ช่วยด้วย เหงือกดำ ปัญหาขำไม่ออกแบบนี้แก้ไขอย่างไรดี ?!

ช่วยด้วย เหงือกดำ ปัญหาขำไม่ออกแบบนี้แก้ไขอย่างไรดี ?!

 

 

            เมื่อพูดถึงการดูแลสุขภาพช่องปาก คนมักมุ่งความใส่ใจไปที่การดูแลฟันขาวสุขภาพดี ปราศจากฟันเหลืองแต่อวัยวะสำคัญอย่าง เหงือก ก็ไม่ควรมองข้าม เพราะมีปัญหาเมื่อไหร่ก่อให้เกิดความเสียหายได้ไม่แพ้ฟัน แถมยังหายได้ยากกว่าอีกด้วย และปัญหาเหงือกที่ชวนปวดหัวอย่างมากก็คือ อาการ เหงือกดำ (Black Gums) ที่แค่เห็นก็น่ากลัวแล้ว แล้วเหงือกดำเกิดจากอะไร เหงือกควรดูแลแบบไหน เรามีคำตอบมาฝากกันค่ะ

 

          เหงือก คือเนื้อเยื่อที่บอบบาง ช่วยห่อหุ้มและยึดฟันกับกระดูกขากรรไกรเอาไว้ เป็นอวัยวะสำคัญที่ต้องใส่ใจ โดยเนื้อเยื่อที่เหงือกมีเซลล์ เมลาโนไซต์ (Melanocytes) ที่คอยผลิตเม็ดสี เมลานิน (Melanin) ไม่ต่างจากผิวหนังบนร่างกาย ทำให้เราเห็นสีผิวแตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคล เหงือกก็เช่นเดียวกัน 

 

 

 

สีของเหงือกบอกอะไรได้บ้าง

           เหงือกสุขภาพดีมีได้ตั้งแต่สีชมพูไปจนถึงสีน้ำตาลเข้ม และดำ เหงือกแต่ละสีนอกจากเป็นผลจากการทำงานของเม็ดสีเมลานินแล้วยังเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย โดยเฉพาะรอยหรือจุดสีบนเหงือกที่ผิดปกติ เช่น เหงือกดำ หรือสีซีดผิดปกติ โดยเราสามารถตรวจสุขภาพเหงือกเบื้องต้นได้ด้วยตาเปล่าว่า สีของเหงือกผิดปกติหรือไม่ โดยสีของเหงือกที่ต้องหมั่นสังเกตมีดังนี้

 

  1. เหงือกสีชมพู

          โดยทั่วไปเหงือกสีชมพูชุ่มชื้น แสดงออกถึงความสุขภาพดี แต่ในคนที่มีกรรมพันธุ์ผิวสีค่อนข้างคล้ำเข้ม สีของเหงือกสุขภาพดีก็อาจเข้มขึ้นไปด้วยตามจำนวนเม็ดสีเมลานิน

 

 

 

  1. เหงือกสีแดง

          การที่เหงือกมีสีค่อนไปทางแดงอาจต้องระวัง ควรสังเกตเหงือกที่อยู่ใกล้กับฟันด้วยว่ามีอาการปวดบวมหรือไม่ เพราะเหงือกสีแดงอาจกำลังฟ้องอาการเหงือกอักเสบ หรือเลือดออกตามไรฟันได้

 

 

 

  1. เหงือกสีขาว

          จู่ ๆ พบว่าเหงือกมีจุดสีขาวเกิดขึ้น แสดงว่าเหงือกอาจอยู่ในภาวะติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัส เชื้อรา ถ้าโดนแล้วเจ็บ เหงือกอาจกำลังเตือนว่า ร่างกายผิดปกติ ภูมิคุ้มกันลดต่ำ ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

 

 

