อยากบำรุงฟันและเหงือก เลือกอาหารเสริมแบบไหนดี ?

อยากบำรุงฟันและเหงือก เลือกอาหารเสริมแบบไหนดี ?

 

 

            ปัจจุบันมีอาหารเสริมมากมายเป็นตัวช่วยในการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง  ซึ่งการดูแลสุขภาพช่องปากก็เช่นเดียวกัน  นอกจากผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพเหงือก และฟันแล้ว ยังมี “อาหารเสริม”  ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพช่องปากหลายชนิด  เราจึงคัดสรร ชนิดที่สำคัญสุด ๆ มาแนะนำ  แต่ละอย่างคืออะไร สำคัญแค่ไหน  มีอะไรที่เราควรรู้บ้าง ตามมาทางนี้เลยค่ะ

 

 

 

วิตามินเอ (Vitamin A)

            เป็นวิตามินที่ไม่จำเป็นต้องรับประทานทุกวัน  เพราะสามารถสะสมในร่างกายได้  ช่วยให้เยื่อบุผิวในช่องปากสร้างเมือก  ทำให้การไหลเวียนของน้ำลายดีขึ้น  เหงือกและฟันแข็งแรง  เนื้อเยื่อในช่องปากมีสุขภาพดี  ลดโอกาสติดเชื้อ  หากมีแผลหรือเกิดการติดเชื้อในช่องปาก แผลก็สมานไว  หายได้เร็วขึ้น

 

 

            การเสริมวิตามินเอให้ร่างกายควรเริ่มจากรับประทานอาหารประเภท ปลา เครื่องในสัตว์ ไข่แดง ผักหลายสี เช่น แคร์รอต พริกหวาน ฟักทอง มันหวาน และผักใบเขียว เช่น คะน้า ผักโขม เคล  ตำลึง  ฯลฯ รวมถึงไข่ นม เนย แล้วรับประทานวิตามินเอแบบเสริมควบคู่ไปด้วย

 

 

            ข้อควรรู้เกี่ยวกับวิตามินเอ 

  1. การรับประทานวิตามินเอควรขอคำแนะนำจากแพทย์ หรือเภสัชกร หรือจะเลือกรับประทานน้ำมันตับปลาก็ช่วยเสริมวิตามินเอได้เช่นเดียวกัน

 

 

  1. หากรับประทานวิตามินเอมากเกินไปจะทำให้ ปวดศีรษะ  อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน  ท้องเสีย  เกิดผดผื่นบนผิวหนัง  ฯลฯ ในผู้หญิงอาจทำให้ประจำเดือนผิดปกติได้  

 

  1. วิตามินแต่ละชนิดมีลักษณะทางเคมี และปริมาณการออกฤทธิ์ต่างกัน วิตามินทั่วไปมีหน่วยวัดเป็น มิลลิกรัม (มก.) หรือ ไมโครกรัม (มอก.) แต่วิตามินเอ ใช้ International Unit  หรือ ไอยู (U.) ภายหลังองค์การอนามัยโลกได้เปลี่ยนหน่วยวัดเป็น  Retinol Equivalents หรือ อาร์อี (R.E.) เพื่อให้ได้มาตรฐานที่ดีขึ้น  (R.E. เท่ากับ 1 ใน 5 ของ I.U.)

 

  1. แต่ละวันในคนอายุ 23 - 50 ปี ผู้ชายควรได้รับวิตามินเอ  5,000  U. (1,000 R.E.) ส่วนผู้หญิง ผู้หญิงควรได้  4,000  I.U.  (8,000 R.E.)

