กลิ่นปาก เป็นปัญหาสุขอนามัยในช่องปากที่หลายคนต้องพบเจอ จะฟันขาวแค่ไหนก็ทำให้หมดความมั่นใจ ไม่กล้าลิ้มหรือสนทนากับผู้อื่น เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ถ้าแก้ไขไม่ถูกจุดก็ยาก แต่รู้หรือไม่ว่ากลิ่นปากบอกอะไรได้มากกว่าที่คิด เพราะสาเหตุของการเกิดกลิ่นปากเป็นการฟ้องสุขภาพของเราในหลายเรื่อง แล้วกลิ่นปากจะบอกอะไรคุณได้บ้าง ตามมาเช็คกันค่ะ
- ปัญหากลิ่นปากที่มีสาเหตุจากในช่องปาก คือ
- ทำความสะอาดไม่ดี ทำให้ช่องปากมีเศษอาหารตกค้าง เมื่อแบคทีเรียในปากย่อยเศษอาหารจะเกิดสารระเหยประเภท ไฮโดรเจนซัลไฟด์ (Hydrogen Sulfide) และ เม็ททิล เมอร์แคปแทน (Methyl Mercaptan) ที่มีกลิ่นเหม็น
- ฟันผุ ทำให้มีเศษอาหารตกค้างในรอยผุจนทะลุโพรงประสาทฟัน เกิดหนองที่ปลายรากฟัน ทำให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์
- เหงือกอักเสบ ทำให้หินปูนสะสมรอบฟันได้ง่าย แบคทีเรียในช่องปากเติมโตรวดเร็วจนทำให้มีกลิ่นปากได้ง่าย
- มีแผลในช่องปาก จากการถอนฟันแล้วอักเสบ ร้อนในเรื้อรัง เป็นเนื้องอก – ซิฟิลิสในช่องปาก ทำให้กลิ่นปากรุนแรงขึ้น
- ฟันปลอม คนที่ใส่ฟันปลอมแล้วทำความสะอาดไม่สม่ำเสมอ ไม่ถูกวิธี ลืมถอดฟันปลอมแช่น้ำก่อนนอน จะทำให้ฟันปลอมมีกลิ่นเหม็นได้
- เครื่องมือจัดฟัน ในคนที่จัดฟันหากทำความสะอาดไม่ละเอียดพอก็ทำให้เกิดกลิ่นปากได้ง่าย
- ขาดน้ำ เพราะดื่มน้ำน้อยไป เกิดภาวะปากแห้ง น้ำลายน้อย เมื่อมีเศษอาหารตกค้างในช่องปากจึงเกิดกลิ่นเหม็นได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อตื่นนอนใหม่ ๆ
- ลืมทำความสะอาดลิ้น ทำให้แบคทีเรียบนลิ้นสะสมอยู่มากจนเกิดกลิ่นได้ ฉะนั้นควรแปรงลิ้นเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ
- ปัญหากลิ่นปากที่มีสาเหตุจากภายนอกช่องปาก คือ
- ระบบย่อยอาหาร มีแบคทีเรียมากเกินไปในกระเพาะและลำไส้ จนท้องอืด ท้องเฟ้อ ในกระเพาะหมักหมม เวลาเรอมีกลิ่นเหม็นออกมาได้
- ระบบทางเดินหายใจ
- ระบบทางเดินหายใจส่วนบนผิดปกติ เพราะป่วยเป็นภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ทำให้มีน้ำมูกไหลลงคอด้านหลังโพรงจมูก ผสมกับที่มีเศษอาหารติดอยู่ในร่องของต่อมทอนซิล เลยทำให้เกิดกลิ่นเหม็น
- ระบบทางเดินหายใจส่วนล่างผิดปกติ เนื่องจากเป็นโรคปอดเรื้อรัง เช่น ปอดอักเสบ วัณโรค มะเร็งปอด ทำให้มีกลิ่นเหม็นทางลมหายใจ
- ระบบทางเดินอาหาร ผิดปกติ เป็นโรคกรดไหลย้อน ทำให้น้ำย่อยในกระเพาะไหลย้อนขึ้นมาที่ช่องปากแล้วส่งกลิ่นเหม็น