  1. เหงือกสีเหลือง

          หากสังเกตพบว่าเหงือกของคุณซีดผิดปกติ สีอ่อนลงแบบอมสีเหลือง และอาจมีอาการบวมร่วมด้วย เป็นไปได้ว่า เหงือกกำลังเกิดการอักเสบขึ้น  หรือเป็นผลสืบเนื่องจากการเกิดแผลในกระเพาะอาหารก็เป็นได้

 

 

 

  1. เหงือกสีน้ำตาล

          การมีเหงือกสีน้ำตาลในคนที่มีผิวสีเข้มเป็นเรื่องปกติ แต่คนผิวสีอ่อนที่เหงือกปกติสีชมพู  ถ้าเหงือกเกิดสีน้ำตาลขึ้นมาอาจเป็นเพราะได้รับแดดมากเกินไป ถ้าเจ็บหรือบวมด้วยแสดงว่า เกิดการอักเสบเพราะเชื้อโรค

 

 

  1. เหงือกสีเทา

          เหงือกเปลี่ยนสีจากปกติกลายเป็นซีดอมเทา เป็นการบอกว่า ร่างกายกำลังอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันกำลังมีปัญหา อันเนื่องมาจากการติดเชื้อภายในร่างกาย การได้รับสารพิษจากบุหรี่ หรือสภาวะเครียดสะสม  

 

 

  1. เหงือกสีดำ

          เมื่อเหงือกของคุณกลายเป็นสีดำในบางบริเวณ หรือเป็นจุดดำ ๆ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยเหงือกสีดำอาจเป็นได้ทั้งเรื่องไม่อันตราย และสัญญาณเตือนถึงปัญหาสุขภาพบางประการ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นแน่นอนคือ ความมั่นใจ

 

 

สาเหตุของการเกิด “เหงือกดำ” มีดังต่อไปนี้

 

  1. สาเหตุจากปัจจัยภายใน

 1.1 กรรมพันธุ์ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สีเหงือกแต่ละคนไม่เหมือนกัน ผู้มีผิวสีคล้ำเป็นผลจากผิวมีเม็ดสีเมลานินมาก โดยเหงือกก็จะมีสีเข้มเช่นเดียวกัน ขณะที่คนผิวสีอ่อน เหงือกก็จะสีอ่อนโทนชมพู เพราะมีเม็ดสีเมลานินน้อย  

 

 

1.2 ความผิดปกติที่เส้นเลือดแดงในเนื้อเยื่อ ทำให้เกิด เนื้องอกหลอดเลือด ฟังดูน่าตกใจ แต่ถือเป็นปัญหาไม่ร้ายแรง

 

 

1.3 ความผิดปกติของต่อมหมวกไต ที่ถือเป็นต่อมไร้ท่อ มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนให้ร่างกาย เมื่อผิดปกติทำให้เกิด โรคแอดดิสัน ผลิตฮอร์โมนได้น้อยกว่าปกติ ส่งผลให้รู้สึกอ่อนเพลีย หิวน้ำ เบื่ออาหาร  น้ำหนักลด  เม็ดเมลานินในช่องปากและริมฝีปากทำงานมากผิดปกติจนทำให้เหงือกดำ และริมฝีปากคล้ำ

 

 

1.4 โรค Peutz–Jeghers Syndrome เป็นโรคทางพันธุกรรมเกี่ยวกับติ่งเนื้อที่มีโอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งได้ แม้โอกาสจะไม่มากก็ตาม อาการคือ มีกระสีน้ำตาลที่นิ้วมือ นิ้วเท้า และในช่องปาก  มักมีอาการตั้งแต่อายุยังน้อย และสามารถหายได้เองเมื่อโตขึ้น

 

 

1.5 ธาตุเหล็กในร่างกายมากเกินไป ก็ส่งผลให้เหงือกเปลี่ยนสีได้ โดยเมื่อร่างกายมีการสะสมของธาตุเหล็กในอวัยวะ และเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ มากเกินไป โดยเฉพาะที่เหงือก จะทำให้สีเหงือกคล้ำลงได้ แต่ถือเป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นได้ยาก ไม่น่ากังวลนัก