 

  1. สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานอาหารเสริมประเภทวิตามินเอ เพราะจะส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์

 

  1. การรับประทานยาคุมกำเนิดส่งผลทำให้วิตามินเอที่รับประทานไปดูดซึมน้อยลง ส่วนคนมีโรคประจำตัว  ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานวิตามินเอเสริม

 

 

วิตามินบี (Vitamin B)

          โดยเฉพาะ บี 12 หรือ โคบาลามิน (Cobalamin)  ช่วยลดการอักเสบของลิ้น  ซ่อมแซมเนื้อเยื่อ รักษาแผลเปื่อยที่ลิ้น  ลดการเกิดกลิ่นปาก  ร่างกายเก็บสะสมไว้ได้นานถึง 3 ปี  หากร่างกายขาดวิตามินบี 12 กว่าจะแสดงอาการอาจต้องใช้เวลาถึง 5 ปี เราสามารถเสริมวิตามินบี 12 ให้ร่างกายด้วยอาหารประเภทเนื้อสัตว์  ตับ ปลา ไข่แดง พืชตระกูลถั่ว  ผักใบเขียว เป็นต้น

 

 

     ข้อควรรู้เกี่ยวกับ วิตามินบี 12   

  1. ปริมาณการรับประทานวิตามินบี 12 ขึ้นอยู่กับอายุ ผู้ใหญ่ทั่วไปควรรับวิตามินบี 2.4  ไมโครกรัม / วัน  ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก และฟัน ป้องกันโรคกระดูกพรุนได้

 

 

  1. สตรีมีครรภ์ควรรับประทานประมาณวันละ 0.2 ไมโครกรัม / วัน ขณะที่สตรีกำลังให้นมบุตรควรได้รับเพิ่มเป็น 0.4 ไมโครกรัม / วัน

 

  1. คนที่เป็นมังสวิรัติ หรือไม่ชอบทานนมและไข่  มีความเสี่ยงจะขาดวิตามินหลายตัว รวมถึงวิตามินบี 12 จึงเป็นกลุ่มที่ควรรับประทานวิตามินเสริม

 

       

                                           

  1. วิตามินบี 12 หากรับประทานร่วมกับ กรดโฟลิก (Folic Acid) ซึ่งเป็นวิตามินบีอีกชนิดหนึ่งจะได้ผลดียิ่งขึ้น แต่วิธีที่ดีที่สุดคือรับประทานในรูปแบบวิตามินบีรวม

 

 

 

วิตามินซี (Vitamin C)

          สำคัญต่อสุขภาพช่องปาก  ช่วยป้องกันเลือดออกตามไรฟัน  ทำให้เนื้อเยื่อในช่องปากแข็งแรง  ลดปัญหาการเกิดแผลร้อนใน และเหงือกอักเสบ  แต่ร่างกายสร้างขึ้นเองไม่ได้ ต้องได้รับจากอาหารประเภท ผักผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว  เช่น ส้ม มะนาว สัปปะรด เสาวรส ฝรั่ง ฯลฯ 

 

 

         โดยทั่วไปอาหารเสริมประเภทวิตามินซีจะมี 4 ชนิด คือ แบบแคปซูล  ที่มีราคาสูง แต่รับประทานง่าย   แบบเม็ด  มักมีขนาดใหญ่ รับประทานยาก ต้องดื่มน้ำตามเยอะ แบบเคี้ยว  มีลักษณะคล้ายเจลลี่ เหมาะกับเด็ก ๆ  และ แบบเม็ดฟู่  ใช้ลายในน้ำเปล่าแล้วดื่มได้เลย

 

 

    ข้อควรรู้เกี่ยวกับวิตามินซี

 

  1. เราควรได้รับวิตามินซี 1,000 มิลลิกรัม / วัน แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้รับวิตามินซีจากอาหารอย่างพอเพียง วิตามินซีจึงเป็นอาหารเสริมสำคัญที่คนจำนวนมากขาดไม่ได้  

 

 

 

  1. อาหารเสริมประเภทวิตามินซีจะระบุไว้ที่ฉลากว่า แอสคอบิก แอซิด (Ascorbic acid) เพราะเป็นการสังเคราะห์สารเคมีให้มีลักษณะคล้ายวิตามินซี

 

  1. นอกจากกรดแอสคอบิกแล้ว วิตามินซียังอยู่ในรูป  เกลือของกรดแอสคอร์บิก (mineral ascobate) ประเภทต่าง ๆ ที่มีความเป็นกรดน้อยกว่า และระคายเคืองกระเพาะอาหารน้อยกว่า โดยจะระบุชื่อในฉลาก เช่น โซเดียม แอสคอร์เบท (sodium ascorbate) แคลเซียม แอสคอร์เบท (calcium ascorbate)  เป็นต้น