- ระบบขับถ่าย มีปัญหา ท้องผูกบ่อย ของเสียหมักหมมในลำไส้ เมื่อลมดันขึ้นจะมีกลิ่นเหม็นลอยออกมาด้วย
- สูบบุหรี่ ในคนที่ติดบุหรี่มีแนวโน้มจะเกิดกลิ่นปากได้ง่าย
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ไดซัลฟิแรม (Disulfiram) ที่ใช้รักษาพิษสุราเรื้อรัง หรือยารักษาผู้ป่วยทางจิตบางชนิด ทำให้เกิดกลิ่นปากได้
- โรคเบาวหวาน ทำให้ปากมีกลิ่น อะซิโตน (Acetone) ที่คล้ายผลไม้หมัก หรือน้ำยาล้างเล็บ
วิธีทดสอบกลิ่นปากด้วยตัวเองมีวิธีง่าย ๆ ดังนี้
- เอามือปิดปากและจมูกหลวม ๆ ก่อนเป่าลมแรง ๆ ออกจากปากแล้วดม
- เลียที่ข้อมือแล้วดมว่ากลิ่นน้ำลายแรงกว่าปกติหรือไม่
- ใช้นิ้วถูบริเวณเหงือกแล้วดมว่ามีกลิ่นเหม็นผิดปกติหรือเปล่า
- สอบถามความจริงจากคนใกล้ชิด
ปัจจุบันการตรวจสอบกลิ่นปากมีเครื่องมือตรวจวัดอย่างมีมาตรฐานที่เรียกว่า ฮาลิมิเตอร์ (Halimeter) อีกด้วย โดยเครื่องนี้สามารถตรงจสอบความเข้มข้นของระบบทางเดินหายใจที่บ่งบอกถึงปัญหากลิ่นปากได้ค่อนข้างแม่นยำ
การป้องกันและแก้ไขปัญหากลิ่นปากมีวิธี ดังนี้
- ทำความสะอาดช่องปากอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอ
- แปรงลิ้นทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร
- ใช้ไหมขัดฟันเป็นอุปกรณ์เสริมในการขจัดเศษอาหารบริเวณซอกฟันทุกวัน
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ ป้องกันภาวะปากแห้งและน้ำลายน้อย
- ลดอาหารที่มีกลิ่นฉุน รวมทั้งเครื่องดื่มอย่างชา กาแฟ หรือถ้าต้องดื่มโปรดดื่มน้ำตาม แล้วทำความสะอาดฟันเพื่อไม่ให้กลิ่นอาหารและคราบสีเครื่องดื่มติดฟัน
- ลดการสูบบุหรี่ หรือถ้าเลิกสูบได้จะเป็นการแก้ไขกลิ่นปาก และรักษาสุขภาพแบบองค์รวมด้วย
- ถ้ากลิ่นปากมาจากระบบทางเดินอาหารผิดปกติควรรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา แล้วกลิ่นปากจะหายไปเอง
- ถ้าหลังรับประทานอาหาร ถ้าไม่สะดวกแปรงฟัน ให้บ้วนปากหรือเคี้ยวหมากฝรั่ง
- หลังอาหารถ้ากินผลไม้ที่ช่วยขัดฟัน เช่น ฝรั่ง แอปเปิ้ล จะทำให้ไม่มีกลิ่นปากง่าย ๆ
- ใช้น้ำยาบ้วนปากช่วยลดแบคทีเรีย และต้านเชื้อจุลินทรีย์
- ถ้ามีเหตุจำเป็น สเปรย์ดับกลิ่นปากช่วยลดกลิ่นปาก ทำให้ลมหายใจสดชื่นได้ชั่วคราว (ไม่เกิน 1 ชั่วโมง)
เห็นสาเหตุของ “กลิ่นปาก” ที่ฟ้องอาการเจ็บป่วยทางร่างกายแล้วก็ขอให้ทุกคนอย่าลืมใส่ใจตัวเองให้มากขึ้น จะได้มีฟันขาวสะอาด ปราศจากกลิ่นปากอย่างแข็งแรงกันนะทุกคน