุบันมีเทคโนโลยีปากกาฟอกฟันขาวเพิ่มขึ้นด้วย แต่ต้องตรวจดูว่าเครื่องฟอกฟันขาวที่จะซื้อมาใช้นั้นมีความเข้มข้นของ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide)เท่าไหร่ หากเกิน  6 % ยังไม่ควรใช้  เพราะอาจทำให้เนื้อเยื่อในช่องปากระคายเคืองได้ 

 

 

 

          การตั้งครรภ์เป็นช่วงที่ว่าที่คุณแม่ต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีที่สุด รวมถึงสุขภาพช่องปาก ถือเป็น 9 เดือนที่ยิ่งใหญ่ แต่เพื่อเจ้าตัวเล็กในท้อง การทุ่มเทครั้งนี้ถือว่าคุ้มค่า ขอให้ท่องไว้เสมอว่า สุขภาพฟันว่าที่คุณแม่ดีเท่าไหร่ สุขภาพลูกน้อยในครรภ์ก็ดีตามไปด้วยค่ะ         

 

 

 

 

กลับไปยังบล็อก