 

  1. วิตามินซีควรบรรจุในขวดสีชา หรือขวดสีทึบเพื่อไม่ให้แสงแดดหรือความร้อนส่งผลทำให้วิตามินมีประสิทธิภาพลดลง

 

 

  1. ควรรับประทานวิตามินซีหลังอาหารมื้อเช้า เพื่อไม่ให้กรดในวิตามินซีระคายกระเพาะ และการรับประทานช่วงเช้าทำให้น้ำที่เราดื่มระหว่างวันช่วยขับวิตามินออกมา จะได้ไม่สะสมในกระเพาะปัสสาวะจนเกิดผลเสีย

 

  1. ผู้มีโรคประจำตัว หรือรับประทานแคลเซียมเสริมเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานวิตามินซีเสริม  เพราะอาจได้รับผลข้างเคียงได้

 

 

วิตามินดี (Vitamin D)

          เป็นวิตามินที่ร่างกายได้จากการสังเคราะห์แสงแดดยามเช้าก่อน 9 โมง ถ้าเราได้รับแสงแดดช่วงเช้า  15 นาที / วัน   3 วัน / สัปดาห์  ก็จะได้วิตามินดีเพียงพอต่อร่างกาย  วิตามินดีมีช่วยทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส  ถ้าได้รับไม่เพียงพอจะทำให้กระดูกฟันเปราะบาง  เกิดฟันผุ และโรคกระดูกพรุน ได้

 

 

          นอกจากสังเคราะห์จากแสงแดดแล้วในอาหาร เช่น นม ไข่แดง ตับ ปลาทะเล และน้ำมันตับปลา ก็มีวิตามินดีเช่นกัน แต่ด้วยภาระในการใช้ชีวิตทำให้ใครหลายคนไม่อาจรับวิตามินดีได้พอเพียง  วิตามินเสริมจึงเป็นตัวช่วยสำคัญ 

 

 

    ข้อควรรู้เกี่ยวกับวิตามินดี

  1. ผู้ใหญ่ที่สุขภาพปกติสามารถรับประทานวิตามินดีได้ไม่เกิน 15 ไมโครกรัม (600 I.U.) / วัน

 

  1. ผู้มีโรคประจำตัว เช่น หัวใจ เบาหวาน ความดัน ฯลฯ รวมทั้งผู้มีประวัติแพ้ยา  ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานวิตามินดี เพราะยารักษาโรคเมื่อรับประทานคู่กับวิตามินดีอาจทำให้เกิดผลเสียได้

 

  1. สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตรรับประทานวิตามินดีเสริมได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อความมั่นใจ

 

 

  1. หากรับประทานวิตามินดีแล้วผิวหนังเป็นผื่น  ง่วงนอนตอนกลางวันผิดปกติ  เวียนศีรษะ ปวดท้อง ฯลฯ ควรหยุดรับประทานแล้วไปพบแพทย์  เพราะคุณอาจได้รับผลข้างเคียงจากวิตามินดี

 

ฟลูออไรด์ (Fluoride)

          นอกจากฟลูออไรด์ในยาสีฟันที่ช่วยดูแลฟันแล้ว  ฟลูออไรด์เม็ดก็ถือเป็นอาหารเสริมประเภทหนึ่งที่ช่วยรักษาสุขภาพฟันได้  ผู้ที่จำเป็นต้องรับประทานฟลูออไรด์เสริมส่วนใหญ่เป็นเด็กที่เสี่ยงต่อฟันผุ  ซึ่งทันตแพทย์จะวินิจฉัยว่า ใครควรได้ฟลูออไรด์เสริม และควรได้รับปริมาณเท่าไหร่  

 

 