 

 

1.6 เหงือกอักเสบชนิด Acute Necrotizingulcerative Gingivitis (ANUG) หรือ เหงือกอักเสบเนื้อตาย เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแล้วทำให้เนื้อเหงือกตาย มีเลือดออกตามไรฟัน น้ำลายเยอะผิดปกติ  มีกลิ่นปาก มีไข้ ปวดเหงือก สาเหตุจากความเครียด พักผ่อนน้อย ร่างกายอ่อนแอ  เมื่อเนื้อเยื่อใหม่เกิดขึ้นก็มีสีดำ กลายเป็นเหงือกดำ

 

 

 

  1. สาเหตุจากปัจจัยภายนอก

 2.1 สิ่งแปลกปลอมที่เหงือก หรือ รอยสักอมัลกัม (Amalgam tattoo) ที่หลายคนรู้จักกันว่า อมัลกัมคือวัสดุที่ใช้อุดฟัน ครอบฟัน หากอมัลกัมชำรุดแล้วมีเศษหลุดติดอยู่ที่เหงือก จะทำให้เกิดจุดสีเทา น้ำเงิน และจุดเหงือกดำในที่สุด

 

 

 

2.2 ลิ่มเลือด อุดบริเวณระหว่างเหงือกกับฟันจากอุบัติเหตุบางอย่าง เช่น ใช้ไม้จิ้มฟัน หรือไหมขัดฟันพลาดจนทำให้เกิดเลือดออก กลายเป็นจุดลิ่มเลือดเกาะเหงือก ไม่ทำให้เกิดอันตราย แต่ทำให้เสียความมั่นใจได้

 

 

2.3 การสูบบุหรี่ ทำให้ได้รับสารพิษ เช่น ทาร์ นิโคติน  และตะกั่ว ส่งผลให้เม็ดสีเมลานินในเหงือกทำงานผิดปกติ  กลายเป็นเหงือกดำ เหงือกน้ำตาล ความร้อนจากการเผาไหม้ที่ทำให้เกิดควันของบุหรี่ยังส่งผลทำให้เหงือกอักเสบได้ง่ายขึ้นด้วย

 

 

2.4 ผลข้างเคียงของยา บางชนิด เช่น ยาจิตเวช ยาโรคมะเร็ง ยามาลาเรีย ยารักษาสิว หรือยาปฏิชีวนะบางอย่าง ส่งผลต่อการทำงานของเม็ดสีในเนื้อเยื่อเหงือก หากรับประทานยาชนิดไหนติดต่อกันแล้วเห็นว่า เหงือกผิดปกติ สีคล้ำขึ้น มีอาการเหงือกดำ หรือบวมแดง ควรรีบปรึกษาแพทย์

 

 

2.5 มะเร็งช่องปาก เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดเหงือกดำ เราสามารถป้องกันได้ด้วยการไปพบทันตแพทย์สม่ำเสมอตามเวลานัดหมาย เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก คัดกรองมะเร็งช่องปาก  หากมีอะไรผิดผิดปกติกับเหงือกและฟัน ทันตแพทย์จะได้ช่วยวินิจฉัย และทำการรักษาแต่เนิ่น ๆ

 

 

 

การรักษาอาการ “เหงือกดำ”

  1. การผ่าตัด นำเนื้อเยื่อเหงือกดำออก เป็นวิธีรักษาที่ได้ผลดี แต่ไม่สามารถรักษาให้หายถาวรได้เนื่องจากเซลล์ยังสามารสร้างเม็ดสีเมลานินบริเวณที่ผ่าตัดได้อีก

 

 

  1. ความเย็น ( Cryosurgery) เป็นวิธีที่ใช้ไนโตรเจนเหลวส่งเข้าไปในเหงือก เป็นวิธีที่ยาก ต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สามารถควบคุมไนโตรเจนเหลวให้เข้าไปได้ในระดับลึกพอดี เป็นวิธีที่ส่งผลดีระยะยาว เกิดเหงือกดำซ้ำยาก