          โดยฟลูออไรด์เม็ดมี 2 ประเภท คือ แบบอม  ที่ควรอมให้ละลายช้า ๆ เพื่อให้ฟลูออไรด์เคลือบปกป้องฟันอย่างทั่วถึง กับ แบบเคี้ยว  ที่ควรเคี้ยวให้ละเอียด แล้วใช้ลิ้นกวาดให้กระจายไปทั่วช่องปาก  จะช่วยให้ฟันและเหงือกแข็งแรงขึ้น

 

 

    ข้อควรรู้เกี่ยวกับฟลูออไรด์

  1. หลังรับประทานฟลูออไรด์ ควรงดดื่มน้ำ งดรับประทานอาหาร  และงดบ้วนปากครึ่งชั่วโมง  เพื่อให้ฟลูออไรด์ในช่องปากทำหน้าที่เคลือบและปกป้องฟันได้อย่างเต็มที่ 

 

  1. การรับประทานฟลูออไรด์เป็นเพียงตัวช่วย แต่การดูแลสุขภาพช่องปากอย่างถูกวิธีสม่ำเสมอ  เลือกรับประทานอาหารเสริมสุขภาพฟัน  รวมทั้งไม่ทำพฤติกรรมทำร้ายฟัน  ยังสำคัญที่สุด  

 

 

  1. ระวังอย่าให้เด็กรับประทานฟลูออไรด์มากเกินไป เพราะอาจได้รับผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้  อาเจียน ท้องเสีย หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ทันที

              

แคลเซียม (Calcium)

 

 

         แคลเซียมเป็นส่วนสำคัญในการสร้างกระดูกและฟัน  ช่วยดูแลเนื้อเยื่อที่เชื่อมต่อกระดูก  และการทำงานของระบบต่าง ๆ  หากขาดแคลเซียม กระดูกและฟันจะเปราะบาง  เคลือบฟันสึกกร่อน  ฟันและเหงือกอ่อนแอ่ เราสามารถเสริมแคลเซียมให้ร่างกายด้วยการรับประทานผลิตภัณฑ์นม ปลาซาร์ดีน  แซลมอน  นมถั่วเหลือง อัลมอนด์  ผักใบเขียว ฯลฯ  แต่ถ้าเป็นผู้ที่แพ้น้ำตาลแลคโตส  หรือมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน  ควรรับประทานแคลเซียมเสริม   1,000 มิลลิกรัม / วัน  และควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจรับประทาน

 

 

โคเอนไซม์ คิว10 (Coenzyme Q10)

          โคเอนไซม์ คิว 10 คือสารต้านอนุมูลอิสระที่ร่างกายสร้างขึ้นได้เองตามธรรมชาติ  ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดเลือดออกตามไรฟัน  รักษาโรคเหงือก  ถ้าปวดฟันก็หายไวขึ้น  และลดปัญหากลิ่นปากได้ แต่อายุที่เพิ่มขึ้น  ภาวะความเครียด  และการรับประทานอาหารไม่มีประโยชน์  จะทำให้โคเอนไซม์ คิว 10 ลดลง

 

 

          เราสามารถเสริมโคเอนไซม์ คิว 10 ได้จากอาหารประเภท เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์  ปลาทะเลน้ำลึก  ผลิตภัณฑ์นม น้ำมันคาโนลา น้ำมันถั่วเหลือง  และน้ำมันปลา ส่วนการรับประทานโคเอนไซม์ คิว 10 เสริมเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง  โดยคนทั่วไปควรได้รับโคเอนไซม์ คิว 10 ไม่เกิน 30 มิลลิกรัม / วัน  และเก็บรักษาโคเอนไซม์ คิว 10 ไว้ในที่ไม่โดนแสง  ในอุณหภูมิปกติ หรือเย็น

 

 

          สิ่งสำคัญในการรับประทานอาหารเสริม คือ เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน ตรวจสอบได้  ฉลากบอกส่วนประกอบครบ  มีวันผลิต วันหมดอายุ  และแหล่งผลิตชัดเจน แล้วอย่าลืมว่า อาหารเสริมจะมีประโยชน์ที่สุดก็ต่อเมื่อเรารับประทานอาหารหลักที่ดีควบคู่กันไปนั่นเอง

 

   

 

กลับไปยังบล็อก