 

 

 

  1. กรอผิวเหงือก เป็นอีกวิธีที่น่าสนใจ เหมาะกับคนที่มีจุดเหงือกดำเล็กในระดับตื้น เพราะเป็นการใช้หัวกรอฟันช่วยกรอผิวเหงือก ไม่เหมาะกับผู้มีอาการเหงือกดำในระดับลึก เพราะเครื่องกรอลงลึกไม่ได้

 

 

  1. การปลูกถ่ายเหงือก เป็นการรักษาด้วยการผ่าตัดนำเนื้อเยื่อส่วนที่เป็นเหงือกดำออกไป แล้วใช้เนื้อเยื่อจากเหงือกบริเวณอื่นที่สีปกติมาปลูกทดแทน แต่หากเลือกเนื้อเยื่อเหงือกทดแทนไม่ดีพออาจทำให้สีเหงือกไม่กลมกลืนได้

 

 

 

  1. เลเซอร์เหงือก (Laser Gum Depigmentation) หรือ ฟอกสีเหงือก  เป็นวิธีรักษาเหงือกดำที่นิยมที่สุด เป็นการใช้เลเซอร์ทำปฏิกิริยากับเซลล์เมลาโนไซต์ ที่สร้างเม็ดสีเมลานิน โดยเม็ดสีที่ได้รับพลังงานจากเลเซอร์จะถูกทำลาย  ขณะที่เซลล์ชนิดอื่นจะไม่ได้รับผลกระทบจากเลเซอร์ แต่ได้ผลแค่ไหนขึ้นอยู่กับระดับความคล้ำของเหงือกแต่ละคน เป็นวิธีที่ไม่เจ็บ ปลอดภัย ไม่เกิดแผลเป็น     

 

 

การดูแลเหงือกหลังรักษาด้วยเลเซอร์ 

  • หลังทำเลเซอร์รับประทานอาหารได้ปกติ แต่ควรเลี่ยอาหารรสจัด และของร้อนจัดระยะหนึ่ง

 

 

  • กรณีเหงือกดำมาก แพทย์อาจนัดทำเลเซอร์หลายครั้ง เพื่อให้เหงือกสว่างมากขึ้น

 

 

  • คนสูบบุหรี่ หลังทำเลเซอร์เหงือกควรเลิกสูบบุหรี่ เพราะแม้เลเซอร์จะทำลายเม็ดสีเมลานินในเหงือกถาวร แต่การสารพิษในบุหรี่ทำให้เหงือกผลิตเม็ดสีใหม่ ๆ ขึ้นได้

 

 

  • งดใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกอฮอลล์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ เพื่อป้องกันการกระคายเคืองเหงือกบริเวณที่ทำเลเซอร์

 

 

 

ข้อแนะนำการดูแลเหงือกให้ห่างไกล “เหงือกดำ”

  1.  ใช้แปรงสีฟันขนนุ่มไม่ทำร้ายยาสีฟัน และแปรงฟันอย่างถูกวิธี

 

 

 

  1.  ใช้ยาสีฟันที่เหมาะสม เช่น มีฟลูออไรด์ช่วยลดเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก และลดโอกาสเหงือกติดเชื้อ

 

 

 

  1. ใช้ไหมขัดฟันวันละครั้งเพื่อช่วยขจัดเศษอาหารที่อาจทำให้เกิดเหงือกอักเสบ

 

 

     4.พบทันตแพทย์เพื่อขูดหินปูนและตรวจสุขภาพช่องปากทุก 6 เดือน หรือปีละครั้ง  

 

 

          ดูแลฟันขาวให้ห่างไกลฟันเหลืองแล้ว อย่าลืมดูแลเหงือกให้สุขภาพดี ห่างไกล “เหงือกดำ” กันด้วยนะคะทุกคน

 

กลับไปยังบล็อก